บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / ‘สวีเดน’ ไม่ล็อกดาวน์ ศก.ยับไม่แพ้ชาติอื่น-ตายสูง

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘สวีเดน’ ไม่ล็อกดาวน์

ศก.ยับไม่แพ้ชาติอื่น-ตายสูง

 

ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม หลายประเทศรวมทั้งไทยที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือปิดเมืองเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการลงหลังจากภาวะการระบาดเริ่มต่ำ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากินได้ในขอบเขตที่กว้างกว่าเดิม

ช่วงล็อกดาวน์ มีเสียงโวยวายจากคนจำนวนหนึ่ง ว่าทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ชาวบ้านอดตาย พร้อมกับเร่งเร้าให้เปิดเมือง มีการอ้างให้เอาอย่างสวีเดนที่ไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์

พอรัฐบาลมีมติเลื่อนเวลาเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะเป็นห่วงเด็กนักเรียนจะติดเชื้อ ก็มีสื่ออิงการเมืองบางคนโวยวายซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าปิดโรงเรียนทำไม ถึงขั้นดราม่าขว้างสคริปต์กลางจอทีวี อ้างว่าโมโหที่เด็กไม่ได้เรียน

สื่อเพี้ยนรายนี้อ้างผลวิจัยของไอซ์แลนด์ที่ชี้ว่า เด็กไม่ติดเชื้อโควิด และถึงติดก็ไม่เป็นอันตราย ดังนั้น ไม่มีโอกาสที่จะนำเชื้อไปแพร่ให้กับพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่บ้าน

ผลวิจัยของไอซ์แลนด์ เชื่อถือได้หรือไม่ ให้ดูของจริงจากกรณีฝรั่งเศส ซึ่งหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายและอนุญาตให้เปิดโรงเรียนไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม

ปรากฏว่าพอถึงวันที่ 18 พฤษภาคม พบเด็กอนุบาลและประถมในโรงเรียนหลายแห่งติดเชื้ออย่างน้อย 70 คน ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดโรงเรียนอีกครั้ง

 

พฤติกรรมของสื่อรายนี้ หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคน มักจะมีลักษณะอ้างประเทศนั้นประเทศนี้เพื่อให้รัฐบาลไทยเอาอย่าง เช่น ตอนแรกอ้างให้เอาอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น แต่พอสิงคโปร์และญี่ปุ่นติดเชื้อพุ่งพรวดแซงไทย ก็เงียบกริบ แล้วเฉไฉไปอ้างประเทศอื่นต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่มีความอาย

ช่วงล็อกดาวน์ ก็มีสื่ออิงการเมืองบางคน หาว่าฝ่ายรัฐบาลปล่อยให้หมอ “ขี่คอ” ความหมายก็คือปล่อยให้หมอชี้นำ โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพ (ชีวิต) มากกว่าปากท้องและเศรษฐกิจ

แต่ถ้าคิดในมุมกลับก็จะน่าจะรู้ว่าถ้าตายเพราะติดเชื้อแล้ว ปากท้องจะมีความสำคัญอะไร เพราะไม่มีท้องให้หิวแล้ว เช่นเดียวกับเสรีภาพ ถ้าตายแล้วก็ไม่ต้องใช้เสรีภาพ

การบริหารที่มีประสิทธิภาพ ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ต้องดูว่า ณ ขณะนั้นปัญหาอะไรหนักที่สุดและต้องแก้อย่างเร่งด่วน

เช่น เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ก็ต้องให้นักดับเพลิงเป็นแนวหน้าหรือยอมให้พวกเขา “ขี่คอ” เราเพื่อรีบดับไฟ รักษาชีวิตคนที่ติดอยู่ในนั้น หรือป้องกันไม่ให้ลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่บ้านอื่น

เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อมีปัญหาโรคระบาดร้ายแรงก็ต้องฟังหมอเป็นหลัก จะให้นักธุรกิจ เจ้าสัว มา “ขี่คอ” แทนก็เจ๊งกันหมด

เมื่อให้หมอขี่คอและคุมการระบาดได้แล้ว สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้แล้ว จากนั้นก็เป็นเวลาของเจ้าสัว นายทุน พ่อค้าแม่ค้า จะได้กลับมาเปิดธุรกิจและขายของได้อีกครั้ง นี่เป็นหลักเหตุผลที่แสนจะธรรมดา

คิดหรือว่าในเวลาที่หมอเสนอแนะว่าต้องคุมการระบาดด้วยการปิดเมือง จะไม่มีตัวแทนจากซีกเศรษฐกิจ ธุรกิจ คัดค้าน (ผ่านรัฐมนตรีเศรษฐกิจ) และยอมให้หมอขี่คอง่ายๆ

 

ส่วนการหาว่าหมอไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ หรือเป็นหมอสายเหยี่ยว ไม่มองมุมอื่นนั้น ให้ดูจากศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกุนซือด้านการคุมระบาดให้กับนายกฯ ที่ออกมาพูดช่วงวันที่ 20 เมษายน อันเป็นช่วงที่การระบาดดีขึ้นมากแล้ว พร้อมกับข่าวแพร่สะพัดว่ารัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์

ในตอนหนึ่งคุณหมอยงพูดว่า “การควบคุมโรคโควิด-19 ให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไปได้ยิ่งดี แต่ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจ สังคม จะต้องอยู่ในจุดสมดุล ถ้าต้องการให้โรคหมดไป ภาวะเศรษฐกิจและสังคมก็จะลำบากมาก ดังนั้น กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ จะต้องยอมให้เปิดก่อน”

ก่อนที่ในเวลาต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม รัฐบาลก็ประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟสแรก ยอมให้กิจการที่มีความเสี่ยงต่ำเปิดดำเนินกิจการได้

สะท้อนให้เห็นว่าคนเป็นหมอ ไม่ได้คิดแต่เรื่องคุมโรค ละเลยเศรษฐกิจหรือปากท้องประชาชน

 

ปกติแล้วคนเป็นหมอมักจะฉลาด หัวดีกว่าคนทั่วไป คนฉลาดก็มักจะคิดอะไรอย่างมีตรรกะ มีเหตุผลกว่าคนทั่วไป อิงข้อมูลที่พิสูจน์ได้มากกว่าอิงอารมณ์ มองเห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่านักการเมืองหรือสื่ออิงการเมืองบางจำพวก

ส่วนกรณีของสวีเดน ประเทศเสรีสุดโต่ง ที่ถูกบางคนในไทยยกย่องว่า ไม่มีการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจไม่เสียหาย ประชาชนมีเสรีภาพการใช้ชีวิตนั้น

ในข้อเท็จจริงคือโลกนี้ไม่มีของฟรี ได้อย่างต้องเสียอย่างหรือหลายอย่าง เพราะคนสวีเดนโดยเฉพาะคนแก่ต้องสังเวยชีวิตให้กับไวรัสมรณะนี้อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่ถูกนักวิจารณ์บางคนบอกว่าใช้นโยบายที่เข้าข่ายอาชญากรรม นั่นคือ herd immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) คือปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อมากๆ ตายมากๆ แล้วการระบาดจะหายไปเอง

หัวหน้านักระบาดวิทยาของสวีเดนที่สนับสนุนไอเดียนี้อ้างว่าประชากรในเมืองหลวงคือสตอกโฮล์ม น่าจะติดเชื้อจนถึงระดับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่นายคนนี้ไม่เปิดเผยว่ามีเป้าหมายจะให้ประชากรติดเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเขาได้ถอนคำพูดที่ว่าชาวสตอกโฮล์มจะติดเชื้อถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในวันที่ 1 พฤษภาคม

 

ความจริงที่โหดร้ายจากการไม่ล็อกดาวน์ก็คือ ทั้งไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ แถมยังทำให้คนตายโดยไม่จำเป็นอีกด้วย เพราะสวีเดนซึ่งมีประชากรเพียง 10.23 ล้านคน มีอัตราการตายของประชากรจากเชื้อโควิดสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์) แม้สวีเดนจะอ้างว่า หลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส ที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดมีผู้เสียชีวิตมากกว่าสวีเดนหลายเท่าก็ตาม

ณ วันที่ 18 พฤษภาคม สวีเดนมีผู้ติดเชื้อสะสม 30,377 คน เสียชีวิตรวม 3,698 ราย หากเทียบสัดส่วนการตายต่อประชากร 1 ล้านคน ถือว่าสวีเดนมีอัตราตายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยประชากรทุก 1 ล้านคนของสวีเดนตายจากเชื้อโควิด 366 คน เดนมาร์กมีสัดส่วนการตาย 95 คนต่อประชากร 1 ล้านคน นอร์เวย์ 43 คน

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับสหรัฐแล้ว สวีเดนมีสัดส่วนการตายสูงกว่าสหรัฐ กล่าวคือ ในประชากรอเมริกัน 1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 278 คน

ในแง่เศรษฐกิจ การล็อกดาวน์ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจสวีเดนดีกว่าชาติอื่นในยุโรป หากแต่ย่ำแย่เกือบจะพอๆ กันหรือแย่กว่า เพราะระบบห่วงโซ่อุปทานโลกที่ชะงักงันส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยธนาคารกลางของสวีเดนประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวระหว่าง 6.9-9.7% ถึงแม้ว่าไตรมาสแรกสวีเดนจะมีอัตราการหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศก็ตาม

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของสวีเดนอย่างฟินแลนด์และเดนมาร์ก ตามการประเมินของไอเอ็มเอฟ คาดว่าจะหดตัว 6% และ 6.5% ตามลำดับ ส่วนเยอรมนี อังกฤษและฝรั่งเศส จะหดตัว 6.5%, 7% และ 7.2% ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทย คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวประมาณ 5-6% หากจริงตามนั้น ถือว่าดีกว่าสวีเดน