ป่าหวายรำลึก

แม้การถึงอนิจกรรมของ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ด้วยโรคชรา สิริอายุรวม 96 ปี

จะถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ ระดับ “ข่าวสั้น”

แต่ก็ยังน่ายินดีที่ พล.อ.เทียนชัยมิได้ถูกสังคมลืม ขนาดไม่พูดถึง

พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ (19 มีนาคม พ.ศ.2467 – 3 พฤษภาคม พ.ศ.2563)

เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตหัวหน้าพรรคราษฎร

ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล

จบโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบกรุ่นที่ 5 (ตทบ.5)

รุ่นเดียวกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก, พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์, พล.อ.หาญ ลีนานนท์, พล.อ.ชำนาญ นิลวิเศษ, พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ

พล.อ.เทียนชัยเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษป่าหวาย จึงได้รับฉายา “เจ้าพ่อป่าหวาย”

ภาพจึงเป็นนายทหารนักบู๊ นิ่ง ดุ

ตอนรับราชการทหาร เคยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ปราบสลัดอากาศ

ยับยั้งการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง

ครั้งสำคัญคือ ปราบกบฏทหาร 9 กันยายน ซึ่ง พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร เชิดนายทหารนอกราชการอย่าง พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

หวังยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการไปราชการต่างประเทศ

พล.อ.เทียนชัยในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันต่อต้าน และควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา

อยู่ในกองทัพ พล.อ.เทียนชัยมีภาพ “ทหารนำการเมือง”

แต่ก็ไม่เคยนำทหารไปยุ่งเกี่ยวการเมืองอย่างเพื่อนร่วมรุ่น คือ พล.อ.อาทิตย์

จนหลังจากเกษียณอายุราชการ จึงได้ “ถอดเครื่องแบบ” เข้าทำงานทางการเมืองร่วมกับ พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ

ก่อตั้งพรรคสหชาติ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคราษฎร

แม้จะไม่ทะลุฟ้าถึงขนาดผงาดขึ้นเป็นนายกฯ

แต่เส้นทางการเมืองก็โดดเด่นพอตัว

ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ

แม้จะมีเลือดทหารเต็มตัว

แต่เมื่อเข้าสู่การเมือง พล.อ.เทียนชัยก็เลือกเดินแนวการเมืองนำทหารตลอด

และการเมืองนั้น

เป็นการเมืองแบบ “ประชาธิปไตย”

มิได้อาศัยทหารหรือกองทัพมาเป็นสปริงบอร์ดสู่อำนาจ

ขัดกับบุคลิก “เจ้าพ่อป่าหวาย” อย่างยิ่ง

นี่จึงเป็นเหตุให้เราควรต้องรำลึกการจากไปของ พล.อ.เทียนชัย

ในวันที่ทหารกลายพันธุ์เป็นนักการเมืองอย่างสลับซับซ้อน

ไม่ต่างกับการกลายพันธุ์ของไวรัส!