ต่างประเทศ : เหตุฆาตกรรม “จอร์จ ฟลอยด์” วัฒนธรรมเหยียดผิวที่ยังฝังรากลึก

การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 46 ปี ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาสิทธิของคนผิวสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกา

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะส่งผลสะเทือนมากกว่าทุกครั้ง การประท้วงที่ลุกลามกลายเป็นการจลาจลในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ เหตุการณ์นี้ทำให้ประเด็นเหยียดผิว สิทธิพิเศษของคนขาว

รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อคนผิวสี ถูกพูดถึงไปเป็นวงกว้างทั่วโลก

 

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา จอร์จ ฟลอยด์ อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ตกงานเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เดินไปซื้อบุหรี่ที่ร้าน “คัพฟู้ด” ใกล้กับแยกถนนหมายเลข 38 ตัดกับถนนชิคาโกอเวนิว ในเมืองมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา

พนักงานของร้านโทร.แจ้งตำรวจหลังจากต้องสงสัยว่าธนบัตร 20 ดอลลาร์ที่ฟลอยด์ใช้เป็นของปลอม โดยพนักงานระบุกับ 911 ว่า ฟลอยด์ปฏิเสธที่จะคืนบุหรี่ให้และมีอาการเมาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาถึงและเข้าควบคุมตัวฟลอยด์ โดยผู้เห็นเหตุการณ์ถ่ายคลิปวิดีโอเอาไว้ได้

คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายจับกุมฟลอยด์ และ “เดเร็ก ชอวิน” เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 ใน 4 นาย ใช้เข่ากดไปที่ท้ายทอยของฟลอยด์ ที่ถูกจับนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น ขณะที่ตำรวจอีก 3 คนเดินไปมารอบๆ ฟลอยด์ ที่ไม่มีอาวุธใดๆ พยายามตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ผมหายใจไม่ออก” รวมถึง “ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรด”

ชอวินใช้เข่ากดคอของฟลอยด์เอาไว้นานเกือบ 9 นาที แม้ฟลอยด์จะหมดสติไร้การตอบสนอง ชอวินยังคงใช้เข่ากดคอของฟลอยด์เอาไว้จนกระทั่งรถพยาบาลมาถึง ซึ่งล่าสุดผลการชันสูตรพบว่าฟลอยด์เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในที่เกิดเหตุ

26 พฤษภาคม คลิปเหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์เป็นไวรัล เกิดเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์เป็นวงกว้าง เสียงเรียกร้องตรงไปยังจาค็อบ เฟรย์ นายกเทศมนตรีเมืองมินนีแอโปลิส

 

ด้านสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ หรือเอฟบีไอ รวมถึงกองปราบรัฐมินนิโซตาได้เข้ามาสืบสวนคดีนี้ และในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายในที่เกิดเหตุก็ถูกไล่ออก

นายกเทศมนตรีเมืองมินนีแอโปลิส แถลงในวันที่ 26 พฤษภาคม ออกมาร่วมแสดงจุดยืนเคียงข้างฟลอยด์ โดยระบุว่า “นี่คือการเรียกร้องสิทธิ การเป็นคนผิวสีในอเมริกาไม่ควรต้องโทษประหาร”

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันที่เมืองมินนีแอโปลิสและเริ่มตะโกนคำว่า “ไอแคนต์บรีธ” หรือ “ผมหายใจไม่ออก” คำร้องขอสุดท้ายของฟลอยด์ ก่อนเสียชีวิต

27 พฤษภาคม นายกเทศมนตรีเฟรย์เรียกร้องให้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุพร้อมกับระบุว่า “ผมต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์” ขณะที่การประท้วงเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น

28 พฤษภาคม กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มไม่พอใจกับการสืบสวนคดีที่ไม่คืบหน้า ผู้ประท้วงที่โกรธแค้นรวมตัวประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจเขต 3 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายเคยทำงานอยู่ ก่อนจะลุกลามกลายเป็นการจลาจลบุกเผาสถานีตำรวจจนเสียหายอย่างหนัก

การประท้วงลุกลามไปในหลายเมืองทั่วประเทศ ทั้งนิวยอร์ก เดนเวอร์ ฟีนิกส์ โคลัมบัส รวมถึงโอไฮโอ ผนวกรวมกับเหตุตำรวจสังหารคนผิวสีคล้ายคลึงกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ถูกเปิดเผยขึ้นมาอีกเหตุการณ์ ส่งผลให้การประท้วงลุกลามยิ่งขึ้น

สำนักข่าวเอ็นบีซีรายงานด้วยว่า ชอวินเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุเคยถูกร้องเรียนเรื่องการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2001 และโทษสูงสุดที่ชอวินได้รับเป็นเพียงการตักเตือนด้วยวาจาเท่านั้น

 

29 พฤษภาคม โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทวีตข้อความเติมเชื้อไฟโดยโจมตีกลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นพวกอันธพาล พร้อมกับขู่ว่าพร้อมจะใช้กำลังทหารติดอาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์และพร้อมยิงผู้ก่อจลาจลปล้นสะดมทรัพย์สินทันที

ทวีตดังกล่าวถูกทวิตเตอร์ขึ้นข้อความเตือนการละเมิดกฎในเรื่องการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขณะที่คนดังหลายคนต่างออกมาโพสต์ข้อความประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ดาราดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ รวมถึงนักกีฬาอย่างโคลิน แคปเปอร์นิก

ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ทางการตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไม่เจตนากับนายชอวิน ขณะที่นายกเทศมนตรีเฟรย์ประกาศเคอร์ฟิวในเมืองมินนีแอโปลิส เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 20.00 น. โดยขยายเวลาไปจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ หลังจากการประท้วงลุกลามกลายเป็นการจลาจลในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม นอกจากนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุประท้วงแล้ว

30 พฤษภาคม นายกเทศมนตรีทวีตข้อความระบุว่า เวลานี้การประท้วงอย่างสันติได้ลุกลามกลายเป็นการจลาจลปล้นทรัพย์ เป็นการก่อการร้ายในประเทศ

“เวลานี้เรากำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มพวกคลั่งผิวขาว กลุ่มแก๊งอาชญากรรม ผู้ปลุกปั่นจากภายนอก และแม้แต่ผู้ก่อการต่างชาติที่ต้องการทำลายเสถียรภาพของเมืองและภูมิภาคนี้” เฟรย์ระบุ

วันเดียวกันเกิดเหตุจลาจลบุกทำลายและปล้นห้างสรรพสินค้าในรัฐโอเรกอน โดยเฉพาะมีการบุกปล้นกวาดสินค้าในร้านหลุยส์ วิตตอง ไปจนเกลี้ยง กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก

วันที่ 31 พฤษภาคม แบรนด์กีฬาดังอย่างไนกี้และอาดิดาสร่วมออกแคมเปญ แสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดผิว เลือกปฏิบัติ ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

1 มิถุนายน การประท้วงการเลือกปฏิบัติกับคนผิวสีเริ่มลุกลามไปในหลายประเทศ มีการรวมตัวประท้วงในประเทศแคนาดา อังกฤษ รวมถึงเยอรมนี ที่ผู้ประท้วง รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมกับตะโกนคำขวัญต่อต้านการเหยียดผิวอย่าง “แบล็กไลฟ์แมตเทอร์” รวมถึง “ไอแคนต์บรีธ”

มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีก้า เยอรมนี ที่มีนักเตะคุกเข่าแสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดผิว รวมไปถึงมีนักเตะสกรีนเสื้อด้านในชุดแข่งเป็นคำว่า “ความยุติธรรมเพื่อจอร์จ ฟลอยด์”

เช่นเดียวกับสโมสรลิเวอร์พูลในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ที่นักเตะต่างคุกเข่าที่วงกลมกลางสนามระหว่างการฝึกซ้อมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

สถานการณ์การประท้วงยังคงไม่ชัดเจนว่าจะลุกลามไปแค่ไหน และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันเพียงใด แต่สิ่งที่ชัดเจนในเวลานี้ก็คือ สหรัฐอเมริกา ชาติที่เชิดชูเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมแห่งนี้ ยังคงมีปัญหาเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติกับคนผิวสี ที่ยังคงฝังรากลึกในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่