ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ความเป็นไทยในกรุงศรีอยุธยา คือ New Normal ที่เกิดจากโรคห่ากาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ชัดว่า หลังจากที่โลกของเราได้ผ่านเหตุการณ์ “ห่าลง โควิด-19” ไปแล้ว โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนบ้าง?

ก็ทำให้เราได้ยินศัพท์ใหม่ๆ อีกคำหนึ่งนั่นก็คือคำว่า “New Normal”

หากจะแปลกันแบบกำปั้นทุบดินแล้ว “New Normal” นั้นหมายถึง “ความปกติแบบใหม่” ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ความปกติแบบเดิมในช่วงก่อนห่าลง โควิด-19 จะกลายเป็นความปกติแบบเก่า

และเมื่อมีทั้งแบบใหม่และแบบเก่าแล้ว “ความปกติ” ก็ย่อมจะไม่เหมือนเดิมแน่

ดังนั้น สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ (หรือเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ถูกนับว่าเป็นสิ่งที่เป็นปกตินัก) จึงอาจจะกลายเป็นเรื่องปกติหลังจากผ่านเหตุการณ์ห่าลงในครั้งนี้ และก็ย่อมเป็นสิ่งที่ใครทุกคนในสังคมจำต้องยอมรับมันให้ได้ ตัวอย่างที่มักจะทำนายกันก็เช่น การทำงานอยู่ที่บ้าน (WFH) หรือความสำคัญของหน้าร้านที่ลดลง แต่ย้ายมาอยู่ในออนไลน์แทน เป็นต้น

 

แต่เจ้าคำว่า “New Normal” ที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาใหม่ในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้หรอกนะครับ คำคำนี้เกิดขึ้นมาเก่ากว่าสิบปีแล้ว

แถมยังไม่ใช่คำที่ใช้อธิบายถึงเหตุการณ์หลังโรคระบาดผ่านไปเป็นการเฉพาะอีกด้วย เพราะแรกเริ่มเดิมทีนั้น คำคำนี้ถูกผูกขึ้นเพื่อใช้อธิบายถึงภาวะเศรษฐกิจโลกหลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อระหว่างปี พ.ศ.2550-2552 ต่างหาก

ว่ากันว่าคนที่ผูกศัพท์คำนี้ขึ้นมาใช้เป็นคนแรก (อย่างน้อยก็ในความหมายของความปกติใหม่ทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) คือ บิล กรอสส์ (Bill Gross) นักลงทุนชาวอเมริกัน ผู้ได้รับสมญาว่า “ราชาแห่งพันธบัตร” ควบตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้ง Pacific Investment Management Co ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนสาเหตุที่กรอสส์ผูกคำว่า New Normal ขึ้นมานั้นเป็นเพราะว่า แต่เดิมวิกฤตทางเศรษฐกิจมีรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจนคือ หลังจากเกิดวิกฤตได้ไม่นานเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว และจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในช่วงเวลาที่ไม่นานนัก จนกลายเป็นลักษณะที่ถูกมองว่าเป็น “normal” คือ “ปกติ”

แต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นแตกต่างออกไปนะครับ ปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลของหลายประเทศพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ทั้งๆ ที่ประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมากอยู่แล้ว, การยืมเงินจากอนาคต เพื่อแลกกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเติบโตลงในอนาคต และอีกสารพัดปัจจัยที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้า

ทำให้หลายคนมองว่า หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจจะไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีเหมือนเดิมอีกต่อไป

จากนั้นเป็นต้นมา คำว่า “New Normal” จึงมักจะถูกนำมาใช้เรียกความถดถอยของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่อาจจะไม่มีวันโตขึ้นเท่าระดับเดิมได้อีกแล้ว

 

ในทุกวันนี้มีการใช้คำว่า New Normal ในแง่ของเชิงธุรกิจและการตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่ออธิบายถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่า อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติหลังจากนั้นไปแล้ว

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลย ที่จะมีการนำศัพท์คำนี้มาใช้ในการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมที่จะเกิดขึ้นหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ไป

แต่อันที่จริงแล้ว ในแง่ของการเกิดโรคระบาดครั้งสำคัญหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกนั้น ก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติของผู้คนในสังคม จนทำให้เกิดอะไรที่พอจะเทียบได้กับเจ้าสิ่งที่เรียกว่า New Normal มาตั้งแต่ก่อนเกิดห่าลงโควิด-19 ในยุคสมัยของพวกเราแล้วนะครับ

 

ตัวอย่างชิ้นคลาสสิคก็คือ เมื่อ พ.ศ.1892 “Black Death” หรือกาฬโรค ได้คร่าชีวิตชาวอังกฤษไปราว 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานขนานใหญ่ ค่าแรงถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ชาวไร่ชาวนาในชนบทที่เหลือรอดอยู่จึงหันมาเป็นแรงงานของระบบเศรษฐกิจแทน เช่นเดียวกับพวกทาสติดที่ดินซึ่งหนีและไม่ยอมขึ้นกับเจ้านายเหมือนเดิมอีกต่อไป ชาวไร่ชาวนาเลิกทำนาแล้วไปเป็นแรงงานอิสระเพราะมีรายได้ดีกว่า มั่นคงกว่า ทั้งยังได้สิทธิต่างๆ ที่ยกระดับคนกลุ่มนี้ให้เกือบเทียบเท่าเจ้าของที่ดิน คนเหล่านี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความพยายามในการยกฐานะของตนเองให้สูงยิ่งขึ้น

ผลที่ตามมาก็คือ ชนชั้นแรงงานมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ภาษาอังกฤษที่คนเหล่านี้ใช้ในการสื่อสารจึงทวีความสำคัญขึ้นมาพร้อมๆ กันนั้นเอง

กาฬโรคยังได้ระบาดเข้าไปถึงศาสนจักรอย่างรวดเร็ว ทั้งในโรงเรียน (ซึ่งในยุคกลางผูกโยงอยู่กับโบสถ์ในคริสต์ศาสนา) และอาจรวมถึงที่อื่นๆ บาทหลวง และเจ้าอาวาสจำนวนมากล้มตายลง

ตำแหน่งที่ว่างลงถูกทดแทนด้วยชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้จักภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาที่ใช้ในการสอนศาสนา แทนที่ภาษาฝรั่งเศสที่ถูกใช้สอนในโรงเรียนหลังจากชาวนอร์แมนได้รับชัยชนะเหนือชาวอังกฤษ

เมื่อความตายสีดำผ่านพ้นไป มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้มีการปรับปรุงการศึกษาครั้งสำคัญ โดยหันมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักแทน จนกระทั่งถึงเรือน พ.ศ.1928 การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนก็กลายเป็นสิ่งปกติทั่วไป

อันที่จริงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของกาฬโรคยังส่งผลกระทบต่อสังคมอังกฤษอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อมีคนจำนวนมากตายไป จึงย่อมก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักประวัติศาสตร์บางท่านถึงกับเปรียบเปรยเอาไว้ว่า ผลกระทบจากการระบาดของ Black Death หรือกาฬโรคในครั้งนั้น สามารถเทียบได้กับ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ที่ก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนในสังคมในแบบที่เทียบเคียงกับ “New Normal” ได้เลยทีเดียว

 

พ.ศ.1893 อันเป็นช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ตามที่ถูกอ้างไว้ในพงศาวดารทุกฉบับก็ตรงอยู่กับช่วงเวลาที่ Black Death หรือความตายสีดำเข้ากลืนกินโลกในครั้งนั้น

ตำนานพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสถาปนากรุงศรีอยุธยาจึงเป็นร่องรอยสำคัญเกี่ยวกับการระบาดของกาฬโรคของช่วงเวลาดังกล่าวในดินแดนแถบนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะภูมิภาคอุษาคเนย์อยู่ในเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทรมาหลายพันปีแล้ว

การระบาดของกาฬโรคในครั้งนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนชั้นสูงเก่า ในอยุธยา ซึ่งพูดภาษาเขมร ได้ล้มหายตายจากไป (เพราะเข้าถึงสินค้าและทรัพยากรจากการค้าโลกข้ามสมุทรมากกว่า ประกอบกับอาศัยอยู่ในเมืองที่แออัดยัดเยียดจนทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย)

ทำให้คนอีกกลุ่มที่พูดภาษาไทย-ลาว ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เป็นชนชั้นสูง (จึงทำให้เข้าถึงสินค้าและทรัพยากรจากการค้าโลกข้ามสมุทรได้ยากกว่า และอยู่ในพื้นที่ตามแม่น้ำลำคลองที่ไม่แออัด) ขึ้นมามีอำนาจและบทบาทแทนเมื่อราวหลัง พ.ศ.1900

ลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การสร้างศิลปกรรมที่เคยนิยม การสร้างพระปรางค์อ้วนป้อมแบบขอม ก็กลายมามีรูปทรงสูงโปร่งมากขึ้น จนเปลี่ยนเป็นนิยมเจดีย์ทรงลังกาแทนในที่สุด

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนมาแต่งวรรณคดีด้วยภาษาไทย มีฉันทลักษณ์เป็นเอกเทศเฉพาะตนคือ โคลงกลอน หรือการละเล่นโขน ที่มีบทเจรจาด้วยสำเนียงหลวง และลีลาแบบลาว ในแบบที่ไม่เคยปรากฏในรัฐของอุษาคเนย์รุ่นก่อนหน้า

เอาเข้าจริงแล้ว ความเป็นไทยที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยานั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกติสืบทอดมาจากยุคก่อนหน้านั้นไปเสียหมด แต่เป็น “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ห่าลงกาฬโรคระบาด ตามที่มีร่องรอยอยู่ในนิทานเรื่องพระเจ้าอู่ทองนั่นเอง