วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ‘สมาธิ’ คือสื่อสารมวลชนในอนาคต

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

‘สมาธิ’ คือสื่อสารมวลชนในอนาคต

การสื่อสารมวลชนมิใช่เป็นเพียงการนำ “สาร” ผ่าน “สื่อ” จาก “ผู้ส่งสาร” ไป “ยังผู้รับสาร” เท่านั้น

เพราะ “สาร” มิได้เป็นเพียง “เนื้อหาสาระ” ให้ “ผู้รับสาร” รับรู้ว่าคืออะไรเท่านั้น แต่ยังมี “สาระ” ซ่อนเร้นใน “เนื้อหา” เพื่อให้ “เข้าใจ” นอกเหนือจาก “เนื้อหา” ที่เป็น “ลายลักษณ์” เป็น “เสียง” เป็น “ภาพ” เท่านั้น ยังเป็น “สัญลักษณ์” ที่มีความหมายนอกเหนือจากนั้นอีกมากเท่าที่ผู้ “ส่งสาร” ผ่าน “สื่อ” ไปถึง “ผู้รับสื่อ” จะต้องการให้รับรู้รับทราบ

ไม่อย่างนั้นจะมี “ความ” อะไรต่อมิอะไรใน “สาร” นั้นให้ “ผู้รับสาร” ได้มีความเข้าใจต่อกันระหว่างผู้รับสารกับผู้ส่งสารมากไปกว่าสารนั้นที่ปรากฏนั้นหรือ

“สื่อ” เป็นเพียงเครื่องมือที่ให้ “สาร” ผ่านไปถึง “ผู้รับสาร” จะเป็นเพียงบุคคลคนเดียว หรือกลุ่มบุคคล หรือ “มวลชน” ขึ้นกับวัตถุประสงค์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร

เราไม่ทราบว่า “ภาพคน สัตว์” หรือ “ร่องรอย” ที่ปรากฏบนผนังซึ่งมีมานาน อาจเพิ่งได้รับการค้นพบก่อนหน้านี้ หรือไม่นานมานี้ เป็น “การสื่อสารเฉพาะ” หมู่เหล่า หรือเป็น “การสื่อสารมวลชน” ให้มนุษย์ในอีกหลายยุคต่อมาได้รับรู้ถึงอดีตกาลที่ผ่านมาว่ามีความหมายมากน้อยเพียงใด

เป็นเรื่องที่นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักก่อนประวัติศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ ต่างค้นคว้าหาความหมายเพื่อบอกกล่าวให้คนรุ่นหลัง ให้คนรุ่นเราได้รับรู้รับทราบ ไปถึงคนรุ่นต่อจากนี้ไปอีกไม่รู้กี่รุ่น

 

การ “สื่อสาร” ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ล้วนเป็นเครื่องมือให้มนุษย์รุ่นต่อรุ่นได้ “สื่อสาร” ถึงกันมากระทั่งเกิดเครื่องพิมพ์ เกิดการพิมพ์หนังสือด้วยกระดาษ และด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ถึงทุกวันนี้ และต่อไปภายภาคหน้า ที่เป็นคลื่นเสียง เป็นคลื่นแสง เป็นคลื่นไฟฟ้า และคลื่นอะไรต่อมิอะไรที่มีอยู่แล้ว แต่มนุษย์ยังค้นไม่พบ

ขณะที่ปรากฏเป็น “สื่อ” มาตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้น และมนุษย์รุ่นต่อมาถึงวันนี้ ค้นพบเรื่อยมา เรียนรู้ถึงความหมายและนำมาใช้เป็นประโยชน์ในวันนี้ สร้างสิ่งรองรับสิ่งที่ค้นพบเหล่านั้น โดยเฉพาะ “คลื่น” ตั้งแต่คลื่นเสียง คลื่นแสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

เพราะ “คลื่น” เหล่านั้น ทำให้มนุษย์แต่ละชาติแต่ละภาษาต่างแปลสัญญาณนั้นออกไปเป็น “ภาษา” ทำให้มนุษย์แต่ละชาติ แต่ละภาษาต่างรับรู้ซึ่งกันและกันได้รู้เรื่อง ทั้งที่เกิดจากอากัปกิริยา เกิดจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดจากสัญลักษณ์ที่ต่างแปลความออกมาเป็นภาษาที่มีความหมายเดียวกัน โดยยังคงภาษาเดิมของตัวเองอยู่ไม่เปลี่ยนแปร

ทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน กระทั่งเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นมิตรซึ่งกันและกัน และที่สุด เป็นศัตรูกัน

หรือถึงว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ทั้งสัตว์ที่มนุษย์นำมาเลี้ยง และสัตว์ป่า

ในความเป็นมนุษย์ ต่างคิดค้นเรียนรู้เครื่องมือ นอกจากสื่อภาษาถึงกัน ยังคิดค้น “สื่อ” ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงกันในระยะไกล ทั้งในระบบสาย และระบบไร้สาย ด้วยเสียง ภาพ และภาพพร้อมเสียง

ทั้งที่รับรู้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว กลุ่มบุคคล และมวลชน

ยิ่งเมื่อมนุษย์คิดประดิษฐ์กระดาษ คิดประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ทำให้เกิดการเผยแพร่เรื่องราวนั้น จากคัมภีร์ทางศาสนาชุดเดียว เป็นนับพันนับหมื่น นับแสนชิ้น นับล้านเล่มออกไปสู่มนุษย์ทั้งโลก ในทุกภาษา

สร้างตำราเรียนขึ้นให้มนุษย์ทั้งโลกได้เรียนรู้ ได้รับรู้เท่าเทียมกัน

สร้างความรับรู้ด้วยสัญญาณจากการเห็น ตั้งแต่ควันไฟ สัญญาณมือ และเสียง ทั้งสร้างเครื่องมือรับฟังจากเสียง คือวิทยุ รับรู้จากการอ่าน คือหนังสือพิมพ์ สร้างการดูด้วยภาพและฟังเสียง คือโทรทัศน์

 

เมื่อการแพร่กระจายของเครื่องมือ “สื่อ” เหล่านั้นออกไปเป็นระบบอุตสาหกรรม ระบบสื่อสารมวลชนจึงเกิดขึ้น จึงเกิดการเรียนวิชาสื่อสารมวลชน ให้มนุษย์ได้ติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกันขึ้น

การสื่อสารมวลชนไม่เพียงเป็นการติดต่อสื่อสารรับรู้ถึงกันเฉพาะ “สาร” เท่านั้น ยังรับรู้ที่มากไปกว่าสาร คือการรับรู้ความคิดเห็นของมนุษย์ด้วยกัน จากต่างชาติต่างภาษา ต่างอยู่คนละมุมโลก ได้รับรู้เรื่องราวซึ่งกันและกัน ทำให้การติดต่อสื่อสารถึงกันเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเดินทางไปมาหาสู่กันดังแต่ก่อน

ยิ่งเมื่อการคมนาคมจากยานพาหนะพัฒนาปรับปรุงขึ้นจากรถยนต์ เป็นเรือ เป็นเครื่องบิน พัฒนาความเร็วเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงทำให้การไปมาหาสู่ถึงกันใช้เวลาน้อยลง

วันนี้ รับรู้กันว่า ด้วยอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ทำให้การไปมาหาสู่กันด้วยเสียงและภาพจากทุกมุมโลกเสมือนอยู่ต่อหน้าต่อตากัน แทบว่าสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกันได้ขนาดนั้น

ดังนั้น การสื่อสารมวลชนด้วยสื่อเก่า ไม่ว่าวิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะ “หนังสือพิมพ์” จึงสูญสลายไปจากกระดาษกลายเป็นระบบติดต่อสื่อสารด้วย “โทรศัพท์” เพียงเครื่องเดียว หรือ “สื่อใหม่” ที่มนุษย์เพิ่งเกิดมาไม่มีทางรู้จักอีกต่อไป

แต่ “การสื่อสาร” ยังคงตัวตนกับมนุษย์ต่อไป แม้อนาคตไม่นาน ในต่างภาษาจะเป็นภาษาเดียวกัน ด้วยการแปลจากเครื่องโทรศัพท์เดียวที่ใช้ติดต่อกันนี่แหละ

 

มนุษย์คิดค้นเรื่องการแปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งได้มานานพอควรแล้ว หากแต่เป็นการแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเพียงภาษาเดียว ไม่ใช่แปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกหลายภาษาดังจะปรากฏในไม่ช้า

เพราะ “การสื่อสารมวลชน” ทำให้ประชากรโลกได้เรียนรู้เรื่องเดียวกันในที่สุด คือ “พุทธศาสนา”

วันนี้ พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง หากแต่มีการเรียนรู้ของประชาคมโลกขยายมากขึ้น ทำให้เราทราบว่า หลายชาติในยุโรปซึ่งอยู่กับคริสต์ศาสนามานานนับถึงวันนี้กว่า 2 พันปี ขณะที่พุทธศาสนาเท่าที่ปรากฏ ณ วันนี้ คือ 2,563 ปี

มีวลีหนึ่งในบทสวดมนต์ว่า “อกาลิโก” หมายความอย่างง่ายว่า “ไม่มีกาลเวลา” คือ พุทธศาสนาไม่มีกาลเวลา จะนำมาใช้เมื่อใดก็ได้ อย่างนั้น

พุทธศาสนาจึงคือการสื่อสารมวลชนที่มวลชนทั่วโลกจะรับรู้เรียนรู้ได้ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลานั้น เครื่องมือที่สำคัญในการติดต่อสื่อสารต่อกันคือการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนา ที่มีวิชาสำคัญคือการทำ “สมาธิ”

ยิ่งทำสมาธิมากเท่าไหร่ ยิ่งเรียนรู้ “พุทธศาสนา” รู้เรื่องมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อนั้น การติดต่อสื่อสารถึงกันด้วยภาษาเดียวกันจะเกิดขึ้นด้วยเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า “ญาณ”

เป็น “สาร” ที่จะ “สื่อ” ถึงกันโดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นใด นอกจาก “สมาธิ”

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่