“สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร” ต้นเรื่อง “ตู้ปันสุข” สู่มินิโรงทาน เตือนระวังโมเดลหลงทาง

แม้บ้านเราจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ยังมีข่าวดีๆ ให้ชื่นใจ นั่นคือตู้ปันสุขที่ริเริ่มจากกลุ่มปฏิบัติธรรม “อิฐน้อย” อันมี “สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร” หรือโค้ชแบงค์ นักธุรกิจหนุ่มวัย 33 ปี เป็นแกนนำ ซึ่งประเดิมตั้ง 5 ตู้ใน กทม.

จากนั้นไม่กี่วันบรรดาผู้ใจบุญและจิตอาสา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างพากันตั้งตู้ประเภทนี้ทั่วทุกภูมิภาค รวมแล้ว 1,000 กว่าตู้

“สุภกฤษ” เป็นคนหนุ่มที่ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย

เขาจบวิศวะจากจุฬาฯ แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยของเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ

ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทเกี่ยวกับซอฟต์แวร์การวัดในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องธุรกิจ

เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า สนใจปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เรียนปี 1 ที่จุฬาฯ ครอบครัวเองก็ชอบปฏิบัติธรรมกัน

และในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ได้รวมตัวเพื่อนๆ ในกลุ่มปฏิบัติธรรมบริจาคหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์

จากนั้นมาตั้งตู้ปันสุข ซึ่งได้แบบอย่างมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำมา 4 ปีกว่าแล้ว

เขาพูดถึงความแตกต่างของตู้นี้เมื่อนำมาตั้งในบ้านเราว่า “ตู้เขาไม่เหมือนตู้เรา จะเล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง ขนาดเท่าตู้ยา แล้ววางไว้หน้าบ้านอยู่บนตู้ไปรษณีย์ คือเป็นตู้กับข้าวชุมชน มีอยู่ในตามหมู่บ้านต่างๆ คนในหมู่บ้านเขาซื้อของมาใส่ แต่ไม่ได้ใส่เยอะเหมือนบ้านเรา อย่างบ้านไหนมีอะไรเยอะๆ มีปลากระป๋อง ก็เอาไปใส่สักกระป๋องสองกระป๋อง เป็นอารมณ์แบบนั้น เป็นพวกอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำยาล้างจาน เป็นของค้างได้ ไม่ใช่อารมณ์แบบบ้านเราที่คล้ายๆ เป็นโรงทาน”

สำหรับความรู้สึกหลังตู้นี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โค้ชแบงค์บอกว่า

“ทีมงานดีใจที่สังคมให้การยอมรับ ทำให้รู้สึกว่าคนไทยยังรักที่จะให้ ซึ่งผมคิดว่าประเทศอื่นคงจะมี แต่ไม่รู้ว่าจะแพร่เร็วได้ขนาดนี้หรือเปล่า แต่ของเรามีพันกว่าตู้ ในเวลา 7 วัน ผมว่าเร็วมาก และทำครบทุกจังหวัด ถือว่าความเร็วเกินความคาดหมาย ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้”

ส่วนที่มีปัญหาในบางตู้ที่มีคนโกยข้าวสารอาหารแห้งไปจำนวนมาก และบางคนต่อว่าผู้ตั้งตู้ปันสุขเพราะไม่พอใจที่สิ่งของหมดตู้นั้น

หนุ่มรายนี้แจกแจงว่า “จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเรื่องเกินคาด เพราะก่อนเริ่มทำ ลองนำวิดีโอโพสต์ไปที่เฟซบุ๊ก ที่เพจ ที่แฟนเพจ ตอบโจทย์ธุรกิจ และโยนคำถามให้กับสังคมว่า ถ้าตั้งตู้อย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งใน 200 คอมเมนต์มี 180 คอมเมนต์ว่า ถ้าเกิดขึ้นมีหาย คงมีคนโกยและมีคนทำนายถึงขั้นตู้หาย แต่ปัจจุบันยังไม่มี บางคนบอกว่า คงทำไม่ได้หรอก สังคมต่างประเทศทำได้ แต่สังคมบ้านเราทำไม่ได้”

สุภกฤษยอมรับว่า เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นในช่วงแรก แต่ชุมชนเริ่มมีการสอนกันเอง โมเดลที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พอมาทำที่เมืองไทยมันแตกไปสู่โมเดลมินิโรงทาน คือคนไปใส่ของเยอะ ขณะที่คนไทยใจบุญ ซื้อของเป็นลังๆ มาใส่ ซึ่งลักษณะแบบนี้จำเป็นต้องมีคนบริหารจัดการ เหมือนไปโรงทานตามวัด แล้วเจ้าอาวาสต้องมาดู ห้ามเวียน

“ดังนั้น เมื่อถูกเปลี่ยนมาเป็นโมเดลโรงทาน 1.ถ้าไม่มีคนคุม และไม่มีกติกา จะมีคนส่วนน้อยที่หยิบของไปจำนวนมาก ซึ่งตู้ของกลุ่ม 5 ตู้ เท่าที่ขับรถไปสำรวจของยังมีอยู่ตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่าเราเทน้ำลงขวดก็มีน้ำกระเด็นออกนอกขวดบ้าง แต่ว่าน้ำส่วนใหญ่ลงหมด คนส่วนใหญ่ได้รับของเยอะ”

ในฐานะคนต้นคิด อยากจะสื่อสารไปยังผู้คนและหน่วยงานที่ตั้งตู้ปันสุขอย่างไร กรณีที่เจอพวกโกยของจนเกลี้ยงตู้

“ในฝั่งคนให้ จิตของคุณดีมากเลยที่ได้สละความตระหนี่ และต้องใช้พรหมวิหาร 4 อย่างแรกที่คุณมีเมตตาแล้ว คุณมีความรักกับคน กรุณา…คุณพยายามทำให้เขามีความสุข มุทิตา… คือคุณเห็นคนที่ได้รับสิ่งที่คุณให้นี้ไปแล้ว ชีวิตเขาแฮปปี้มากขึ้น สุดท้ายต้องมีอุเบกขา คือการปล่อยวาง แต่ถ้าจะให้ตรงตามคอนเซ็ปต์ ไม่จำเป็นต้องให้เยอะ ใส่ตู้ใกล้ๆ บ้านคุณ ให้บ่อยได้ แต่อย่าให้เยอะ อย่าใส่ของซ้ำๆ กันเยอะ เพราะจะกลายเป็นโมเดลหลงทางไป”

“ถ้าคุณอยากเป็นโมเดลหลงทางจริงๆ อาจต้องเลือกตู้ที่มีคนที่เขาช่วยดูแลให้ เรื่องจิตของผู้ให้ดี กรณีเป็นตู้ไม่มีคนดูก็บริจาคไม่ต้องเยอะ เป็นแบบแบ่งปัน ถ้าคุณอยากบริจาคเยอะ อาจต้องเลือกสถานที่ ไปในจุดที่มีคนช่วยจัดการดูแล อย่างตอนนี้ไปตั้งตามโรงพัก เขาก็มีกติกา ผมไม่อยากให้คนให้เสียกำลังใจในเรื่องการทำความดี เพียงแค่ภาพไม่ดีไม่กี่ภาพที่สื่อไปจับเท่านั้นเอง”

กับแผนในอนาคตหลังจากตู้ปันสุขกระจายไปทั่วไทย “สุภกฤษ” บอกว่า

“ในส่วนตัว 5 ตู้หลักของกลุ่ม อยากใช้ตู้เป็นตัวสอนคน จะมีการปรับเปลี่ยนลักษณะ เช่น อาจมีกติกาในการรับ มีกติกาในการใส่เพิ่มมากขึ้น”

“ยกตัวอย่างเช่น สมมุติถ้าคุณหยิบ หรือถ้าคุณเอามาให้ ควรจะหยิบของจากตู้ไปสักชิ้นหนึ่ง เพื่อให้คุณได้รู้สึกถึงความเป็นผู้รับ และคุณลองเอาของที่คุณรับ ที่คุณหยิบมาเรียบร้อยแล้ว ใส่ตู้คืนไปสักชิ้นหนึ่ง คุณจะได้รู้สึกถึงความเป็นผู้ให้ เพื่อสอนคนให้เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ จะได้เข้าใจความรู้สึกของทั้ง 2 ฝั่ง”

ในการที่โค้ชแบงค์และกลุ่มเพื่อนมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แน่นอนว่าพวกเขามีพื้นฐานมาจากการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี นอกจากนี้ ยังได้รับผลพวงหลายอย่างจากการปฏิบัติธรรม

“กลุ่มของพวกเราชอบการให้ เรามีจิตสาธารณะและเราก็ช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว การปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดความรู้สึกดีหลายอย่าง 1.ในเรื่องของสมาธิ ในเรื่องของการเรียนดีขึ้น 2.เข้าใจจิตใจตัวเองและจิตใจผู้อื่นไปด้วย พอไปเรียนเอ็มบีเอจากต่างประเทศ ไปเรียนเรื่องของการตลาด ทำให้เราเข้าใจว่า จริงๆ หลักธรรมของพุทธศาสนาที่เราเข้าใจจากการปฏิบัติ ทำให้เราเข้าใจจิตใจคน เพราะการตลาดต่างๆ ก็เกิดจากจิตใจของคน เมื่อเราเข้าใจใจคนก็สามารถวางแผนการขายได้ ทำการตลาดได้ดียิ่งขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ผมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน”

เรื่องการปฏิบัติธรรมนั้น โค้ชแบงค์บอกว่า “ศึกษามาหลายๆ สาย แล้วประยุกต์ ทั้งสายของหลวงปู่มั่น สายพองยุบ สายพุทโธ สายดูจิต โดยประยุกต์ตามแต่สถานการณ์”

ในการบรรยายเรื่องการขายการตลาดคอร์สต่างๆ นั้น เจ้าตัวบอกว่า “ผมจะยกหลักธรรมบางอย่างขึ้นมาอธิบายคอนเซ็ปต์ต่างๆ เพื่อให้คนเข้าใจได้มากขึ้น เช่น การขายจริงๆ เกิดขึ้นจากอารมณ์ อย่างตอนดูบ้านเปล่าจะไม่อยากได้ แต่พอดูบ้านตัวอย่าง กลับอยากได้ ความรู้สึกอยากได้เกิดขึ้นวินาทีอยู่ในห้องรับแขก แล้วคนขายถามว่าปกติทำอาหารบ่อยไหม แล้วชี้ไปที่ห้องครัว ทำให้ลูกค้าเกิดจินตนาการ วินาทีนั้นเกิดขึ้น นี่คือการดูจิต ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ เมื่อวิปัสสนาได้ดี จะรู้ใจตัวเองมากขึ้นว่ากระบวนการเกิดขึ้นตอนไหน เมื่อสามารถรู้กระบวนการของตัวเองที่เกิดขึ้นในช่วงไหนก็ช่วยทำให้วางแผนการขายได้ดียิ่งขึ้น”

เขาให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่โดนพิษโควิด-19 ว่า ทุกอย่างมีโอกาสเสมอ ลองย้อนไปดูเมื่อหลายๆ ปีที่แล้ว ที่เกิดโรคซาร์สก็เปลี่ยนจีนให้เป็นประเทศดิจิตอลเต็มตัว มีการซื้อขายผ่านออนไลน์เต็มตัว ครั้งนี้อาจเป็นยาแรงนิดหนึ่งที่บีบให้เรามาเป็นดิจิตอลเต็มตัว ทุกอย่างที่ขายในปัจจุบันนี้ ต้องคิดถึงรูปแบบการขายที่ว่าเอาเงินกลับเข้าไปในดิจิตอลอย่างไร ซึ่งตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงคือตัวโควิดนี่แหละ

ฉะนั้น ตอนนี้ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องเร่งแสวงหาเรื่องการขายออนไลน์ เรื่องการทำระบบอีคอมเมิร์ซและระบบไลฟ์คอมเมิร์ซ คือ จริงๆ ลูกค้าต้องการเหมือนเดิม แต่รูปแบบของการซื้อเปลี่ยน ซึ่งไม่รู้ว่าโควิดจะลากไปจบเมื่อไหร่ที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้ว กลายเป็นการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น

เป็นนักธุรกิจหนุ่มอีกคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่สำคัญเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และนำพาสิ่งดีๆ มาสู่สังคมไทย


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่