จรัญ พงษ์จีน : “ประยุทธ์” การเมืองแบบโชคช่วย ไม่ใช่ฝีมือ

ใครจะเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ถูกเย้ยหยันถากถาง ปรามาส ดูถูกดูแคลนสารพัด ช่วงครองอำนาจ หลังปฏิวัติ มีดาบอาญาสิทธิ์ “มาตรา 44” เป็นเครื่องทุ่นแรง ก็อีกเรื่องหนึ่ง

หลังคืนประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้ง เจอของจริง “เสือ สิงห์ กระทิง แรด ตะกวด” สัตว์ร้ายนานาพันธุ์ น่าจะ “สามเพลงตกม้าตาย”

ปัญหาประเทศชาติบอบช้ำอย่างหนักกับทุกเรื่อง ทั้ง “การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม” แต่ “ทั่นผู้นำ” แคแร็กเตอร์หนักไปทาง “ลิเก” เก่งร้องเพลง เล่นตลก เป๋อเหลอ เอาตัวรอดไปวันๆ “จะไหวหรือ”

แต่ความรู้ ความสามารถ ฉลาดหัวแหลม ไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไปในการเป็น “ผู้นำ” เรื่องของ “ดวง” ก็มีส่วนช่วยหนุนเสริมมิใช่น้อยๆ เหมือนกัน

“บิ๊กตู่” ก่อน กับหลังการแพร่ระบาด “โควิด-19” แค่แป๊บเดียว มีความต่างเป็นหนังคนละม้วน ทุกอย่างประสบผลสำเร็จด้วยความราบรื่น ปลอดอุปสรรค ไร้ขวากหนาม เรียงลำดับ สามารถ “หักมุม” ได้ทุกปมเงื่อน

 

1.“การบินไทย” มาถูกที่ถูกเวลา ถ้าเหตุการณ์ปกติ การกู้วิกฤต ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นของกระทรวงการคลังให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อปลดล็อกให้หลุดพ้น “รัฐวิสาหกิจ”

รุกคืบไปปรับปรุงโครงสร้างบริหารในหลายภาคส่วน ผ่องถ่ายพนักงานส่วนเกินออกจากตำแหน่ง และ “ยุบสหภาพ” และยื่นศาลล้มละลายกลางเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ดูไปแล้วน่าจะยาก แต่จบลงโดยง่าย หัสเดิมแม้จะปรับลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลงเหลือ 47 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่กระทรวงการคลังยังเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ต้องเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมในการฟื้นฟูจึงจะถูก ตามหลัก “นิตินัย” โดยเฉพาะอำนาจในการเลือกบุคลากรมาร่วมฟื้นฟู

แรกๆ ข่าวว่า มีดราม่ากันนิดหน่อย แต่ “บิ๊กตู่” ออกแรงกดปุ่มบรรเลง ชงเอง ชิมเอง

โดยประกาศแต่งตั้ง 4 มือทอง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-บุญทรง หวังเจริญ-ไพรินทร์ ชูโชติถาวร-ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เข้าไปเสริมใยเหล็กทีมฟื้นฟูเจ้าจำปี ร่วมกับ “พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน-จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” ตอบโจทย์ได้ประจักษ์ชัดว่า กระทรวงการคลังไม่ได้มีบทบาทใดๆ แม้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม

ก้าวถัดไป 7 บอร์ดที่เข้าร่วมการฟื้นฟูกิจการ ต้องโหวตเลือกประธาน ดูตามประสบการณ์-อาวุโส “ด๊อกเตอร์ปิ” น่าจะชื่อชั้นเหนือใครเพื่อน แต่หวยล็อกน่าจะออกที่คนชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”

 

2.ในวันเดียวกันกับการแต่งตั้ง “อรหันต์” ฟื้นฟูการบินไทย เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อ้างเพื่อควบคุมสถานการณ์ “โควิด-19” ให้อยู่หมัด

เรื่อง “เฟส 2-เฟส 3” กิจกรรม กิจการของชาวบ้าน นั่นถือว่าธรรมดา คนไทยตกที่นั่งลูกไก่อยู่ในกำมืออยู่แล้ว

แต่ที่แสบริดสีดวงมากที่สุดคือ “ฉบับที่ 4” ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย “เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี”

ทั้งนี้ เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย มาเป็น “อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว”

โดยขยายเพดาน การผูกขาดอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว “รัฐมนตรีพรรคร่วม” ไม่ว่าจะยี่ห้อ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ได้แต่นั่งแบะ-แบะ ใบ้รับประทาน มาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมโน้นแล้ว และจะลากยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน มารวมศูนย์เบ็ดเสร็จอยู่ที่ “ตู่คนเดียว”

 

3.หากนำ “คำสั่งอื่น” มาสมทบ ทั้งคำสั่งนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา จำนวน 14 คน

และคำสั่งต่อมา เรื่องการแต่งตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุ สำหรับป้องกัน ควบคุมหรือรักษาโรคติดต่อฯ” จากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 33 คน

ที่น่าสนใจมากที่สุด ในจำนวนนั้น ได้ดึงธุรกิจภาคเอกชน 8 เครือข่ายใหญ่มาร่วมวงไพบูลย์ ซึ่งตามข่าวเบื้องต้นเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ได้เกี่ยวดองข้องแวะ มีสายสัมพันธ์ใดๆ กับ “ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ในรัฐบาล “ตู่ 2/1” อะไรเลยแม้แต่น้อย

เป็น “คนละชุด” และส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำร่าง พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อการเยียวยา ฟื้นฟูวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งล้วนเป็น “คนนอก” ที่ “บิ๊กตู่” ดึงมาปฏิบัติภารกิจลับทั้งดุ้น

เช่นเดียวกับซูเปอร์บอร์ด 9 คนที่เพิ่งแต่งตั้งขึ้นติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ที่มี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เป็นประธาน กระทรวงการคลังก็ไม่รู้ไม่ชี้อะไรเลยแต่ประการใดเช่นเดียวกัน

 

4.เมื่อนำเรื่องราวทั้งหมด ลากลายแทงไปผูกโยงกับปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวว่า “จบข่าว” กันไปเป็นแบบนิ่มๆ เมื่อเร็วๆ นี้ โดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประธานยุทธศาสตร์ ลุกขึ้นมาทวงสมบัติก้นหีบคืน ยึดตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” เรียบโร้ย เขี่ยพี่น้อง “สี่กุมาร” หลุดวงโคจรกันยกยวง

นำมาต่อจิ๊กซอว์ พอจะจับสัญญาณได้ว่า หลังสิ้นเดือนมิถุนายน วันคายอำนาจนายกรัฐมนตรีกลับคืนให้รัฐมนตรี

ปล่อยผี “โควิด-19” เฟสที่ 3 การเมืองเรื่องปรับคณะรัฐมนตรีใน “พรรคพลังประชารัฐ” ก็น่าจะยกระดับสู่การ “ปรับใหญ่”

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เดินหมากกินสาม-สี่ต่อ “เข้าฮอส” ดูตามหมากที่เก็บกินทีละคำ จาก “ตัวที่ 1-3” เมื่อสุดกระดานแล้วถอยหลังกลับมากิน “ตัวที่ 4”

“กลุ่มสี่กุมารทอง” จึงน่าจะตกที่นั่งอันตรายมากที่สุดในชั่วโมงนี้

“บิ๊กตู่” ไม่ได้อนุบาลทางการเมืองเหมือนเก่าแล้ว คงจะถึงเวลา

“ต้องเลือกแล้วว่า สะพานไหนใช้ข้าม สะพานไหนควรเผาทิ้ง”

ดูตามหน้าตัก หมากที่ปล่อยออกมาทีละชุด โดยเฉพาะทีมกู้ซากการบินไทย ใครต่อใครต่างคิดว่าดีที่สุด

แต่เชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคว่ำไพ่เด็ด เก็บไว้ในสต๊อก “อีกชุด”

เห็นว่าเป็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ว่างั้น