รียูเนียน 4 ขุนพล “ทรท.” เปิดตัวกลุ่ม C-A-R-E New Normal การเมือง แยกเดิน “กลุ่มจาตุรนต์”?

เป็นการขยับครั้งสำคัญน่าจับตา

เมื่อ 4 ขุนพลพรรคไทยรักไทยในอดีต กลับมาผนึกร่วมวางแนวทางตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นใหม่

เตรียมยกระดับเป็นพรรคการเมืองในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้

ยึดโมเดลพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ผสมผสานการ “รียูเนียน” พรรคไทยรักไทย

ขุมกำลังที่วางตัวไว้ก่อร่างสร้างพรรคใหม่ล้วนมาจากอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยแทบทั้งสิ้น

ทั้ง “เฮียเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ “เสี่ยอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย

ทั้งหมดล้วนเป็นคนสำคัญระดับใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการขับเคลื่อนพรรคไทยรักไทย

นำพาประเทศผ่านวิกฤตการณ์หลายอย่างในช่วงนั้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาโรคระบาดซาร์สและไข้หวัดนก

วิกฤตการณ์โควิด-19 นำมาสู่การทรุดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้การเมืองไทยเกิดความระส่ำระสายโดยเฉพาะซีกฝั่งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ เกิดปัญหาขัดแย้งกันเองภายใน

ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาให้ประชาชนที่กำลังทุกข์ร้อนจากสถานการณ์โควิดได้

สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ 4 แกนนำอดีตพรรคไทยรักไทย มีความคิดในการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเตรียมเป็น “นิวนอร์มอล” ทางการเมือง

ทาบทามกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้าและยึดแนวทางประชาธิปไตยเข้าร่วมทีม

จัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เบื้องต้นใช้ชื่อกลุ่ม CARE ย่อมาจาก Continue Ability Renew Efficiency

เพื่อใช้เป็นจุดรวมพลร่วมกันหาทางออกวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

การขับเคลื่อนกลุ่ม CARE แกนนำยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ที่มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคกุมบังเหียนอยู่

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการตั้งขึ้นเพื่อสวมบทบาททดแทน รวมถึงแก้ไขข้อผิดพลาดจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติก็ตาม

โมเดลกลุ่ม CARE เป็นการดึงบุคคลจากหลากหลายกลุ่มทั้งแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน กลุ่มสตาร์ตอัพ เบื้องต้นประมาณ 30 คนมาเข้าร่วม และมีแผนทาบทามเพิ่มเติมในอนาคต

อังคารที่ผ่านมา ทางกลุ่มจัดพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก มีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของประเทศ

เตรียมตั้งเพจ CARE เพื่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

ทิศทางกลุ่มวางกรอบหรือโรดแม็ปการขับเคลื่อนไว้ 3 ระยะ

เริ่มจากระยะสั้น ทำข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและคลายล็อกมาตรการทั้งหมด เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปมากแล้ว เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ระยะกลาง หลังจากนี้ 150 วันคาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะหนักมาก เนื่องจากพ้นระยะมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนช่วงโควิด และผู้คนมองไม่เห็นอนาคตทางเศรษฐกิจ

โดยกลุ่มจะนำเสนอแนวการแก้ปัญหาต่อสังคมเพื่อให้หลุดพ้นวิกฤต

ระยะยาว 2 ปีต่อจากนี้ กลุ่มประเมินว่าปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศจะส่งผลต่อการเมืองภายในประเทศ

เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับปัจจุบันสร้างปัญหาอย่างมากต่อเศรษฐกิจ มีแนวโน้มทำให้ประเทศเสียหายอย่างหนักในอนาคต

ทางกลุ่มจึงเห็นตรงกันในการจัดทำแผนรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปลดล็อกรัฐธรรมนูญ

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าการออกมาขับไล่รัฐบาล

กลุ่ม CARE อาจเปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ เช่น ACT, WE MOVE หรือ Chance For Change

สุดท้ายเมื่อทุกอย่างตกผลึก จูนความคิดได้ตรงกัน

ถึงตอนนั้นค่อยมาว่ากันถึงการยกระดับจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง วางตัวกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมามีบทบาทนำทัพ

ในที่ประชุมยังวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ช่วงปลายปี 2563

อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรัฐบาล

แนวทางขับเคลื่อนกลุ่ม CARE จะพัฒนาขึ้นเป็นพรรคการเมืองแนวไหน อย่างไร เป็นอีกประเด็นน่าจับตา

“หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เผยถึงเรื่องนี้ในรายการ “สุมหัวคิด” ทางวอยซ์ทีวี

ยอมรับมีการพูดคุยกันจริงระหว่างตนเอง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายภูมิธรรม เวชยชัย

หากดูจากการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา อดีตพรรคอนาคตใหม่ได้เสียงคนรุ่นใหม่จำนวนมากแต่ก็ยังไม่ทั้งหมดเด็ดขาด

คนรุ่นใหม่บางส่วนอาจมองว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ใช่ตัวแทนของเขาจริงๆ

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็มีความพยายามปรับตัวตั้งแต่หลังการเลือกตั้งกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่ความพยายามของพรรคเพื่อไทยยังไม่พอ

สุดท้ายหากไม่ปรับตัวก็จะเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกกรรมการบริหารพรรคที่อายุมาก คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมน้อย ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปบริหารพรรคอย่างจริงจัง

นพ.สุรพงษ์กล่าวย้อนถึงสมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทยที่ตนเองมีส่วนร่วม ช่วงนั้นมีอายุเพียง 44 ปี และหลายคนก็อายุเพียง 40 ปี

ส่วนตัวมองว่าคนอายุ 30-40 ปีที่เก่งๆ ในพรรคมีมากมายแต่ไม่ได้รับโอกาส แม้กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างเป็นปัญหา

ดังนั้น ผู้อาวุโสของพรรคต้องเริ่มให้คนรุ่นใหม่แสดงบทบาท พวกเขาไม่ได้ขาดความรู้ความสามารถแต่ขาดโอกาส

จึงควรต้องให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสแสดงบทบาท

เช่นเดียวกับนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภา แสดงความเห็นว่า

บรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน สังคมกำลังมีคำถามใหญ่เกี่ยวกับความสามารถของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลว่าจะนำพาคนไทยฝ่าฟันวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้หรือไม่

วันนี้คนไทยถ้วนหน้าต่างไม่มีความหวังใดๆ กับรัฐบาล

ดังนั้น การเมืองในอนาคตอันใกล้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นกว่านี้ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

เชื่อว่าต้องมีบุคคลในวงการต่างๆ หลากหลายวิชาชีพร่วมกันเสนอแนวคิดและทางเลือกเพื่อให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง

“ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ๆ และคนอีกหลากหลายวิชาชีพ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นใหม่ในสังคม ความคิดที่คนอยากรวมตัวกันหาทางออกใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแก่สังคมคงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก”

อีกมุมมองจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งล่าสุดมีชื่ออยู่ในกระแสข่าวเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เช่นกัน แต่คนละส่วนกับกลุ่ม CARE

นายจาตุรนต์กล่าวถึงสถานะตนเอง พร้อมแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางการเมืองหลังจากนี้ว่า

ตอนนี้เป็นนักการเมืองไม่มีสังกัดพรรค ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนักการเมือง นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ รวมถึงคนรุ่นใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาบ้านเมือง ปรับความคิด ใช้ความรู้เหล่านี้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเรื่อยมา

กระทั่งมีความเห็นที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน

แนวทางหลักๆ ของพรรคที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตยังอยู่บนแนวทางเดิม คือแนวทางประชาธิปไตย พัฒนาบ้านเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้านต่างๆ

อาศัยบุคคลและประสบการณ์ต่างๆ จากในอดีต ประสานกับคนรุ่นใหม่ เพื่อนำมาต่อยอดเป็นนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชนในอนาคต

นายจาตุรนต์ยืนยันพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ไม่ใช่พรรคสาขาพรรคเพื่อไทย

จะเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ

และไม่ใช่พรรคไทยรักษาชาติ 2 ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้พรรคเพื่อไทยอันเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ไม่ใช่การรวมกันของกลุ่มคนเดือนตุลา ไม่ใช่การรียูเนียน

แต่เป็นการรวมคนหลากหลายที่จะร่วมกันสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน

เป็นอีกทางเลือกของประชาชนที่น่าจับตา

สำหรับการเมือง “นิวนอร์มอล” ประชาธิปไตยประสานคนรุ่นใหม่ ไม่ว่านำเสนอผ่านแนวทางกลุ่ม CARE หรือกลุ่มจาตุรนต์

ท่ามกลางความระส่ำระสายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเป็นผลจากศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเป็นประวัติการณ์จากพิษการระบาดโรคโควิด

ทำให้หลายฝ่ายประเมินสถานการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน รัฐบาลอาจกำลังเดินมาถึงทางตัน

มีโอกาสเป็นไปได้มากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงปลายปี 2563

จากนี้ไปจึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่น่าจับตาสำหรับกลุ่ม CARE และกลุ่มจาตุรนต์

ที่ “แยกกันเดิน” กันอยู่ตอนนี้ จะกลับมา “รวมกันตี” เมื่อเวลานั้นมาถึงหรือไม่

เป็นความเคลื่อนไหวน่าจับตาอย่างยิ่ง