นงนุช สิงหเดชะ : “ทรัมป์” ลิ้มรสความพ่ายแพ้แบบรัวๆ ที่คุยโม้ไว้ (อาจ)ทำไม่ได้สักอย่าง

An activists holds a mask of US President Donald Trump during the "March for Health" demanding equitable and affordable access to quality healthcare, on April 01, 2017, in New York. / AFP PHOTO / KENA BETANCUR

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับชาวอเมริกันและชาวโลกในแง่ที่ 1.ไม่เคยหยุดป่วนโลกแม้แต่วันเดียว 2.ไม่เคยแม้แต่วันเดียวที่จะไม่ถูกชาวโลกหรือคนอเมริกันเองประณาม 3.ไม่เคยแม้แต่วันเดียวที่จะหยุดสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเกลียดชัง

สิ่งที่ชาวโลกลุ้นกันมากในแต่ละวันก็คือ ทรัมป์จะไปได้ไกลแค่ไหน ไปได้สักกี่น้ำ ทำไมบางคนที่มีประสบการณ์มากพอจึงทำนายว่า เขาจะอยู่ไม่ครบเทอม หรืออเมริกาอาจต้องเลือกตั้งใหม่เร็วกว่าที่คาด

ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเพราะเขาพูดในสิ่งที่ชาวอเมริกันอยากได้ยิน ฟังแล้วถูกใจสะใจ (จะแบนคนมุสลิม จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า จะสร้างรั้วกั้นเม็กซิโก)

แต่คนมักไม่คิดให้จบว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะธรรมชาติของคนส่วนใหญ่นั้นมักขาดความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุผล

นี่คือจุดอ่อนที่นักการเมืองมองเห็นและมักฉวยมาใช้ในการหาเสียง

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

จุดเด่นประการสำคัญที่ทรัมป์โอ้อวดแล้วสามารถโน้มน้าวชาวอเมริกันก็คือ อ้างว่าตัวเขาเองนั้นรวยมาก ดังนั้น เขาจึงไม่ต้องเอาใจใครหรือฟังใครเมื่อได้เป็นผู้นำประเทศ สามารถตัดสินใจได้เอง เป็นตัวของตัวเอง

และที่เขาย้ำก็คือไม่แคร์สื่อ ขณะเดียวกัน การที่ทรัมป์ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ก็ชวนให้คนอเมริกันคิดเอาเองว่าทรัมป์จะบริหารประเทศได้ดีในแง่เศรษฐกิจ

แต่ของจริงก็พิสูจน์ว่าการเป็นคนรวยหรือประสบความสำเร็จทางธุรกิจไม่สามารถการันตีความราบรื่นในการบริหารประเทศอย่างที่ทรัมป์ต้องการเพราะการเมืองมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง มีหลายฝ่ายถ่วงดุล มีขั้นตอนและประเพณีปฏิบัติของมันเอง ต่อให้รวยแค่ไหนก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

เห็นได้จากวันแรกที่เข้าทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งก็มีคนนับล้านออกมาประท้วงทั่วประเทศไม่ยอมรับ

หลังจากนั้น เมื่อเข้าทำงานเพียง 2-3 วันและโชว์เพาเวอร์ด้วยการเซ็นคำสั่งประธานาธิบดี (คำสั่งของฝ่ายบริหารเพราะทรัมป์คิดว่าตัวเองมีอำนาจ) ห้ามคนจาก 7 ชาติมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกา

ทรัมป์ก็พ่ายแพ้หัวคะมำยกแรกไปเมื่อศาลมีคำสั่งให้ระงับคำสั่งของทรัมป์

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือหักล้างคำสั่งของทรัมป์จนใช้การไม่ได้ ต่อมาฝ่ายทรัมป์ได้อุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีความเห็นยืนตามศาลชั้นต้น

ตอนแรกทรัมป์ขึงขังจะอุทธรณ์อีกครั้งไปถึงชั้นศาลฎีกา แต่ในที่สุดก็ถอดใจเพราะมองเห็นแล้วว่ายังไงก็แพ้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งผู้บริหารชุดใหม่กีดกันผู้อยพยเข้าสหรัฐ / AFP PHOTO

นั่นเป็นบทเรียนใหญ่บทแรกที่ทรัมป์ได้รู้ซึ้งถึงข้อจำกัดแห่งอำนาจของตัวเองว่าไม่ง่ายเหมือนการใช้อำนาจซีอีโอของบริษัทที่ทรัมป์บริหาร และอาจทำให้เขาลดความมั่นใจที่เคยคุยโม้ไว้ว่ามีทักษะในการเจรจาต่อรองในฐานะที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน

ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นก็ดูว่าใหญ่แล้ว แต่ความพ่ายแพ้ที่ถือว่าอาจตัดสินโชคชะตาระยะยาวของทรัมป์และสร้างความขายหน้าให้เขาค่อนข้างมากก็คือเขาไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพที่เรียกว่า “อเมริกันเฮลธ์แคร์” ที่จะนำมาทดแทน “โอบามาแคร์” ของรัฐบาลโอบามา อันเป็นหนึ่งในสัญญาที่ทรัมป์หาเสียงไว้

วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้พยายามเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม เพราะได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ เนื่องจากกลุ่มอิสระภายในพรรครีพับลิกันของทรัมป์เองคัดค้าน ทำให้ซีกของทรัมป์ต้องพยายามเกลี้ยกล่อมอย่างหนัก

แต่ผลยังออกมาเหมือนเดิมคือยังขาดเสียงสนับสนุนจากรีพับลิกันอยู่จำนวนหนึ่ง (ส่วนเดโมแครตไม่ต้องห่วง เพราะทรัมป์ไม่ได้แม้แต่เสียงเดียวอยู่แล้ว)

ทำให้ในที่สุดวันที่ 24 มีนาคม ฝ่ายทรัมป์ต้องถอนร่างกฎหมายนี้ เพราะรู้ดีว่าถึงเสนอเข้าไปก็ถูกคว่ำอยู่ดี

จึงไม่แปลกที่สื่ออเมริกันและทั่วโลกจะพากันพาดหัวข่าวว่าอเมริกันเฮลธ์แคร์ของทรัมป์ “ตายแล้ว” บางคนก็บอกว่า R.I.P. คือนอนสงบในหลุมฝังศพเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ทรัมป์จะออกมาอ้อมแอ้มว่าเขาจะรอเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงเสนอเข้าไปใหม่

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความพ่ายแพ้ในสภานี้ เกิดขึ้นทั้งที่พรรครีพับลิกันของทรัมป์ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ดังนั้น เท่ากับสะท้อนว่ามีสมาชิกพรรคไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายอย่างของทรัมป์ และรอยร้าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคให้ลงชิงประธานาธิบดีแล้ว

เหตุผลของ ส.ส.รีพับลิกันกลุ่มที่คัดค้านกฎหมายปฏิรูปสุขภาพของทรัมป์ก็เพราะเห็นว่าเงื่อนไขของอเมริกันเฮลธ์แคร์ไม่ดีกว่าโอบามาแคร์ และเสี่ยงจะทำให้คนอเมริกันหลายล้านคนหลุดจากการได้รับการประกันสุขภาพไปเลยโดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย

ส.ส.รีพับลิกันกลุ่มนี้ไม่สนคำขู่ของทรัมป์ที่ว่า หากไม่ยอมร่วมมือผ่านร่างกฎหมายระวังจะเสียที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า พวกเขายังคงเดินหน้าจุดยืนเดิม

และย้ำว่าพวกเขาทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

วอชิงตันโพสต์รายงานว่า หลังถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาแล้ว ทรัมป์ลงทุนโทรศัพท์ไปหานักข่าวสายการเมืองของวอชิงตันโพสต์ชื่อ โรเบิร์ต (บ๊อบ) คอสต้า ด้วยตัวเอง

ตอนแรกบ๊อบไม่รับสายเพราะเบอร์ที่โชว์ขึ้นมาถูกจัดอยู่ในหมวด “เบอร์ที่ถูกบล็อก” เขาจึงคิดว่าคงเป็นเพียงสายของคนอ่านที่ต้องการร้องเรียนหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าว

แต่ในที่สุดเมื่อบ๊อบรับสายจึงรู้ว่านั่นเป็นทรัมป์โทร.มาจากห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว

Health care activists chant slogans infront of the Trump International hotel during a protest on March 23, 2017 in Washington, DC. / AFP PHOTO / MANDEL NGAN

ทรัมป์เริ่มต้นด้วยประโยค “เฮลโหล บ๊อบ เราถอนร่างกฎหมายแล้ว เราขาดเสียง (จากรีพับลิกัน) นิดหน่อย ส่วนเดโมแครตเราไม่ได้สักเสียงเลย”

บ๊อบบอกว่าน้ำเสียงของทรัมป์ค่อนข้างจะราบเรียบ และก่อนที่เขาจะได้ถามคำถามอะไร ทรัมป์ก็อธิบายยาวเหยียด แต่สุดท้ายก็ไม่วายโทษเดโมแครต แถมยังยืนยันว่าคนที่พ่ายแพ้คือเดโมแครตต่างหาก เพราะต่อไปโอบามาแคร์จะเกิดปัญหาแน่ มันจะระเบิดแน่

ความพ่ายแพ้ในสภาของทรัมป์ถูกมองว่าน่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับทรัมป์ในการผลักดันนโยบายอื่นๆ อีกหลายอย่างของเขา ไม่ว่าจะเป็นการค้า การปฏิรูปภาษี แผนลดภาษี หรือแม้กระทั่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์