จับเข่าคุย “พ่อบ้านพรรคก้าวไกล” ตอบคำถามทำไมเร่งเปิดสภา โต้ข้อหา “ฝ่ายค้าน” ตีกินการเมือง

ทําไมพรรคก้าวไกลถึงพยายามผลักดันเรื่องของการเปิดสภา เป็นคำถามที่ประชาชนทั่วไปสงสัยและอาจจะคล้อยตามการให้สัมภาษณ์จาก ส.ส.หรือคนในซีกพรรครัฐบาลว่า “ยังไม่จำเป็น” หลายอย่างรอได้ และไม่ควรวางใจสถานการณ์โรคระบาด

จึงจำต้องจับเข่าคุยกับชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่าทำไมพรรคถึงพยายามผลักดัน “ประเด็นนี้” ทุกวัน

ชัยธวัชฉายภาพว่า การที่พรรคพยายามให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยที่ไม่ต้องรอในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาบทบาทการจัดการของรัฐบาลตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของการระบาดโรค รัฐบาลประเมินผลกระทบและปัญหาของประชาชนในสถานการณ์แบบนี้ต่ำเกินไปและช้าเกินไปในหลายเรื่อง

หลายอย่างมีลักษณะเหมือนกับว่าไม่ได้มีการประเมินล่วงหน้ามาก่อนว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางไหน

ไม่เคยคิดอย่างรอบด้านและไม่เคยเตรียมมาตรการรองรับไว้ล่วงหน้าเลย

บางครั้งทำงานในลักษณะลิงแก้แหไปเรื่อยๆ มีการชักเข้าชักออก

ดังนั้น เราก็เลยมองเห็นว่าสภาควรจะต้องเปิดสมัยวิสามัญ พวกเราเสนอพูดกันมาเป็นเดือนแล้ว

พรรคก้าวไกลมองว่า การที่สภาเปิดเร็วขึ้น 1 เดือนหรืออย่างน้อยๆ 3 สัปดาห์ย่อมมีประโยชน์แน่นอนกับสถานการณ์แบบนี้ เพราะว่าสภาจะช่วยรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนที่หลากหลาย

อีกประการหนึ่ง คือการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 เม็ดเงินมันรวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท เป็นการใช้เงินก้อนที่ใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์

ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน โดยที่ไม่มีการกำหนดให้สภาเห็นชอบก่อนการใช้จ่ายเงิน ต่างกับยุคก่อนรัฐบาลทหาร ก่อนหน้านั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หรือยุคพรรคเพื่อไทย จะให้สภาเห็นชอบการใช้จ่ายก่อนเสมอ

แต่ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ไม่ให้สภาได้ให้ความเห็นชอบก่อน เราก็ยังเห็นว่า ก่อนที่เงินมันจะใช้จ่ายไปหมดโดยที่จะแก้ไขปรับปรุงอะไรไม่ได้แล้ว เสียงสภาควรจะได้สะท้อน ว่าที่ผ่านมามาตรการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมอะไรบ้าง ยังมีปัญหาให้ควรแก้ไขอะไรบ้าง

สิ่งนี้เราก็หวังว่าบทบาทของสภาช่วงนี้จะช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์แบบนี้ได้

เราไม่ต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงแค่ “ตรายาง” เพื่อแสตมป์รับรองการกู้เงินของรัฐบาลแล้วก็ใช้จ่ายโดยที่ไม่มีความรับผิดชอบไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วน พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 เป็นอีกเหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอให้เร่งเปิดสภาวิสามัญ เพราะเรามองว่างบประมาณซึ่งจะเกลี่ยมาได้ 1 แสนล้านบาท ถ้าออกได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ มันก็จะได้ใช้เร็วเท่านั้น และทำให้ปัญหาประชาชนสามารถคลี่คลายได้ดีมากขึ้น

ช่วงนั้นเราเคยเสนอตั้งแต่แรกเลยว่าก่อนจะกู้เงิน ขอให้เกลี่ยงบประมาณออกมาก่อน ตอนนั้นถ้าประชุมตั้งแต่เดือนเมษายน ในเดือนพฤษภาคมเราอาจจะได้ใช้เงินก้อนนี้แล้ว

แต่ตอนนี้ถ้ามารอให้สภาเปิดสมัยสามัญประชุมจริงๆ ปลายเดือนพฤษภาคม กว่าจะได้ใช้เงินที่มาจากปีงบประมาณ 2563 ขั้นตอนต่างๆ อาจจะล่วงเลยไปถึงปลายเดือนมิถุนายนก็เป็นได้

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราเร่งให้เปิดสภา และก็มีแนวโน้มชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปิดสภา

ผู้แทนของฝั่งรัฐบาลก็พยายามออกมาพูดชัดเจนว่าไม่เห็นความจำเป็น

พวกเราก็ยังยืนยันว่ามีความจำเป็นมากเพราะประชาชนมีความเดือดร้อนมากขึ้นทุกวัน

หลายคนในซีกรัฐบาลอ้างว่าให้รออีกนิดเดียวก็ได้บางคนก็อ้างเรื่องสุขภาพหรือการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ระบาดของโรค

ผมเห็นว่าทางประธานสภา ชวน หลีกภัย ออกมาให้ความเห็นว่าสภาพร้อมใช้งาน ผมคิดว่าสภาน่าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในการเริ่มคลายล็อกสามารถดำเนินกิจกรรมใกล้เคียงปกติได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เรายังคงป้องกันทางสาธารณสุข

ฝ่ายค้านเราเสนอว่าในสภาสมัยวิสามัญไม่จำเป็นจะต้องประชุมให้เต็มคณะ สามารถตกลงกันให้มีการประชุมให้ครบองค์ประชุมก็พอ

การอ้างเรื่องไวรัสมันเป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไหร่ คิดว่าเจตนาของรัฐบาลคือไม่ต้องการการตรวจสอบการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสภาผู้แทนราษฎร นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง

ใครที่บอกว่าอีกไม่ถึงเดือนควรจะรอได้ ผมคิดว่าคนในสังคมทุกวันนี้รับรู้ดีว่าเดือนเดียวก็รอไม่ได้ ยังมีคนมากมายที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองจะได้เงินหรือไม่ได้เงิน การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะทำอย่างไร วันเวลาผ่านไปรอไม่ได้ ทุกสิ้นเดือนหลายครัวเรือนไม่มีเงินจ่ายหนี้สิน ไม่มีปัญญาจ่ายค่าเช่า ไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง สิ่งเหล่านี้มันรอไม่ได้

ล่าสุดเราเลยมองว่าถ้าเปิดสภาเมื่อไหร่เราจะเสนอญัตติด่วนให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญในการติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการในการแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ของรัฐบาล

เราคาดหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบติดตามและเสนอแนะการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล

การเสนอให้ตั้งกรรมาธิการชุดนี้เราไม่ได้เน้นเพื่อการตรวจสอบทุจริตอย่างเดียว แต่เราอยากจะให้กรรมการชุดนี้ติดตามการดำเนินมาตรการ การปฏิบัติทางราชการ ในการใช้งบประมาณว่ามีปัญหาหรือเปล่า

มันไม่ใช่แค่เรื่องของความโปร่งใส แต่เราต้องการให้เสียงของผู้แทนราษฎรสะท้อนความต้องการของประชาชนออกไป ในการตัดสินใจใช้เงินไปทำอะไร เขาจะมองสภาเพียงตรายางแจ้งให้ทราบเฉยๆ ไม่ได้ เราไม่เห็นด้วย

ก้าวไกลเราเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้มันต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งเยอะมาก

ช่วงนั้นมันเป็นวิกฤตของคนข้างบนลงมาผู้ประกอบการข้างล่าง และผลของวิกฤตก็อาจจะยังมีข้อดีในทางกลับกันคือเปิดให้ธุรกิจใหม่ๆ ได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมามีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ในช่วงก่อนหน้าเข้ามาแข่งขันได้

แต่วิกฤตโควิดครั้งนี้มันตรงกันข้ามกันเลย สิ่งที่เรากำลังติดตามดูอยู่ด้วยความเป็นห่วงก็คือ เราเห็นว่าตอนนี้รัฐบาลพยายามจะชูความสำเร็จมิติทางด้านสาธารณสุขว่ามีคนติดเชื้อลดลงมากๆ จนแทบไม่เหลือแล้วในแต่ละวัน

แต่วิกฤตที่มันซ้อนวิกฤตก็คือด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลไม่ได้เตรียมตัว เราก็มองเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้รู้เรื่องหรือเตรียมล่วงหน้าแล้วว่าจะมีมาตรการอย่างไร

สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือ มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงว่าปัญหานี้มันจะไม่ใช่อาการช็อกทางเศรษฐกิจระยะสั้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

แต่มันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมไทยไปเลย

ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ จะประคับประคองอย่างไรไม่ให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นลูกจ้าง คนทำงานในระบบ นอกระบบ ครอบครัวต่างๆ ที่เขามีปัญหาหนี้สินและมีค่าใช้จ่ายอยู่เต็มไปหมด ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดเล็กทำให้พวกเขาได้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตนี้

แต่ปรากฏว่าหลังวิกฤต ทุนขนาดกลางขนาดเล็กล้มลงเป็นส่วนใหญ่

ครอบครัวหลายครอบครัวไม่สามารถรับมือปัญหาเศรษฐกิจได้ แล้วก็ชีวิตพลิกผัน ล้มละลาย มีค่าใช้จ่ายหนี้สินรอเต็มไปหมด

บางครอบครัวก็ต้องเตรียมเงินเพื่อหามาให้ลูกในภาคการศึกษา เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีอีกกี่ครอบครัวที่มีเด็กต้องหลุดจากโอกาสทางการศึกษาไปเลย

นี่ไม่ใช่เพียงแค่อาการช็อกทางเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ทั้งหมดของสังคมไทยหลังวิกฤตนี้จะเปลี่ยนโฉมไป

ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะสูงมากขึ้นกว่านี้ คนชนชั้นกลางระดับกลาง ระดับล่างอาจจะต้องหายไปจำนวนมาก ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมอย่างมหาศาล ธุรกิจที่เหลือคือรายใหญ่ๆ

จากเดิม “หน้าตาของระบบเศรษฐกิจไทย” ที่รวมศูนย์อยู่แล้ว มีทุนใหญ่ๆ ผูกขาดไม่กี่เจ้า มันจะยิ่งทำให้สภาวะแบบนี้เข้มข้นขึ้นไปอีก

นี่เป็นสิ่งที่เราห่วงและกังวลมาก เราเห็นว่าการใช้งบประมาณของรัฐควรจะมีเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อจะมาแก้ปัญหาทั้งหมดนี้

อย่าง พ.ร.ก.ที่จะออกมา ปล่อยกู้ให้กับสถาบันทางการเงินที่จะให้ SME กู้อีกทีหนึ่งเพื่อให้เขารักษาสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ

เราจะเห็นว่าไม่มีมาตรการออกมาช่วยระดับล่าง ระดับกลางเลย

เราเห็นมีแต่แนวโน้มที่เป็นไปได้สูงว่าผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากซอฟต์โลนตรงนี้ เป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารมีสายป่านยาว

คนขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จะต้องล้มหายตายจากไปอีกเท่าไหร่

หากไปศึกษาดูจะมีเงื่อนไขในหลายประเทศกำหนดไว้เลยว่าจะต้องไม่ไล่คนงานออก ต้องรักษาสภาพการจ้างไว้

เป็นตัวอย่างที่เห็นว่ารัฐบาลเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เลย

แม้ว่าจะมีเสียงสะท้อนจากฝั่งรัฐบาลว่า ฝ่ายค้านอย่าหวังหรือคิดเอาแต่เล่นการเมืองในยามนี้ เลขาธิการพรรคก้าวไกลมองว่า การที่พยายามออกมากล่าวหาฝ่ายค้านในเรื่องเหล่านี้ผมคิดว่ารัฐบาลหนีการตรวจสอบไม่ฟังเสียงประชาชน

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การเมืองมันสัมพันธ์กันอย่างมากกับการจัดสรรทรัพยากร ว่าใครจะได้ใครจะเสีย จะได้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

และถ้าระบบรัฐสภามันทำงานได้ดี ระบอบประชาธิปไตยเดินไปได้ดี คนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์

แต่ถ้าเป็นสภาพที่ไร้การตรวจสอบ ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงกันเลย เราก็ไม่แน่ใจว่าคนกลุ่มเล็กๆ ในรัฐบาลหรือเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในรัฐบาลนี้จะใช้เงินและใช้มาตรการต่างๆ ไปให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือคนส่วนน้อยที่คอยสนับสนุนรัฐบาลกันแน่

ชมคลิป