ฆราวาส บรรพชิต มองจาก พระกิตติวุฑโฒ ต่อ พุทธทาสภิกขุ

จาก อนันต์ เสนาขันธ์ ก็มาถึง พระกิตติวุฑโฒ ทั้งหมดล้วนมี “เป้าหมาย” เพื่อวิพากษ์และโจมตีท่านพุทธทาสภิกขุ

มิได้โจมตีอย่างธรรมดา หากโจมตีอย่างเอาการเอางาน

เพราะหนังสือที่ อนันต์ เสนาขันธ์ เขียนเล่มหนึ่ง คือ หนังสืออันเกี่ยวกับเรื่องราวของ “คอมมิวนิสต์” เรื่องราวของ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

สะท้อนบทบาทของ “ตำรวจ” นักปราบ “คอมมิวนิสต์”

ขณะเดียวกัน บทบาทของ พระกิตติวุฑโฒ คือ บทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้านขบวนการนักศึกษาในห้วงก่อนสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

มาพร้อมกับคำขวัญ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนอย่างเด่นชัดยิ่งว่า มุมมองของ “นักปราบ” คอมมิวนิสต์ทั้งหลายต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างไร

นี่คือ กลิ่นอายตกค้างของยุค “สงครามเย็น”

อาจเป็นเพราะยุคหนึ่งสมัยหนึ่งบรรดาคนที่แสดงความเลื่อมใสต่อบทบาทของท่านพุทธทาสภิกขุท่านหนึ่งคือ นายปรีดี พนมยงค์ และอีกท่านหนึ่งคือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์

นายปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่าโน้มเอียงไปทาง “คอมมิวนิสต์” ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ อาจมีบทบาทเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 แต่ต่อมา แม้ว่าจะยังให้ความเคารพ นายปรีดี พนมยงค์ แต่ก็แสดงออกอย่างแจ้งชัดว่าผิดหวังกับสมาชิก “คณะราษฎร” จำนวนหนึ่ง

ต่อมาก็ถูกจับในข้อหา “ขบถสันติภาพ” ในปี 2495 ต่อมาก็ถูกเพ่งเล็งและมีโอกาสถูกจับอีกหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501 จึงขอลี้ภัยอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน

การทำความเข้าใจต่อแนวคิด พระกิตติวุฑโฒ ผ่าน ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน จึงสำคัญ

 

พระกิตติวุฑโฒ ได้ออกใบปลิวที่โจมตีแนวคิดเรื่อง “จิตว่าง” ของท่านพุทธทาส โดยอ้างถึงหลักฐานแบบบัญญัติดั้งเดิมของความแตกต่างระหว่างเส้นทางการใช้ชีวิตตามแบบโลกิยะกับเส้นทางตามแบบโลกุตระ

ดังที่ปรากฏอยู่ใน “ธรรมทินสูตร” ของพระสุตตันตปิฎก

พระกิตติวุฑโฒกล่าวว่า การที่ท่านพุทธทาสไม่ยอมรับความแตกต่างระหว่างโลกิยธรรมกับโลกุตรธรรมอย่างที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั้นขัดกับหลักคำสอนพระพุทธเจ้าในพระสุตตันตปิฎก

ใน “ธรรมทินสูตร” มีข้อความกล่าวถึงฆราวาสชื่อธรรมทินนะซึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสบอกวิธีปฏิบัติที่จะทำให้ได้รับความสุขและความสงบเย็น พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า วิธีที่ลัดสั้นที่สุดสำหรับบรรลุความสงบเย็นหรือ “นิพพาน” ก็คือ

การศึกษาและปฏิบัติตาม “คำสอนของตถาคตเรื่องความว่าง (สุญญตา) ในทางโลกุตรธรรม”

ซึ่งก็เป็นพระโอวาทที่ท่านพุทธทาสชี้ว่า หมายถึงการปฏิบัติตามหลัก “จิตว่าง” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ธรรมทินนะได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เป็นการยากเกินไปที่ฆราวาสจะเข้าใจคำสอนอันลึกซึ้งเรื่อง “สุญญตา” ของพระองค์ และได้กราบทูลขอข้อธรรมะที่เหมาะแก่ฆราวาสเช่นตัวเขา

ซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีแล้ว

 

พระพุทธองค์จึงตรัสถึงข้อธรรมะอย่างอื่น คือ “โสดาปัตติยังคะ” หรือ “แขนขา” ทั้ง 4 ของการปฏิบัติทางจิตอันจะนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่โสดาปัตติมรรค

หรือเส้นทางของกระแสที่ไหลสู่ “นิพพาน”

องค์ 4 ของการปฏิบัติดังกล่าวนี้ประกอบด้วย (1) ศรัทธาในพระพุทธเจ้า (2) ศรัทธาในพระธรรม (3) ศรัทธาในพระสงฆ์ และ (4) การถือศีลเพื่อพัฒนาสมาธิ

เมื่อธรรมทินนะกราบทูลว่า ตนและเพื่อนๆ ได้ปฏิบัติตาม “โสดาปัตติยังคะ” ทั้ง 4 อยู่แล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่า หากเป็นเช่นนั้นพวกเขาก็ได้เข้าถึง “โสดาปัตติผล” คือ เข้าสู่กระแสที่ไหลสู่ “นิพพาน” แล้วเช่นกัน

“โสดาปัตติยังคะ 4” ดังกล่าวข้างต้นนี้ชาวพุทธเชื่อถือกันมาแต่เดิมว่าเป็นฐานหลักของโลกิยธรรม หรือข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาส ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเข้าถึง “นิพพาน” แต่เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้นในชาติหน้า

ส่วน “ธรรมทินสูตร” นั้นชาวพุทธก็ตีความกันมาตามแบบดั้งเดิมในแง่ที่แสดงให้เห็นว่า “สุญญตา” เป็นธรรมะที่ยากเกินกว่าฆราวาสจะปฏิบัติได้ และเป็นเส้นทางการปฏิบัติที่สูงหรือลัดสู่ความหลุดพ้นที่บรรพชิตเท่านั้นจะสามารถใช้ได้

นอกจากนี้ ชาวพุทธยังตีความสูตรดังกล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ที่จะปฏิบัติลัดสู่ “นิพพาน” โดยตรงจะต้องละทิ้งเรื่องทางโลกที่ฆราวาสปฏิบัติกันอยู่ในทางสังคมและวัฒนธรรมให้ได้อย่างเด็ดขาด

เพราะกิจกรรมทางโลกจะเหนี่ยวรั้งหรือขัดขวางมิให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึง “นิพพาน” ได้

 

ยังเสมอเป็นเพียงการนำเสนอทางด้าน พระกิตติวุฑโฒ อย่างเป็นด้านหลัก เสมอเป็นเพียงมุมมองต่อ “ธรรมทินสูตร” จากทางด้านทั่วไปเป็นด้านหลัก

เป็นความพยายามนำเอา “พระไตรปิฎก” กระหน่ำใส่ท่านพุทธทาสภิกขุ

จำเป็นต้องติดตามว่า ท่านพุทธทาสภิกขุมีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร จำเป็นต้องติดตามว่า ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน มองเรื่องนี้อย่างไร