มุกดา สุวรรณชาติ : ล็อกดาวน์ ยืด… GDP หด… คนจะตาย เสียหายเดือนละ 5 แสนล้าน

มุกดา สุวรรณชาติ

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงการตกต่ำของเศรษฐกิจ ที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ Gross Domestic Product (GDP) ซึ่งหมายถึงมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่ว่าผลผลิตนั้นใครเป็นคนผลิต การวัดด้วยวิธีรายได้ (Income Approach) น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด

เช่น GDP ของไทยปี 2562 ประมาณ 16.8 ล้านล้าน มาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน มันสมอง ฝีปาก น้ำตา และก็ปรากฏเป็นตัวเลขของค่าจ้างและเงินเดือนของลูกจ้าง + รายได้เจ้าของธุรกิจส่วนตัว + กำไรของบริษัท + ดอกเบี้ย + ค่าเช่า +ภาษีธุรกิจทางอ้อม + รายได้ของคนพม่า กัมพูชา ลาว ฝรั่ง ที่มาทำงานในประเทศ …แต่ที่ไม่มีตัวเลขปรากฏไม่รู้เท่าไร

ถ้าเศรษฐกิจไม่แย่มาก GDP ก็จะโตขึ้น 2-5% บางประเทศอาจถึง 10% แต่ปีนี้ตกทั้งโลก คาดกันว่าไทยจะติดลบ 6-9% ถือว่าอาการหนักมาก แต่ประเทศไม่ตาย ถ้าเป็นคนอาจตายได้ ใครล่ะที่จะตาย?

ถ้าไม่เปิดให้ทำมาหากิน ความจนจะฆ่าคนชั้นล่าง และทำร้ายคนชั้นกลาง มากกว่าเชื้อโรคระบาด

ความตายจาก Covid-19 มีน้อยมาก วันนี้ไทยมีคน 70 ล้าน ตาย 57… พม่ามีคน 54 ล้าน ตาย 6 เวียดนามมีคน 97 ล้าน ไม่มีคนตายเลย เช่นเดียวกับลาวและกัมพูชา ถ้าวัดกันตรงนี้ เราอาจสู้ Covid-19 ไม่เก่งที่สุดในโลก หรือภูมิภาค

แต่สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับปลอดภัย

 

ผลกระทบ GDP หดตัว
และการตั้งรับในสายตาเจ้าสัว

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า รัฐบาลควรปลดล็อกเมืองเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เพราะตั้งแต่ไทยใช้นโยบายล็อกดาวน์ ได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากยังปิดล็อกต่อไป จะยิ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะเยียวยาให้ฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน

เครือเจริญโภคภัณฑ์พบว่า ฝรั่งเศส จีดีพีหดตัว 32% เสียหายวันละ 14,800 ล้านบาท สหราชอาณาจักร จีดีพีหดตัว 35% เสียหายวันละ 16,185 ล้านบาท มาเลเซีย จีดีพีหดตัว 58% เสียหายวันละ 26,925 ล้านบาท ของประเทศไทยนั้น เสียหายวันละ 16,460 ล้านบาท หรือ 35.6% ของจีดีพีต่อวัน

“ค่าเสียหายต่อวัน แทนที่เราจะรอให้เสียหาย เอาเงินที่จะเสียหายไปเสริมจุดแข็งประเทศ เพื่อความพร้อมยามฟ้าสว่าง ลงทุนด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน”

“ผมมองต่างจากคนอื่น ผมเห็นว่าวันที่น่ากลัวที่สุดได้ผ่านไปแล้ว นั่นก็คือวันที่รัฐบาลประกาศปิดเมือง ปิดกรุงเทพฯ คนทะลักกลับต่างจังหวัด ตรงนี้ถือว่าอันตราย แต่ผ่านไป 2 อาทิตย์ กลับไม่มีปัญหา ทำให้ผมมั่นใจว่า ถ้าเราจะเปิดเมือง ก็จะไม่เป็นแบบเกาหลีและญี่ปุ่นแน่นอน”

ผลกระทบ GDP หดตัวต่อกลุ่ม SME

 

ตัวอย่างปิยะนันท์ เจ้าของกิจการ

และสมชาย หัวหน้าคนงาน

ปิยะนันท์ “คราวนี้หนักที่สุดในชีวิต ไม่รู้จะรอดหรือไม่”

เขาเป็นนักธุรกิจระดับ SME ได้เปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลาให้ฟังว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง

เริ่มเติบโตมาจากยุคนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผ่านการรัฐประหาร 2534 ของ รสช.

หลัง 2535 ระบบการเมืองไม่มีปัญหาอะไร นายกฯ ชวน หลีกภัย ที่มารับไม้ต่อจากการลาออกของนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ธุรกิจส่วนใหญ่มาประสบปัญหา จากการลดค่าเงินบาทในปี 2540 เขาฝ่ามาได้ ใช้เวลาหลายปีค่อยๆ ประคองธุรกิจให้กลับคืนมา

พอมาถึงยุคนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐกิจก็ค่อยๆ ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ธุรกิจค่อยกลับมาฟื้นตัวในปี 2545 นับว่าใช้เวลาถึง 5 ปี

ปี 2547-2549 ธุรกิจเดินไปได้ดีมาก ตั้งแต่ทำธุรกิจมา 20 ปี นี่เป็นปีที่ดีที่สุด ตั้งแต่ต้นปี ขายได้เดือนละ 10 กว่าล้าน และรายได้ที่สูงที่สุด คือในไตรมาส 2 เดือนกรกฎาคม-กันยายน ปี 2549 แต่เหมือนฟ้าถล่ม มีการรัฐประหาร จากนั้นยอดขายก็ตกลงมาเรื่อยๆ จากเดือนละ 14 ล้าน เหลือ 5-8 ล้านตามสภาพเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผันแปรไป พอประคองตัวอยู่ได้ท่ามกลางการต่อสู้ของเสื้อเหลือง เสื้อแดง

มาโดนซ้ำก็ตอนยึดสนามบิน ปี 2553 ก็มีการฆ่ากันกลางเมือง จนถึงปี 2556 เมื่อมีม็อบ กปปส. ยอดขายตกลงชัดเจนในปี 2557 ถึง 30% และก็ตกลงอีก 3 ปีติดต่อกัน 2558-2560 ยอดขายเหลือ 2-3 ล้าน และก็นิ่งอยู่อย่างนั้น คือไม่ต่ำลงไปอีกแต่ก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ต้องดิ้นรนปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารต่างๆ ขายทรัพย์สินที่ดิน เพื่อประคองบริษัทไว้

เขาคิดว่านี่คงเป็นจุดต่ำสุดและคงจะมีโอกาสฟื้นตัวหลังการเลือกตั้งมีนาคม 2562 เวลาที่ผ่านไปดูเหมือนไม่มีอะไรจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกคือการระบาดของไวรัส Covid-19

ความรู้สึกของคนทำธุรกิจต่อสถานการณ์ขณะนี้ เหมือนกลอนนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ที่เคยท่องตอนเด็กๆ …ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา

เขาสรุปว่าตั้งแต่ 2549 ดูเหมือนรัฐจะไม่ช่วยอะไรเลย นอกจากเก็บภาษี ทั้งภาษีนำเข้า… VAT สรรพสามิต… ภาษีรายได้ ความรู้ความสามารถของกลุ่มผู้มีอำนาจและผู้นำในสังคม ไม่เหมาะสมจะมาบริหารประเทศ

การรัฐประหาร 2 ครั้ง กลายเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าของสังคมอย่างสำคัญ แม้โลกพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบบการเงิน ระบบการพาณิชย์ แต่ประเทศของเราพัฒนาไม่ทันการแข่งขันในเกือบทุกด้าน ปีนี้เจ้าของ SME จำนวนมากถึงขั้นปิดกิจการ

สมชาย หัวหน้าคนงาน ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม จากคนงานเป็นร้อย เหลือ 20 คน เดินเข้ามาถาม “แบงก์ว่าไงครับ”

“แบงก์ยังไม่ยอมปล่อย ตามนโยบายรัฐบาล สงสัยเราจะตายกันก่อน”

“ผู้จัดการสู้ต่อนะ ถ้าปิดบริษัทไป พวกผมตายแน่”

“พวกคุณอาจต้องสลับกันมาทำงาน ลดเงินลง ถ้าไม่มีเงินแบงก์มา คงอยู่ได้อีกสองเดือน”

ปิยะนันท์และสมชายไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

 

เมื่อล็อกดาวน์ กระทบกลุ่มเปราะบาง

ตาหมายกับเมียอาศัยกระท่อมเล็กๆ ในสวนของเพื่อนเก่าเป็นที่ซุกหัวนอน 2 ปีก่อนลูกสาวหอบลูกสองคนมาฝากไว้หลังเลิกกับผัว แล้วไปทำงานที่กรุงเทพฯ พอส่งเงินมาให้ลูกบ้างเดือนละพันห้าร้อยบาท

ตาหมายมีจักรยานเก่าๆ หนึ่งคัน ทุกวันนี้แกมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น ดายหญ้า ลับมีด หาหน่อไม้ หาเห็ด

ส่วนเมียก็มีอาชีพเก็บผักริมทาง ผักบุ้ง สองผัวเมียนำผลิตภัณฑ์มวลรวมในครอบครัว ปั่นจักรยานไปวางขายตลาดนัดในสามชุมชน สัปดาห์ละสามวัน ทั้งผักบุ้ง กระถิน ตำลึง หน่อไม้ เห็ด ฯลฯ ถ้าขายได้วันละร้อยกว่าบาทถือว่ามากแล้ว พอได้อาศัยซื้อกับข้าวรายวัน

ตาหมายอายุ 62 ได้เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ส่วนเมียอายุ 57 ยังไม่ได้รับ แต่มีบัตรสวัสดิการรัฐคนละ 300 บาททั้งสองคน ยังดีที่เวลาป่วยไข้ไปโรงพยาบาลไม่ต้องเสียเงิน ใช้สิทธิ 30 บาทได้

สวนที่ตาหมายอยู่ ยังโยงสายไฟเข้ามาใช้ได้ แต่ไม่มีน้ำประปาเหมือนคนอีกครึ่งหมู่บ้านก็ไม่มีเช่นกัน

แกมีแกลลอนห้าลิตรอยู่ 4 ใบมัดท้ายรถไปตักจากบ่อน้ำห่างจากบ้านเกือบ 2 กิโลเมตรมาไว้กิน

ส่วนน้ำใช้น้ำอาบอาศัยท้องร่องที่ยังพอเหลือไม่มากนัก

ตาหมายรู้เรื่องโรคระบาดโควิดว่าระบาดในประเทศจีน อีกเดือนกว่า ผู้ใหญ่ก็ประกาศเสียงตามสายปิดตลาดนัดกะทันหัน

ลำพังแค่ปิดสองสามนัดก็ยังพอทน แต่นับวันยิ่งสิ้นหวัง รัฐบาลสั่งปิดกิจการเกือบทั้งหมด คนตกงานทั่วประเทศ

คอยลูกสาวก็ไม่เห็นส่งเงิน ตัวก็ไม่กลับมา มีแต่ลูกบ้านนั้นบ้านนี้ทยอยกลับบ้านกัน เพราะไม่มีงานทำ พอเดือนมีนาคมรถทัวร์ก็หยุดวิ่ง ถึงลูกอยากกลับก็กลับไม่ได้แล้ว

ส่วนที่มีข่าวว่าทางการจะแจกเงินคนละห้าพัน แกไม่มีมือถือไม่ว่าจะรุ่นไหนทั้งนั้นจึงไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือใดๆ จากรัฐเลย ได้แต่ไปลงชื่อไว้กับผู้ใหญ่บ้าน สองเดือนครึ่งแล้วตลาดนัดยังไม่เปิด ขณะที่ต้องเลี้ยงปากท้องสี่คนในครอบครัว

ตาหมายไม่รู้หรอกว่าหลานต้องเรียนออนไลน์แบบไหน รู้แต่ว่าถึงเวลาเปิดเทอม ถ้าไปโรงเรียนหลานจะได้กินข้าวมื้อกลางวันอิ่มหนำ แต่ปีนี้เด็กๆ ต้องอยู่บ้านถึงสิ้นเดือนมิถุนายน แกสงสารหลานที่สุด คนเล็กเรียนอนุบาล อ้อนอยากกินข้าว แต่การที่เด็กไม่ได้กินข้าวที่โรงเรียนทำให้ข้าวหมดก่อนกำหนด ถึงจะอดออมอย่างไรก็หมดจนได้

วันนี้ยังมีบะหมี่เหลืออยู่ 1 ซอง เลยเอามาต้มหั่นผักบุ้งใส่ไปค่อนหม้อ พอให้หลานกินแทนข้าวประทังชีวิตไป

“หนูอยากไปโรงเรียน” หลานน้อยวัยอนุบาลตักต้มผักบุ้งที่มีเส้นมาม่าปนเล็กน้อย

“คิดถึงเพื่อนรึลูก” ตาหมายถาม

“ไม่คิดถึง แต่อยากกินข้าว ที่โรงเรียนมีข้าวอร่อย”

แกหันไปทางหลานคนโต “ฝนตกมาหลายครั้งแล้ว พรุ่งนี้เช้าไปหาหน่อไม้กัน เขาให้ลองเปิดตลาดนัดได้แล้วตอนบ่าย จะได้เอาผักไปขายด้วย คงพอซื้อข้าวซื้ออะไรมากินได้บ้าง” แกตั้งความหวังให้คนในครอบครัว แต่ลึกๆ แล้วก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกินกัน

 

เปิดให้ทำมาหากิน
ก็ไม่ต้องไปกู้เงินอีกหลายแสนล้าน

ตัวเลข GDP หดที่เจ้าสัวบอก คือตัวเลขระดับประเทศ เป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่มันก็เหมือนคนนั่งเครื่องบิน แล้วมองลงมาจากที่สูง เห็นภาพกว้างของขุนเขา สีเขียวของป่าไม้ เป็นท้องทะเล เห็นปุยเมฆ แต่ไม่อาจเห็นการดำเนินชีวิต การดิ้นรนให้มีชีวิตรอดของผู้คนที่อยู่ข้างล่างได้

GDP หดของปิยะนันท์และสมชาย คือผลิตภัณฑ์มวลรวมของบริษัท หมายถึงการอยู่รอดของบริษัท ครอบครัวเขา ครอบครัวเขา ครอบครัวคนงานทั้งหมด ถ้าล้มลงไปครั้งนี้คงจะลุกไม่ขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่ว แต่พวกเขายังจะทนอยู่ได้นานอีกกี่เดือน

GDP หดของตาหมาย คือการอยู่รอดของ 4 ชีวิต การที่แกไม่ได้ไปขายของที่ตลาดนัดอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เดือนละ 12 ครั้ง ทำให้ขาดรายได้ประมาณเดือนละ 1,500 บาท (น้อยมากเมื่อเทียบกับ 5 แสนล้าน) นั่นเป็นการกระทบกับ GDP ของครอบครัว เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่เจ้าสัวประมาณการไว้ แสดงว่าคนจนจำนวนหลายล้านที่โดนกระทบอย่างหนัก การเปิดให้ทำมาค้าขาย ให้เด็กไปโรงเรียน คือทางรอดทางเดียว ครอบครัวของกลุ่มเปราะบางทนได้แค่วันสองวันเท่านั้น

ถ้าเสียงของคนจนยังไม่ดังพอ ก็ขอให้ฟังเจ้าสัวผู้มีประสบการณ์

“การปิดและปล่อยให้ล้มละลายไปเลย เวลาฟื้นจะไม่ง่าย เหมือนสร้างบ้าน การระเบิดตึก 10 ชั้นวินาทีเดียวพังหมด แต่เวลาสร้างใหม่ 10 ชั้น ต้องใช้เวลาเป็นปี นี่จึงเป็นเหตุให้อเมริกาต้องรีบเปิดแม้จะมีปัญหา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก็รีบเปิดเหมือนกัน เพราะถ้าปิดไปนานๆ เศรษฐกิจจะพัง”

เราต้องสู้กับโรคนี้ไปอีกนาน เหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่จะต้องมีครั้งที่ 2…3…4 ถ้าต้องซ่อนตัวอยู่ในบ้านครั้งละ 3-4 เดือน ภายใต้ล็อกดาวน์ ภาวะฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ก็อดตายกันหมด… ใส่หน้ากาก ล้างมือ ออกมาสู้กับมันได้แล้ว

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่