เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : งานโรงพิมพ์คือพื้นฐาน

ผมเรียนรู้เรื่องโรงพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อได้เข้าทำงานที่โรงพิมพ์พิฆเณศ ปี 2515 ขณะที่ก่อนหน้านี้ เคยเดินเข้าเดินออกทำหนังสือในหลายโรงพิมพ์ ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนชั้นมัธยมปลาย คือเตรียมอุดมปีที่ 1 ซึ่งเปลี่ยนแปลงภายหลังเป็นมัธยมศึกษา 4 หรือ ม.ศ. 4 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ จากการที่คุณครูแช่มช้อย ปิ่นสุวรรณ แนะนำให้เอาหนังสือโรงเรียนไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ซึ่งเป็นโรงเรียนเรียงพิมพ์ ย่านสี่แยกบ้านแขก ถนนอิสรภาพ ก่อนถึงวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

เมื่อก่อน โรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับการเรียงพิมพ์และการพิมพ์ที่มีการเรียงพิมพ์เป็นหลัก ดูเหมือนมีอยู่ 2 แห่ง คือโรงเรียนการพิมพ์ที่ว่า กับโรงพิมพ์คุรุสภา ถนนพระอาทิตย์ จำชื่อที่ถูกต้องไม่ได้ทั้งสองแห่ง ขออภัย

การเรียนรู้เรื่องโรงพิมพ์ประการแรกคือ “สั่งตัวพิมพ์” ที่มีขนาดธรรมดา หรือ 19.5 ปอยต์ เป็นพื้นซึ่งไม่ต้องมีการสั่ง และมีตัวดำหนา เรียกว่าตัวฝรั่งเศสกรณีที่ต้องการเน้นคำหรือข้อความ โดยใช้อักษรย่อแทนตรงขีดเส้นใต้หรือตรงย่อหน้าแล้วเขียนว่า “ฝส.” เป็นอันรู้กันว่าใช้ตัวหนา เช่นเดียวกันตัวเอน ซึ่งมีสองขนาดที่นิยม คือ เอนเล็ก กับเอนใหญ่ ใช้อักษรย่อว่า อล. กับ อญ.

ตัวเรียงพิมพ์มีหลายขนาด ตั้งแต่ตัวจิ๋ว ขนาด 4-6 ปอยต์ ตัวขนาดกลาง ถึงตัวโป้งใหญ่ 72 ปอยต์ ที่ใช้พาดหัวหนังสือพิมพ์ หรือเรียกว่าตัวไม้

เมื่อครั้งเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2544 ผมทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ชุดฝึกอบรมทางไกลเรื่อง การบรรณาธิกรหนังสือเล่มสำหรับสำนักพิมพ์ มีเรื่องการกำหนดขนาดตัวหนังสือและตัวอย่างขนาดตัวหนังสือไว้ด้วย

 

ขั้นตอนทำหนังสือที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือการพิสูจน์อักษร หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ตรวจปรู๊ฟ” ผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ในหนังสือพิมพ์เมื่อก่อน ส่วนใหญ่มักจะใช้ “ทิด” หรือพระที่ได้เปรียญเป็นมหา แล้วสึกออกมาสมัครงานในโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์ ด้วยเป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาไทย บาลี สันสกฤต และช่ำชองการเปิดพจนานุกรม

ต่อมานิยมผู้ที่ชอบและเก่งภาษาไทย ในที่สุด หนังสือพิมพ์บางแห่งใช้ผู้สำเร็จปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ หรือผู้ที่เรียนวิชาเอกภาษาไทยมาร่วมงานตรวจปรู๊ฟ

การจัดหน้าหนังสือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ชอบทำหนังสือต้องเรียนรู้ เพราะการจัดหน้าหนังสือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือต้องรู้เรื่องของภาษาและศิลปะควบคู่กัน จะรู้แต่เรื่องของภาษาอย่างเดียว หรือเรื่องของศิลปะอย่างเดียวไม่ได้

เพราะหากรู้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้หน้าหนังสือไม่สวย หรือภาษาไม่ถูกต้อง มีผิดพลาดบกพร่องเป็นประจำ เช่น พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อก่อน หรือแม้ทุกวันนี้

 

ผู้ที่มักมาช่วยงานคนทำหนังสือเช่นผมซึ่งยังเป็นนักเรียน คือเจ้าของโรงพิมพ์และช่างเรียง เช่น เรื่องการจัดหน้า และการแก้คำผิด แม้แต่การกะจำนวนหน้าไม่เป็นไปตามกำหนดยก รวมถึงกำหนดเวลาการออกหนังสือเล่มนั้น เช่น ความล่าช้าของการตรวจปรู๊ฟ การจัดหน้าไม่ลงตัว เป็นต้น

หลังจากเข้าออกโรงพิมพ์เมื่อครั้งจัดทำหนังสือรุ่น ต่อมา จึงมีโอกาสส่งต้นฉบับให้น้าสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ทำให้มีโอกาสอ่านต้นฉบับก่อนถึงมือบรรณาธิการ

ก่อนทำนิตยสารช่อฟ้า เราสามคน “สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน และผม-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์” จัดพิมพ์หนังสือรวมบทกวีของทั้งสองคนที่เขียนคนละครึ่งเล่ม ในรูปแบบ “นิราศ” ต่อมาเป็นหนังสือรวมกลอนชื่อ กลอนลูกทุ่ง แล้วมาจบเล่มที่สาม คือ เห่ลูกทุ่ง ทั้งสามเล่มพิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน แถวถนนตีทอง ใกล้โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง

โรงพิมพ์ไทยแบบเรียนได้ชื่อว่าจัดพิมพ์หนังสือประณีต สวยงาม อาจเป็นเพราะนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรมักใช้โรงพิมพ์แห่งนี้จัดพิมพ์หนังสือของมหาวิทยาลัย เช่น หนังสือรับน้องใหม่ เป็นต้น

กระทั่งมีโอกาสทำนิตยสารช่อฟ้า ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่มี กิตติวุฑฺโฒภิกขุ เป็นผู้ริเริ่ม มี สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการ ซึ่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกไว้ในหนังสือเส้น ทาง…คนหนังสือพิมพ์ ว่า …(ระหว่างเรียนที่คณะโบราณคดี) เรืองชัยมาบอกว่า น้าสำราญ (สำราญ ทรัพย์นิรันดร์) ให้ไปช่วยทำนิตยสารช่อฟ้ารายเดือน ของวัดมหาธาตุฯ โดยกิตติวุฒโฑ

“ตอนนั้นตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้ทำหนังสือจริงๆ กันทั้ง 3 คน สุจิตต์ ขรรค์ชัย และผม โดยชวนพี่เสถียร (เสถียร จันทิมาธร) กับนักหนังสือพิมพ์รุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายคนมาเขียนด้วย

 

เล่มแรก “ช่อฟ้า” จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ ย่านประตูผี สำราญราษฎร์ ประตูโรงพิมพ์ติดกับถนนบำรุงเมือง ไม่มีฟุตปาธให้เดิน ในโรงพิมพ์ไม่มีที่ให้ทำงาน เช่น ตรวจปรู๊ฟ ต้องส่งต้นฉบับแล้วนัดส่งกลับจะเป็นที่มูลนิธิ หรือไปรับเองแล้วแต่ว่าอย่างไหนสะดวก

ที่โรงพิมพ์แห่งนี้ และที่แห่งแรก พิมพ์ด้วยระบบ “ฉับแกระ” คือช่างพิมพ์ป้อนกระดาษเข้าเครื่องพิมพ์ ส่งกระดาษไปออกอีกด้าน มีซี่เหล็กกระดกส่งกระดาษที่พิมพ์แล้วไปซ้อนอีกด้าน เรียกว่าแท่นฉับแกระตามเสียง ส่วนปกซึ่งพิมพ์สีสี่ จำได้ว่าปกเล่มแรกของนิตยสารช่อฟ้าเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ หลังจากโปรดพระพุทธมารดา เพราะ “ช่อฟ้า” ออกเล่มแรกเดือนตุลาคม เป็นเดือนออกพรรษาพอดี

ปกที่พิมพ์เล่มแรก เนื่องจากโรงพิมพ์แห่งนี้ไม่มีแท่น หรือเครื่องพิมพ์ที่หากจะพิมพ์ทีละสี ต้องล้างแท่นกันยกใหญ่ จึงใช้เครื่องพิมพ์ที่เรียกว่า “แท่นโยก” ขนาดไม่ใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้จัดพิมพ์นามบัตร การ์ดเชิญ หรือโปสเตอร์ (น่าจะเป็นเช่นนั้น) มาใช้พิมพ์ปกสี่สี ทีละสี โดยใช้กระดาษบางรองทีละปก (อธิบายไม่ถูก)

ต่อมาเล่มที่สอง ขณะนั้นย้ายมาพิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ ตรงข้ามหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ถนนเฟื่องนคร ที่มีเครื่องพิมพ์หลายเครื่อง เป็นเครื่องพิมพ์ใช้ลมดูดกระดาษเรียกว่าเครื่องลม แทนใช้มือป้อนกระดาษเข้าเครื่องไปที่หน้าเรียงพิมพ์แล้วส่งไปอีกข้างหนึ่งจนหมดกระดาษ

เครื่องนี้ จัดพิมพ์ปกสีสี่ได้สะดวก รวดเร็ว ประการสำคัญ คือมีช่างเรียง ช่างพิมพ์ที่ชำนาญการ และมีฝีมือในการผสมสี

ต้นฉบับเล่มแรกๆ มีเรื่องของอภิธรรมเป็นหลัก เมื่อสุจิตต์เข้ามาร่วมจัดการ จึงมีต้นฉบับด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เช่น จากศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี และต้นฉบับด้านนี้อีกหลายท่าน รวมทั้งต้นฉบับจาก น. ณ ปากน้ำ ขรรค์ชัย เป็นผู้จัดหาต้นฉบับด้านวรรณกรรม เช่น เรื่องสั้น และเขียนคอลัมน์ ส่วนผมกับ ประเสริฐ สว่างเกษม พิสูจน์อักษร และดูแลด้านการพิมพ์

สุดท้าย เมื่อผมต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ ประเสริฐจึงรับเหมาดูแลงานด้านการพิมพ์เป็นหลัก