ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อยุธยากำเนิด เพราะ “สร้างบ้านแปงเมือง” ไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้า

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําโปรยในปกหลังของหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 ลดราคาและวางขายอยู่ที่บู๊ธมติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 15 ซึ่งจัดร่วมกัน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-9 เมษายน 2560 นี้ มีข้อความระบุว่า

“… “ภูมิวัฒนธรรม” (Cultural Landscape) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographical Landscape) ในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น ป่าเขาลำเนาไพร ท้องทุ่ง หนองบึง แม่น้ำลำคลอง ปากอ่าวชายทะเล ฯลฯ อันสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของผู้คนในท้องถิ่น จนเป็นที่รู้จักและมีการกำหนดชื่อเป็นสถานที่ต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักร่วมกัน และมักจะสร้างเป็น “ตำนาน” (Myth) ขึ้นมาอธิบายถึงความเป็นมา และความหมายความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม…”

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการถือกำเนิดของเมือง รัฐ หรืออาณาจักรหลายๆ แห่งในประเทศไทย ที่รู้จักกันดี ยกตัวอย่างเช่น อยุธยา นั้น เราจึงมักจะได้ยินได้ฟังนิทานเรื่อง พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยา มากกว่าที่จะมีใครมาอธิบายให้ฟังถึงความเหมาะสมของลักษณะภูมิประเทศในการสร้างบ้านแปงเมือง พัฒนาการ และการจัดการเครือข่ายทางการคมนาคมต่างๆ จนทำให้อยุธยากลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และการเมืองการปกครอง ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไปในที่สุด

แต่คนเขียนหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” เล่มนี้มีชื่อ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ใครต่อใครในแวดวงมานุษยวิทยา โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ต่างก็รู้ดีว่ามีความรู้ระดับ “ปรมาจารย์” ของประเทศ ที่พิเศษใส่ไข่มากกว่าปรมาจารย์ท่านอื่นๆ ก็คือ ความรู้ของ อ.ศรีศักร ส่วนหนึ่งได้มาจากประสบการณ์ตรงจากการสำรวจด้วยตัวของอาจารย์เอง

อ.ศรีศักร ทั้งขึ้นเขาลงห้วย และบุกป่าฝ่าดง ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันตกจรดตะวันออก สำรวจเมืองโบราณต่างๆ ในประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยที่ยังหนุ่มฟ้อ (และหล่อเฟี้ยว) จึงทำให้ท่านมีข้อมูลจากการสำรวจที่หนักแน่น และน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับ “ภูมิวัฒนธรรม” ตามอย่างคำโปรยในปกหลังของหนังสือ ที่ผมยกมาให้อ่านข้างต้นนั่นแหละนะครับ

และนี่ก็ทำให้กำเนิดของอยุธยาที่ อ.ศรีศักร อธิบายเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ จึงเกิดจากการสร้างบ้านแปงเมืองของผู้คนตามอย่างชื่อหนังสือ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ กรุงศรีอยุธยาก็ลอยล่องลงมาจากฟากฟ้าได้เองเสียเมื่อไหร่?

อ.ศรีศักร วัลลิโภดม

ตอนหนึ่งใน สร้างบ้านแปงเมือง อ.ศรีศักร ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า

“…สิ่งที่น่าสังเกตในทางภูมิวัฒนธรรมเกี่ยวกับพัฒนาการของอยุธยา…ก็คือเป็นเรื่องของการขยายตัวและเติบโตของบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสำคัญ ในสมัยอโยธยาบ้านเมืองเติบโตและเติบโตอยู่เฉพาะลุ่มน้ำป่าสักอันอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่เมื่อเกิดเป็นพระนครศรีอยุธยาแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมานั้น พัฒนาการของบ้านเมืองดูเหมือนเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกเป็นส่วนใหญ่…”

สำหรับ อ.ศรีศักร “อโยธยา” จึงไม่ใช่กรุงศรีอยุธยานะครับ แต่เป็นบ้านเป็นเมืองที่มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่ในพระราชพงศาวดารแต่ละฉบับล้วนระบุเอาไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (หรือที่ใครต่อใครมักจะเรียกกันว่า พระเจ้าอู่ทอง) ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 และอันที่จริงแล้ว ท่านก็ได้ระบุลงไปชัดๆ ด้วยว่า อโยธยา ก็คือ “ละโว้” หรือ “ลพบุรี” นั่นเอง

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยว่า อโยธยา คือลพบุรี หรือเปล่าก็ตาม แต่ อ.ศรีศักร ยังได้อธิปรายถึงความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนผ่านความเป็น “อโยธยา” ไปสู่ความเป็น “อยุธยา” ว่า อโยธยา หรือลพบุรี คือส่วนหนึ่งของความเป็นอยุธยาเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นอยุธยาเสียหน่อย ผ่านทางเอกสารจีนยุคราชวงศ์หมิง และหลักฐานที่สอดคล้องกันจากพงศาวดารทางฝั่งไทยดังความที่ว่า

“…หลักฐานจากจดหมายจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่ว่า “เสียมก๊ก” (สุพรรณภูมิ) และ “หลอฮก” (ละโว้) ที่หมายถึงอโยธยารวมกันเป็น “เสียมหลอฮกก๊ก” ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากภายในพระราชพงศาวดารอยุธยาที่ว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเป็นพระราชบุตรเขยของกษัตริย์เมืองสุพรรณภูมิ และสมัยต่อมาพระมหากษัตริย์ทางสุพรรณภูมิก็ได้เข้ามาเป็นใหญ่ที่พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะแต่รัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราชลงมา…”

เรียกง่ายๆ ว่า ความเป็นอยุธยาก็คือ การที่อโยธยา หรือลพบุรีมาผสมผสานเข้ากับพวกเสียม หรือสุพรรณบุรี ที่ในเอกสารเก่าเรียกว่า สุพรรณภูมินั่นแหละ

 

อ.ศรีศักร เปิดประเด็นมาตั้งแต่ต้น (อย่างที่ผมยกเอาข้อความมาให้อ่านกัน) แล้วนะครับว่า ภายหลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สายลพบุรี ได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงเมืองสุพรรณบุรี พัฒนาการของบ้านเมืองอยุธยานั้นก็ “ดูเหมือนจะเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกเป็นส่วนใหญ่”

ฝั่งตะวันตกที่ว่า หมายถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็หมายถึงอาณาบริเวณภายใต้ปริมณฑลที่คาบเกี่ยวอยู่กับสุพรรณบุรีนั่นเอง

ลักษณะอย่างนี้ยังสอดรับกันกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า “ต่อมา พระมหากษัตริย์ทางสุพรรณภูมิก็ได้เข้ามาเป็นใหญ่ที่พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะแต่รัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราชลงมา…”

ดังนั้น เมื่อ อ.ศรีศักร ได้อธิบายต่อไปว่า “…ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อยและแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือท่าจีนด้วยเส้นทางคมนาคมขุดคลองเชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีนระหว่างพระนครศรีอยุธยาและเมืองสุพรรณบุรี…”

ก่อนที่ท่านจะลำดับ และบอกเล่าถึงรายละเอียดของลำน้ำต่างๆ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางจากกรุงศรีอยุธยา กับเมืองสุพรรณบุรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซับซ้อนของลำน้ำเก่า-ใหม่ การขุดคลองลัด (ซึ่งก็เทียบได้กับการสร้างทางด่วนในปัจจุบัน) ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงภาพของการเติบโตขึ้นของอยุธยา ผ่านปฏิสัมพันธ์กับเมืองสุพรรณบุรีที่แน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ จนทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขนานใหญ่ขึ้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือปริมณฑลทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา

สิ่งที่เห็นจากข้อความเพียงแค่ไม่กี่ย่อหน้า หลังจากที่ผมเลือกเปิดหาอ่านส่วนที่หนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” เล่มนี้ของ อ.ศรีศักร กล่าวถึงในส่วนของกรุงศรีอยุธยานั้น ทำให้ผมเห็นถึงพลวัตที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขต่างๆ ในช่วงเวลานั้น

อยุธยาค่อยเปลี่ยนผ่านจากรัฐจารีตในยุคโบราณของอุษาคเนย์ อย่างละโว้ หรือลพบุรี (ที่ อ.ศรีศักร ว่าคือ อโยธยา) อันเป็นรัฐในปริมณฑลอำนาจ และวัฒนธรรมของเมืองพระนครหลวง (นครธม) ที่เสียมเรียบ ริมขอบตะวันตกสุดของตนเลสาปเขมร ในประเทศกัมพูชา มาผสมผสานเข้ากับสุพรรณบุรี และค่อยกลายเป็นอยุธยาเองผ่านทางการสร้างบ้านแปงเมือง จนค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้น ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ลอยลงมาจากฟ้า

แต่จำนวน 358 หน้าของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ว่าเฉพาะแค่เรื่องของอยุธยา (เฉพาะที่ผมหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังนั้น ผมนำมาจากกระดาษแค่เพียง 2 หน้าเท่านั้น)

แต่ยังประกอบไปด้วย บ้านเมือง และรัฐอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศไทย และบางส่วนก็พาดพิงถึงดินแดนในประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากประสบการณ์ และความคมคายทางความคิดที่ อ.ศรีศักร เคยได้สำรวจไม่ว่าจะดูด้วยตา หรือเดินด้วยตีน ไว้จนหมดสิ้น

“สร้างบ้านแปงเมือง” เล่มนี้ของ อ.ศรีศักร จึงไม่ใช่แค่ตำราหรอกนะครับ แต่เป็น “คัมภีร์” ที่บรรจุประสบการณ์สำรวจเมืองโบราณทั้งชีวิตของท่านเอาไว้ต่างหาก