อภิญญา ตะวันออก : กว่ามาเป็น “ลี บุนยึม” เทพเจ้านักสร้างภาพยนตร์เขมร

อภิญญา ตะวันออก

แต่เดิมเนียงขญมเคยคิดมาตลอดว่าต้นกำเนิดภาพยนตร์เขมรในต้นทศวรรษที่ 60 นั้น มีต้นแบบมาจากพระปรีชาชาญใน พระบาทนโรดม สีหนุ ตามที่เอกสารระบุไว้

ต่อเมื่อได้ศึกษาชีวิตชายคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ลี บุนยึม ฉันก็พบกับแรงบันดาลใจในศาสตร์ภาพยนตร์อย่างเหลือที่จะกล่าว และคิดว่า ไม่มีใครจะเหมาะกับสมญา “เทพเจ้านักสร้างภาพยนตร์กัมพูชา” (1960-1975)

และสำหรับลี บุนยึม ผู้กุมความสำเร็จแห่งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์เขมรมาเกือบทั้งหมด

ชีวิตธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของลี บุนยึม (เขียนแบบฝรั่งเศสว่า ลี บุน-ยึม) นี้ เพียงย้อนรอยชีวิตของเขา เราก็จะพบกับองค์ประกอบแห่งความเคลื่อนไหวในแวดวงภาพยนตร์เขมรตั้งแต่ต้นจนจบ

เกิดปี ค.ศ.1942 ในครอบครัวชาวนาจังหวัดกำปงจาม เริ่มต้นศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ เป็นที่รักของพระครูที่เอ็นดูเขา จนทำให้เด็กชายบุนยึมประกาศตนถือศีล 5 ตั้งแต่นั้น

ลี บุนยึม ยังดื้อรั้นทุกอย่างที่เกี่ยวกับการศึกษาเมื่อเขาเลือกโรงเรียนรัฐระบบฝรั่งเศสแทนโรงเรียนจีนของบิดา เมื่อจากโรงเรียนวัดไปสู่ชั้นเตรียมประถมพรีแมร์สคูล (primaire) แบบฝรั่งเศสจนระดับมัธยม

วันหนึ่ง ขณะไปลิเซ่-ที่มัธยมสีหนุกำปงจาม เด็กชายบุนยึมได้พบกับคณะยูซิส-แผนกข่าวสารอเมริกัน (United States Information Service) ที่มาแนะนำโครงการประกวดภาพถ่ายไปสหรัฐ

แปลกดี ที่คณะสมัยนั้นมักพากันควานหาช้างเผือกแห่งวงการศิลปะเขมร โดยเริ่มต้นที่กำปงจามเป็นด่านแรกๆ ดังที่พบกับคณะละครพูดดังที่อัญเจียแขฺมร์เคยตีพิมพ์มาแล้ว แต่เมื่อดูจากไทมไลน์ก็พบว่าคณะยูซิสของอเมริกันนี้ต่างหากที่ริเริ่มไว้ก่อนหน้า

ส่วนลี บุนยึม ก็เป็นเด็กวัดที่ไม่เคยดูละครละเม็งหรือศาสตร์ศิลปะแขนงใด แต่ความที่อยากได้รางวัล ลี บุนยึม จึงลองยืมกล้องของครู ลงมือถ่ายรูป ล้างฟิล์มและอัดภาพจากคู่มือภาษาฝรั่งเศสที่เขายืมครูมาศึกษาเอง จากนั้นก็ส่งประกวด

และภาพถ่ายของเขาก็ชนะรางวัลที่ 1 จากภาพ “คนเขมรขี่ควายที่มีผ้าขาวม้าคาดหัว และสูบยาเส้น”

 

แต่จะโชคบันดาลหรือไม่ เมื่อลี บุนยึม เด็กหนุ่มเขมรเล่าว่า เขาได้อาศัยชนบทเขมรที่มืดมิดนั่นให้กลายเป็นที่ทดลองอัดรูปต่างๆ ที่ตนเสกมันอย่างสำเร็จ นับว่าประหลาดทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยกล้องราคาถูก และอัดภาพเหล่านั้น นำไปฝากขายที่ร้านหนังสือ จาก 10 รูป เป็น 100 รูป

ลี บุนยึม ยึดอาชีพทำโปสการ์ดขายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมสะสมสมัยนั้น

เขาต้องการอุปกรณ์ทำภาพ (agrandisseur) แต่ขาดทรัพย์ จึงคิดทำเครื่องอัดล้างด้วยตัวเอง

ต่อมาเมื่อเห็นแม็กกาซีนจากหนังสือฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์เป็นภาพสี ลี บุนยึม เริ่มศึกษาเทคนิคผสมเคมีเป็นสีต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบปริศนาเหล่านั้น

ทำให้ผลงานของเขาไปสะดุดตาห้างถ่ายภาพแปร็กสันแดกซึ่งมีอุปกรณ์ล้างอัดรูปราคาแพง ทว่ากลับสู้ผลงานเด็กบ้านนอกคนนี้ไม่ได้

ในที่สุด ห้างแปร็กสันแดกก็ขอซื้อเครื่องและวิธีอัดภาพแบบลี บุนยึม ไปใช้งาน

การได้เงินก้อนโตคราวนี้ ทำให้ลี บุนยึม ตัดสินใจไปเรียนต่อปีสุดท้ายที่ลิเซ่สีโสวัตถิ์-กรุงพนมเปญ เนื่องจากมีครูคณิตเก่งๆ การวางแผนเรียนวิศวกรที่ต้องไปเรียนต่อฝรั่งเศสร่วม 10 ปี ทำให้ลี บุนยึม คิดหาเงินตอบแทนบุญคุณพ่อ-แม่ไปก่อนระหว่างนั้น ด้วยการเปิดร้านขายยา (D?p?t de phamacie) ชื่อพระชินวงศ์โอสถ

บุนยึมเล่าว่า สมัยอยู่กำปงจาม เขาเคยฉีดยาดูแลพี่ชายและคนอื่นๆ ในบ้านยามป่วยไข้ โดยอาศัยตำรับแพทย์ฝรั่งเศสที่ตนอ่านอย่างแตกฉาน และยังใช้ตำราเล่มนั้นสอนพี่ชายอีกทีเพื่อให้เขาเป็นเภสัชกร

ส่วนตนทำหน้าที่สอบถามอาการลูกค้าและจ่ายยาจากสภาพอาการ จนกิจการรุ่งเรือง ส่งเงินทองตอบแทนพระคุณพ่อ-แม่ตามที่ตั้งใจ

เหมือนคนเขมรในเมืองเวลานั้น ที่นิยมไปดูหนัง ในปี 1960 นั้นพนมเปญมีบริษัทผลิตภาพยนตร์เขมรแล้ว และภาพยนตร์เรื่อง “ปกป้องสาวพรหมจารีย์” (Protect the poor virgin girl) ของนาคพันแสงโปรดักชั่นโดยซึน บุนลี ที่ฉายพนมเปญเพชรราม่านั้นก็ประสบความสำเร็จทำรายได้งดงาม จนแม้แต่เจ้าของโรงหนังญาติห่างๆ ของลี บุนยึม ก็ยังร่ำรวยจากแบ่งรายได้

กระนั้น ดูจะมีแต่ลี บุนยึม คนเดียวที่ไม่ถูกใจและวิจารณ์หนังว่า “ไม่มีอะไรให้แฟนตาซี!”

ด้วยความรู้สึกขัดเคืองที่ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้ลี บุนยึม ถึงกับประกาศขายพระชินวงศ์โอสถและเปลี่ยนใจไม่ไปเรียนต่อ

 

ลีบุนยึม หอบเงินจากกิจการร้านขายยา เขาแบ่งให้แม่ 8 ส่วนและเก็บไว้เอง 2 ส่วนเพื่อเดินทางไปฮ่องกง

พอเห็น Piyard Bolex : กล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาด 16 ม.ม. ครั้งแรกก็ซื้อพลันอย่างไม่ลังเล รวมทั้งฟิล์มโกดักที่การันตีการล้างฟรีที่ฝรั่งเศส

ลี บุนยึม อยู่ฮ่องกงอีก 7 วัน เพื่อทดลองใช้กล้องตัวนั้นจนหมดฟิล์มไป 1 ม้วน ก่อนส่งไปรษณีย์ตามที่อยู่ของโกดัก และทันทีที่ฟิล์มส่งคืนมายังที่พนมเปญ ลี บุนยึม ไปแผนกยูซิส เช่าเครื่องโปรเจ็กเตอร์ในราคาไม่กี่เรียลเพื่อฉายหนังของตัวเองซ้ำไปซ้ำมาพร้อมกับจดบันทึกการถ่ายทำ ระยะภาพและแสงเงา

ในที่สุด ตำราถ่ายหนังฉบับของเขาก็เกิดขึ้น ราวกับมนต์อาคมที่เขาเสกมันชั่วพริบตา!

ดูเหมือนว่าโลกภาพยนตร์ของลี บุนยึม จะเริ่มแล้วเมื่อการเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องดั้นด้นไปร่ำเรียนในต่างแดน ซึ่งลี บุนยึม ยืดอกอย่างภาคภูมิว่า ในบรรดาผู้กำกับฯ เขมรยุคเดียวกับตนนั้น

เขาเป็นคนหนึ่งของแถวหน้าและไม่พ่ายแพ้ใคร!

 

ทว่าเมื่อหนุ่มน้อยลี บุนยึม ที่สุดจะโนเนมประกาศสร้างภาพยนตร์แอ๊กชั่นทันสมัยเรื่อง “Runteas Kroursa” (ครอบครัวตัวเสน่ห์) ก็สร้างความประหลาดใจ ด้วยการประกาศคัดเลือกนักแสดง จนมีคนแห่แหนไปสมัครจำนวนมาก

แต่ที่เกินคาดกว่านั้นก็คือ การที่ลี บุนยึม เลือกเปิดเจรจาให้คนทั้งหมด 30 คนที่เขาคัดไว้ โดยไม่มีใครเลยที่มีความรู้ด้านภาพยนตร์ เขาให้ทั้งหมดมาเป็นหุ้นส่วนโปรดักชั่น และเมื่อหนังออกฉาย พวกเขาก็จะได้ส่วนแบ่งจากรายได้

จากนั้นการคัดนักแสดงก็ตามมา มีซาน โมนี-นาเอก, ซอ เมียะ-ตำรวจมือปราบ, ครูหนุ่มคนหนึ่งเป็นตัวร้าย ส่วนเขาเองนั้น ยอมทุ่มเทสวมบทบุน เทือน-พระเอกของเรื่อง ที่เขาจะแสดงและกำกับฯ เป็นครั้งแรก!

ลี บุนยึม ยังกล่าวอีกว่า นอกจากเขียนบท คอสตูม-ฝ่ายเสื้อผ้า ซาวด์-เทคนิคภาพ กำกับฯ และเอฟเฟ็กต์ รวมทั้งงานโปรดักชั่นคิวบู๊ต่างๆ แล้ว ยังมีหน้าที่อีกสารพัดนึกที่ตนต้องลงไปกำกับจัดการดูแล เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยเฉพาะการถ่ายทำที่ไม่สิ้นเปลืองเนื้อฟิล์ม เช่น :

พอตะโกน แอ๊กชั่น!

ลี บุนยึม ก็กระโจนไปในฉากและแสดงฉากนั้น จากนั้นเขาก็ตะโกนสั่ง “คัต” และวิ่งกลับมาที่กล้องเพื่อกดปุ่มหยุดภาพ โชคดีที่เป็นกล้องระบบอัตโนมัติ ทำให้เขาสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ กระทั่งเริ่มเซ็ตทีมงานฝ่ายต่างๆ เป็นลำดับ

สำหรับกองถ่าย “ครอบครัวตัวเสน่ห์” (Runteas Kroursa) ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้จดจำ

แต่ใครเล่าจะเชื่อว่า แรงบันดาลใจภาพยนตร์เรื่องแรกของลี บุนยึม มีที่มาจากหนังไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในกัมพูชา!

เครดิต : ryum