วิเคราะห์ : “น้ำโขงเหือดแห้ง” งานศึกษาล่าสุดและการลุกขึ้นโต้ของจีน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ศึกแม่น้ำโขง (1)

วิกฤตการณ์เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด

เบียดข่าวน้ำในแม่น้ำโขงแห้งเหือดหนักสุดรอบทศวรรษจนหลุดกระเด็นกลายเป็นข่าวชิ้นเล็กๆ ในสื่อกระแสหลัก

ทั้งที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงค่อนข้างรุนแรงหนักหน่วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

กระทั่งถึงวันนี้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

แม่น้ำโขงแห้งเหือดยังเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อสองมหาอำนาจผู้ทรงอิทธิพลโลกทั้งฝ่ายจีนและสหรัฐต่างแย่งชิงพื้นที่ข่าวเพื่อตอบโต้ซัดกันชนิดมันหยด

ศึกแม่น้ำโขง เริ่มขึ้นเมื่อบริษัทอาย ออน เอิร์ธ และบริษัทโกลบอล เอ็นไวรอนเมนทัล แซตเทลไลต์ แอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันเปิดเผยศึกษาการติดตามปริมาณการไหลของน้ำผ่านลุ่มน้ำโขงตอนบน ที่มาจากการเก็บวิเคราะห์ข้อมูลผ่านดาวเทียมและมาตรวัดระดับน้ำที่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสน จ.เชียงราย พบว่าจีนกักน้ำเป็นปริมาณมหาศาล ขณะที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างรวมทั้งไทยพากันเดือดร้อนหนักเพราะน้ำแล้ง

ผลการศึกษาระบุว่า ปัจจุบันระดับความสูงของแม่น้ำ 126.44 เมตรลดลงไปจากที่วัดได้ตรงสถานีอุทกวิทยาเชียงแสนในรอบ 28 ปี เป็นช่วงที่บริษัทหัวเหนิง ล้านช้าง ไฮโดรเพาเวอร์ รัฐวิสาหกิจของจีนสร้างเขื่อนหลายแห่งบนลุ่มแม่น้ำโขงสายหลัก

ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะปริมาณน้ำฝนมาก และกักเก็บไว้ในสภาพน้ำแข็งตลอดทั้งปีจนกระทั่งก้อนหิมะและธารน้ำแข็งเริ่มละลายในปลายฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน

เมื่อหิมะเริ่มละลาย น้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในก้อนหิมะ แต่ในช่วงกลางคืนก็กลับมาเป็นน้ำแข็ง กระบวนการละลายในระหว่างวันและกลับเป็นน้ำแข็งตอนกลางคืนจะดำเนินต่อไปจนกว่าก้อนหิมะจะอิ่มตัวด้วยน้ำและอุณหภูมิในตอนกลางคืนยังคงสูงกว่าจุดเยือกแข็ง

ในขั้นตอนนี้ก้อนหิมะที่อิ่มน้ำได้ที่จะเริ่มปล่อยน้ำปริมาณมากลงสู่พื้นดิน ขณะที่น้ำบางส่วนไหลผ่านพื้นผิวไปยังลำธารในท้องถิ่น

มีการบันทึกไว้ในการศึกษาบางชิ้นว่ากระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ก่อนที่ก้อนหิมะจะชุ่มน้ำได้เต็มที่

ซึ่งในเวลานั้นจะมีการปล่อยน้ำปริมาณมากลงสู่แอ่งน้ำ

 

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลในปี 2535 จนถึงกันยายน 2562

เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลจีนสร้างเขื่อนราว 10 เขื่อน แต่ละเขื่อนมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนต้าเฉาชาน มีอ่างเก็บน้ำความจุกว่า 940,000,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเขื่อนเสี่ยววาน มีอ่างเก็บน้ำความจุ 15,130,000,000 ลบ.ม.

ข้อมูลจากปี 2549 และ 2552 แสดงให้เห็นถึงน้ำที่ลดลงตรงสถานีวัดเชียงแสนตรงกับช่วงเวลาที่น้ำต้นน้ำถูกควบคุม อีกทั้งระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงในช่วงฤดูหนาวเพื่อรองรับการผลิตพลังงานในช่วงฤดูแล้ง

หนึ่งในผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 2562 ที่แม่น้ำโขงตอนล่างมีระดับน้ำต่ำที่สุดที่เคยมีมา เมื่อใช้ดัชนีความชื้นคาดการณ์การไหลตามธรรมชาติจะเห็นได้ว่ามีการไหลตามธรรมชาติสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่มาจากแม่น้ำโขงตอนบนหรือที่เรียกว่าแม่น้ำล้านช้างในช่วงที่ไหลผ่านดินแดนสิบสองปันนา

ส่วนต่างของระดับน้ำที่วัดได้กับการคาดการณ์แสดงให้เห็นถึงการไหลของน้ำที่มากเกินไปในฤดูแล้ง คาดว่าน่าจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าในต้นปี 2562

ขณะที่การไหลในช่วงฤดูฝนถูกควบคุมอย่างรุนแรง

การขาดน้ำอย่างรุนแรงในแม่น้ำโขงตอนล่างในช่วงฤดูฝนของปี 2562 ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากการควบคุมของน้ำที่ไหลจากแม่น้ำโขงตอนบนในช่วงเวลานั้น

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ปริมาณน้ำถูกกักไว้ในอ่างเก็บน้ำหรือถูกตัดตอนแยกจากต้นน้ำตอนบนของเชียงแสนด้วยวิธีการต่างๆ

 

จีนแสดงปฏิกิริยากับผลการศึกษาชิ้นนี้อย่างเผ็ดร้อนผ่านบทความที่มีชื่อว่า “7 คำถาม 7 คำตอบ สำหรับการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย

ในคำเกริ่นของบทความซึ่งไม่มีชื่อผู้เขียน ได้แขวะผู้จัดทำการศึกษาว่าได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศนอกภูมิภาค ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกา และมีเป้าหมายประสงค์ร้ายทางการเมือง

จีนอ้างว่า ทั่วโลกต่างก็ทำเขื่อน ทำอ่างเก็บน้ำ เปรียบเหมือนการออมทรัพย์ เอาเงินเหลือไปฝากธนาคารเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในวันข้างหน้า

ในยุโรป เช่น สวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ มีโครงการชลประทานในแม่น้ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐมีอ่างเก็บน้ำ 84,000 แห่ง แม่น้ำในสหรัฐ 96% ได้สร้างเขื่อน

หนังสือ “ฟ้าลิขิต” ซึ่งพิมพ์โดยสำนักงานแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ระบุว่า “หากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่มีโครงการชลประทานที่รัฐบาลสหรัฐลงทุน 14,000 ล้านเหรียญ นึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดภัยพิบัติ จะกลายเป็นประเทศโลกที่สาม ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการขนส่งและไม่มีฟาร์ม ชายฝั่งจะถูกน้ำท่วมและกัดเซาะ เป็นภาพที่พังพินาศอย่างยับเยิน

สหรัฐลงทุนสร้างเขื่อนในต้นน้ำที่แคนาดา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในแม่น้ำโคลัมเบียตอนล่าง

สำหรับแม่น้ำโขง 80% ของน้ำฝนตกลงมาในหน้าฝน แต่การพัฒนาโครงการชลประทานยังน้อยกว่าสหรัฐและยุโรปมาก ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

ประเทศในภูมิภาคได้สร้างโครงการชลประทานหลายแห่งในแม่น้ำสายหลักและสายย่อยของแม่น้ำโขง ซึ่งรวมเขื่อน 2 แห่งในสายหลักและเขื่อน 40 กว่าแห่งในสายย่อย เพื่อปรับระดับน้ำตามฤดู

 

ในบทความได้อ้างถึงไทยว่า หลังจากเกิดภัยแล้งปีนี้ รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณพิเศษในการสร้างโครงการชลประทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โครงการชลประทานจะทำให้น้ำในแม่น้ำตอนล่างเยอะขึ้นในหน้าแล้งและน้อยลงในหน้าฝน โดยผ่านการปรับระดับน้ำตามหลักวิทยาศาสตร์

บทความของจีนแจกแจงให้เห็นประโยชน์ของการชลประทานในการเพิ่มปริมาณน้ำในหน้าแล้งอีกทั้งยังอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำโขง ภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดยิ่งบ่อยขึ้น

“ทำไมจะไปเชื่อคำยั่วยุของคนที่มีเจตนาซ่อนเร้น มองข้ามประโยชน์เชิงบวกของโครงการชลประทาน และไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีโครงการชลประทาน” จีนตอบโต้ผ่านบทความ

นอกจากนี้ จีนยังโต้แย้งในประเด็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งภาคอีสานของไทย โดยอ้างเหตุว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนบนเหนือสถานีเชียงแสนขึ้นไปมีปริมาณน้ำเพียง 16%

ในเมื่อที่น้ำจากสายย่อยไหลเข้าแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขื่อนจีนจะมีบทบาทน้อยลงในการปรับระดับน้ำตั้งแต่เวียงจันทน์ลงไป

 

ประการที่สอง ภาคอีสานอยู่ห่างไกลจากจีน จังหวัดเลยซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดกับจีนห่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจิ่งหงประมาณ 900 กิโลเมตร เท่ากับขับรถจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ แล้วต่อไปถึงพัทยา

แม่น้ำล้านช้างไหลออกจากจีนแล้วต้องเดินทางไกล 900 กิโลเมตรจึงไปถึงภาคอีสานของไทยได้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเดินทางระยะทาง 900 กิโลเมตร

ในประเด็นที่ว่า “เขื่อนจีนในแม่น้ำล้านช้างกักเก็บและใช้น้ำเยอะ ทำให้ตอนล่างขาดแคลนน้ำ”

ผู้เชี่ยวชาญที่เขียนบทความตอบโต้ผ่านเว็บของสถานทูตจีนอ้างว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านเขื่อนจีนนั้น แทบไม่มีผลต่อปริมาณน้ำเลย

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใช้หลักการ “น้ำไหลเข้าเท่าไหร่ ก็ให้ไหลออกเท่านั้น แค่ปรับเวลาการปล่อยน้ำ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เก็บน้ำในหน้าฝนไปปล่อยในหน้าแล้ง”

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนบนมีบทบาทเชิงบวกในการบรรเทาความแห้งแล้งและส่งเสริมความมั่นคงระบบนิเวศในลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง

คำชี้แจงของทางการจีนต่อผลการศึกษาของบริษัทอาย ออน เอิร์ธและบริษัทโกลบอล เอ็นไวรอนเมนทัล แซตเทลไลต์ แอพพลิเคชั่น เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่อง เมื่อนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เขียนบทความโต้จีน

คราวหน้ามาว่ากันต่อ