“รัฐธรรมนูญ 60” บังคับใช้ พลิกอีกหน้า “โรดแม็ป” แว่ว “ปี่กลองเลือกตั้ง”

ข่าวใหญ่ของสัปดาห์นี้ได้แก่ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วันที่ 3 เมษายน เว็บไชต์ราชกิจจานุเษกษา เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 1 เมษายน ระบุหมายกำหนดการ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ความว่า นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ดังรายการต่อไปนี้

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน เจ้าพนักงานเตรียมพระราชพิธี ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ไว้พร้อม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

เวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ

มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี

เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จบแล้ว ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง

ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ หรือสายสะพายสูงสุด

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต.

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะตามมาด้วยการจัดทำกฎหมายลูก หรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน

หรือ 8 เดือน นับจาก 6 เมษายน จะตกประมาณต้นเดือนธันวาคม 2560

จากนั้น สนช.จะพิจารณาภายใน 60 วัน หลังผ่านขั้นตอนต่างๆ เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จมีผลบังคับใช้จะต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2561

หลังจากมีหมายกำหนดการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญออกมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. ได้ลงนามหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เรื่องการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ระบุว่า ตามที่สำนักงาน กกต. ได้แจ้งข้อมูลสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 รายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงนั้น

สำนักงาน กกต. ได้คำนวณจำนวนสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์มาตรา 83, 85 และ 86 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับการออกเสียงประชามติ

โดยมีจังหวัดที่จะพึงมีสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน จำนวน 8 จังหวัด และมีจังหวัดที่จะพึงมีสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกิน 1 คน จำนวน 68 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้น จึงขอให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิก ส.ส. ไว้เป็นการล่วงหน้า จำนวนอย่างน้อยสามรูปแบบ เรียงตามลำดับความเหมาะสม

โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรแต่ละเขตใกล้เคียงกัน และจัดส่งร่างการแบ่งเขตเลือกตั้งพร้อมทั้งแผนที่และรายละเอียดพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้สำนักงาน กกต. จำนวน 2 ชุด ภายในวันที่ 25 เมษายนนี้

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

ผลต่างๆ ของรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้ สนช. จะยังทำหน้าที่จนถึง 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส่วน สปท. จะทำหน้าที่จนกว่ากฎหมายปฏิรูปจะออกมาภายใน 4 เดือนหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ภายหลังจากมีข่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติจะประกาศใช้วันที่ 6 เมษายนนี้ มีกระแสข่าวว่าจะมี สปท. ประมาณ 20 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 10 คนลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ได้สิทธิลงสมัคร ส.ส. ได้

ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 263-266 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่ระบุให้บุคคลที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หากมีตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย จะต้องลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วัน

ผลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังได้แก่ มาตรา 77 ที่กำหนดว่า ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

ทำให้กฎหมายต่างๆ ที่จะเข้าสู่สภา ต้องเพิ่มขั้นตอนการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง

ที่จะต้องจับตากันต่อไปได้แก่ การออกกฎหมายลูก โดยเฉพาะที่จะเป็นกติกาการเลือกตั้ง ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาของ ส.ว. กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง

คุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็น “ด่าน” สำคัญ ในการกลั่นกรองนักการเมือง ก่อนเข้าสนามเลือกตั้ง

กระบวนการหลังจากนี้ จะทำให้ภาพการเมืองหลังการเลือกตั้งในปี 2561 มีความชัดเจนมากขึ้น