จัตวา กลิ่นสุนทร : เมื่อมีความจำเป็นต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลานาน

ผมเป็นคนเกิดในชนบทกับครอบครัวค่อนข้างจะยากจน แต่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก เรียกว่าชานเมืองคงได้ เป็นบ้านสวน พ่อ-แม่ปลูกผลไม้หลายชนิดโดยเฉพาะมะม่วงอกร่อง

เป็นลูกชาวสวนเพราะที่บ้านเดิมเคยมีสวนมะม่วง พุทรา น้อยหน่า และ ฯลฯ เพราะฉะนั้น จึงมีวิชาความรู้เรื่องการเพาะปลูกต้นไม้ติดตัวมาบ้าง

เมื่อต้องโยกย้ายถิ่นฐานมาเป็นประชากรของกรุงเทพมหานคร หลังจากได้มีโอกาสพลัดหลงเข้ามาเรียนหนังสือจนจบออกมาประกอบอาชีพในเมืองหลวง ย่านที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานเป็นฝั่งธนบุรี แต่เดิมย่อมทราบกันดีว่าเป็นบ้านสวน มีผลไม้ หมาก มะพร้าว เงาะ ทุเรียน ส้มโอ ลิ้นจี่ และ ฯลฯ

บริเวณก่อสร้างบ้านพักอาศัยยังพอมีพื้นที่เหลืออยู่พอจะปลูกต้นไม้ได้บ้าง จึงทำหน้าที่เป็นคนสวนประจำบ้านเรื่อยมา

ประเภทผักสวนครัวจึงพอมีไว้สำหรับทำอาหารได้ ทั้งพริกขี้หนู ใบโหระพา ผักชีฝรั่ง

โดยเฉพาะกะเพรานั้นเพาะไว้ทั้งกะเพราแดงและขาว แทบไม่เคยได้ว่างเว้น

มีมากจนกระทั่งแบ่งปันเพื่อนบ้าน แม่ค้าขายกับข้าวละแวกซอยบ้านมักได้รับแจกจ่ายนำไปทำผัดกะเพรา ทำแกงป่า เพื่อขายให้ลูกค้าได้บ่อยๆ

 

วันที่ต้องหยุดตัวเองอยู่กับบ้านอย่างยาวนานด้วยเวลามากเกินกว่า 1 เดือน ต้องหาอาหารรับประทานทั้ง 3 มื้อ “ผัดกะเพรา” จึงเป็นอีกเมนูหนึ่งที่มาแบบถี่ๆ เพราะสามารถสับเปลี่ยนเป็นผัดกะเพราไก่ หมู เนื้อ และกระทั่งกับอาหารทะเล กุ้ง ปลาหมึก ปลา และ ฯลฯ ได้อย่างลงตัว ส่วนไข่ดาวขึ้นอยู่กับความชอบพอ แต่ถ้าไม่มีดูเหมือนว่าขาดอะไรไปสักอย่าง

ความจริงดีไปอย่างที่เกิดเป็นลูกชาวบ้านชาวสวนยากไร้ แม้ไม่ได้มีโอกาสเป็นคุณหนู เพราะต้องทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่เล็กๆ

บางช่วงตอนต้องดูแลตัวเองในทุกมิติกว่าจะเติบโตขึ้นมา อะไรๆ ที่เป็นงานสุจริตมีเวลาว่างจะขอทำทุกอย่างเพื่อจะได้เรียนหนังสือให้จบ

เพราะฉะนั้น คิดว่าได้เปรียบด้านประสบการณ์อันหลากหลาย กับแค่เรื่องทำกับข้าวจึงไม่ได้เป็นเรื่องยากเกิน

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมจะต้องหมุนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และไม่ได้ยึดอาชีพเปิดร้านขายอาหาร เพราะถ้าทำอย่างนั้นตามคำเชื้อเชิญชักชวนของเพื่อนพ้องทั้งหลาย ชีวิตอาจจะพลิกผันเปลี่ยนไปจากทุกวันนี้

ขนาดเข้าไปถือหุ้นทำธุรกิจ ผับ บาร์เหล้ายังหายไปหมด เรียกว่าทุนหายกำไรหด ทั้งๆ ที่ผลประกอบการออกมาค่อนข้างดี

 

เมื่อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ระบาดจึงต้องให้ความร่วมมือกับผู้บริหารบ้านเมืองเมื่อเขาขอให้เก็บตัวอยู่กับบ้าน นอกจากจะสั่งอาหารทางออนไลน์มากินโดยการสลับสับเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ แต่ละมื้อแต่ละวันจนวนไปมาซ้ำกันบ้างมันจึงเกิดการเบื่ออาหารตามมา

อีกอย่างหนึ่งในช่วงที่กรุงเทพฯ ถูกล็อกดาวน์ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป การสั่งอาหารโดยไลน์แมน (Line Man) หรือแกร็บ (Grab) ราคาก็เพิ่มสูงกว่าเก่า

รวมทั้งรสชาติอาหารถึงยังไงก็ไม่เหมือนไปนั่งกินที่ร้าน และไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร?

อันที่จริงแม่บ้านพยายามออกไปซื้อหาวัตถุดิบตามสถานที่เปิดซึ่งยังมีจำหน่ายหลายสิ่งอย่างตามประสาบ้านเราที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางอาหารโลกสบายๆ เอามาเก็บไว้บ้างเพื่อประกอบอาหารกินกัน โดยไม่ได้ถึงกับกักตุน เพราะจะว่าไปบ้านเราไม่มีความจำเป็น

แต่เพราะมันนานวันย่อมจะต้องเปลี่ยนเมนูบ้างธรรมดา ผัดกะเพราซึ่งเรามีวัตถุดิบอยู่แล้ว และทำไม่ยากในเวลารวดเร็วจึงเป็นอีกเมนูหนึ่งที่โผล่มาบ่อยไม่น้อยกว่าอาทิตย์ละ 2-3 มื้อ

ในยุคของโรคระบาดต่างก็มีคลิปออกมาเผยแพร่กันเยอะแยะไปหมดว่าอมเกลือก็ดี ดื่มน้ำขิงผสมต้นกระเทียมสด แม้แต่สมุนไพรของไทยเรา

รวมทั้งกะเพราก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ได้

 

ได้มาเห็นข้อเขียนของท่าน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ นักทำโพลสำรวจแห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ท่านเขียนเรื่องผัดกะเพราลงตีพิมพ์ใน “มติชนรายวัน” ฉบับวันอาทิตย์ เมื่อสักสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

มันตรงกับชีวิตที่อยู่กับบ้านของเราเป็นแรมเดือน ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นกระทั่งใบหน้าจะเป็นกะเพรากันทั้งบ้านอยู่แล้ว เป็นอาหารสิ้นคิดอย่างที่ท่านว่าไว้ เรียกว่ามันโดนใจพอดี เพราะคิดเมนูอะไรไม่ออกก็เดินลงไปตัดกะเพรายังสวนข้างบ้าน

จึงเห็นด้วยกับท่านว่าเป็นอาหารยอดฮิต (ที่บ้าน) ในยุคโรคระบาดโควิด-19 (Covid-19)

ข้อเขียนของอาจารย์บอกอีกว่า จากการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างประชาชน 424 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชน 31.60% นิยมผัดกะเพรา มันจึงเป็นอาหารจานด่วนที่นิยมกันโดยทั่วไป เรียกว่าเป็นอาหารสิ้นคิด แต่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง

อาหารชนิดนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ประเทศเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

สําหรับครอบครัวของเรานับว่าโชคดีที่ยังมีบ้านอยู่อาศัย มีทุนรอนที่เก็บออมไว้นำออกมาใช้จ่ายเพื่อประคองกันไปจนกว่าโรคระบาดจะผ่านพ้น ทั้งๆ ที่ธุรกิจเล็กๆ น้อยๆของลูกๆ จะต้องหยุดนิ่งสนิทหลายเดือน สาวน้อยที่บ้านก็หันมาช่วยกันทำขนมเพื่อขายทางออนไลน์ ใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็ตกงานแทบไม่มีจะกินมาช่วยกันวิ่งส่งแบบเดลิเวอรี่พอปะทะประทังชีวิตกันไปได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ถึงมันจะไม่พอเพียง

แต่ดีกว่านั่งงอมืองอตีนรอความหิวโหย ซึ่งในที่สุดเมื่อทนไม่ไหวก็ต้องออกไปรับแจกอาหารจากผู้มีจิตอันเป็นกุศล

นึกถึงภาพคนที่อยู่บ้านเช่าราคาถูกซึ่งบางทีแออัดกันจนแน่นเพราะความจน จะต้องหยุดทุกอย่างเพื่ออยู่กับบ้าน เขาจะอยู่กันได้อย่างไร?

งานก็ไม่มีจะทำ จึงไม่รู้จะเอาอะไรมากิน ยิ่งมีเรือพ่วงลำเล็กๆ ซึ่งยังต้องพึ่งนมอยู่จะยิ่งลำบากมากขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกเลยที่จะมีข่าวเข้ามาทุกทางเรื่องคนอดอยากยากแค้นถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ไม่นับคนที่หวังว่าตัวเองจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลจำนวน 5,000 บาทจากนโยบาย “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งกลายเป็นได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้ช้าไปบ้าง จะทำการประท้วงประชดประชันทำร้ายตัวเอง

จึงไม่เข้าใจจริงๆ ว่าวิกฤตครั้งนี้มันใหญ่โตถึงขนาดรัฐบาลต้องหาทางกู้เงินมาเป็นจำนวนมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันเป็นหนี้ติดตัวกันไปอีกนาน

ทำไมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บอกว่าตนเป็นนักการเมือง มาตามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงไม่คิดจะเปิด “สภาผู้แทนราษฎร” เพื่อใช้เป็นที่ระดมสมอง ความคิด ฟังคำชี้แนะเรื่องการบริหารจัดการใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินกู้ก้อนมหาศาลนี้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส

ผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลและบรรดาลิ่วล้อทั้งหลายที่คอยแต่เอาใจนายกรัฐมนตรี พยายามบอกว่าฝ่ายค้านอย่าเล่นการเมืองในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองกำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตเรื่องโรคระบาด

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าใจและสนใจการบ้านการเมืองกลับมองเห็น อ่านออกว่าซีกรัฐบาลต่างหากที่กำลังเอาสถานการณ์นี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอยู่ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจ ถนัดบริหารประเทศชาติแบบข้ามาคนเดียว

เรียนตามความเป็นจริงว่าไม่เคยมีความหวังกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมานานแล้ว เพราะเป็นชุดเดิมหลังจากทหารยึดอำนาจปี พ.ศ.2557

กระทั่งแปรรูปมาเป็นรัฐบาลปัจจุบันยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ผลก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 (Covid-19) ระบาด

ซึ่งต่อจากนี้ไปย่อมไม่มีความหวังอะไรเช่นเดิม เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจของบ้านเรามันดับแทบทุกตัว ต้องเริ่มต้นกระตุ้นเยียวยาใหม่

เฉพาะกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ยังไม่เคยเห็นนโยบายอันชัดเจน แหลมคม

 

รู้สึกหดหู่รันทดใจทุกครั้งที่เห็นข่าวประชาชนทั้งหลายออกมาเข้าแถวรอรับแจกอาหารทุกๆ วันจากเพื่อนร่วมชาติที่มีจิตใจอันเป็นกุศลเต็มไปด้วยเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องอับอาย

ประหลาดใจมากกับบ้านเมืองของเราว่าเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ยังไม่แน่ใจว่าเมื่อรัฐบาลผ่อนคลายค่อยๆ ปลดล็อกลงบ้างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านกับการประกอบกิจการงานทำมาหาเลี้ยงชีพในหลายๆ ธุรกิจ การจ้างงานจะกลับมาอย่างเดิมบ้างหรือไม่?

ธุรกิจได้ล้มหายตายจากกันไปกับแทบทั้งสิ้นคงยังต้องอาศัยเวลาอีกยาว การดำเนินชีวิตประจำวันจะต้องเปลี่ยนไปอย่างที่มีการวิเคราะห์กันว่าหลังวิกฤตโควิด-19 (Covid-19) ผ่านพ้นไปประชาชนทั่วไปจะต้องเริ่มต้น “ชีวิตวิถีใหม่” (New Normal)

เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยสูงวัย จึงเก็บตัวอยู่กับบ้าน แต่ยังมีกิจกรรมทำแก้เบื่อ เหงา หลายอย่าง เช่น การเขียนรูป อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และผัดกะเพรากินเป็นอาหารหลัก รอวันโควิด-19 (Covid-19) จากไป

รอรัฐบาลที่มีความสามารถ และโปร่งใส