รู้อะไรไม่สู้ “รู้งี้…” กับ “ทฤษฎีกบต้ม” | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

คุณสุเมธ ดำรงชัยธรรม อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่คนแรกที่พูดถึง “ทฤษฎีกบต้ม”

วันที่แกยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น คุณสุเมธบอกกับพนักงานบางส่วนว่า

“คนอยู่ในตำแหน่งนี้เหมือนกบในหม้อต้ม เด้งดึ๋งไปมา วันไหนจะสุก หรือถ่านหมด ไฟเผาเราก่อน ถือเป็นเรื่องธรรมดา…เมื่อผู้มีอำนาจบอกว่าหมดเวลาของคุณแล้ว ก็ต้องไป เนื่องจากเคารพกติกา

ทฤษฎี “กบต้ม” มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Boiled Frog Theory”

ผมได้ยินเรื่อง “กบต้ม” มาหลายปีดีดักแล้ว

พอเข้าสู่ช่วง “ป่วน” หรือ disruption ที่มีผลกระทบต่อคนไทยทั้งมวลทุกวงการทุกอาชีพก็ยิ่งเห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการล่มสลายในหลายๆ อุตสาหกรรมก็เป็นเพราะไม่สนใจทฤษฎีกบต้มอย่างเป็นรูปธรรมนี่แหละ

สุเมธ ดำรงชัยธรรม

ผมอ่านคำอธิบายของคุณสุเมธแล้วก็ไม่แน่ใจว่าแกคิดเหมือนกับคนอื่นที่อ้างถึงทฤษฎีนี้หรือเปล่า

เพราะอดีต “ดีดีการบินไทย” คนนี้เปรียบเทียบไม่เหมือนกับที่ผมเคยเข้าใจ

แกบอกว่าคนเป็นซีอีโอของการเมืองบิน “เหมือนกบในหม้อต้ม เด้งดึ๋งไปมา วันไหนจะสุก หรือถ่านหมด ไฟเผาเราก่อน ถือเป็นเรื่องธรรมดา…”

นั่นเป็นการตีความที่แตกต่างไปจากที่ผมเคยเข้าใจ

เพราะนักวิชาการหลายคนเคยบอกว่า “กบต้ม” นี้หมายถึงการที่กบอยู่ในหม้อที่มีน้ำอุ่นๆ สบายดี ไม่รู้สึกตัวว่ามันจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ

จนถึงจุดเดือด กบ “ตายใจ” ตัวนั้นจะกระโดดหนีจากหม้อนั้นไม่ทัน มีอันต้องตายไปโดยที่ปรับตัวไม่ทัน

ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่กบอยู่ในหม้อต้ม เด้งดึ๋งไปมา วันไหนจะสุกก็ไม่รู้อย่างที่คุณสุเมธอธิบาย

แต่นั่นอาจจะเป็นวิธีการชี้แจงของแกเพื่อให้เพื่อนร่วมงานได้เห็นภาพว่า การมานั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มีความไม่แน่นอนสูง ถูก “ต้มสุก” เมื่อไหร่ก็ได้

ผมเคยอ่านเจอคำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์ว่า ทฤษฎีกบต้มนั้นคือการที่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศใด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่ประชาชนจะไม่รู้ตัว จึงไม่สามารถป้องกันตัวเองได้

แปลง่ายๆ ว่า ประชาชนเหมือนกบที่อยู่ในหม้อน้ำอุ่นๆ ไม่รู้สึกว่ามีอันตรายอะไร ทั้งๆ ที่ความจริงอุณหภูมิของน้ำนั้นกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ…

จนวันหนึ่งน้ำเดือด (หมายถึงเข้าสู่ขั้นวิกฤต) กบ (หรือประชาชน) จะกระโดดหนีออกมาก็ไม่ทันการณ์แล้ว

ทุกวิกฤตนั้นย่อมมีการก่อตัวขึ้นก่อน แต่หากประชาชนเองไม่ตระหนัก หรือรัฐบาลไม่ทำหน้าที่เตือนภัยประชาชนอย่างแข็งขัน

สถานการณ์ที่เสื่อมทรุดจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นแล้วเหมือนกับกบที่อยู่ใน “น้ำอุ่น” สบายๆ พอร้อนขึ้นเรื่อยๆ แทนที่กบจะกระโดดหนีความหายนะเสียก่อน กลับไม่รู้สึกและปรับตัวทนต่อน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ…

ถึงจุดน้ำเดือด กบก็ตาย กลายเป็น “กบต้ม”

(Photo by Jewel SAMAD / AFP)

คนที่ศึกษาที่มาของทฤษฎีนี้บอกว่ามาจากนักวิชาการชาวไอริชชื่อ Tichyand Sherman ได้เสนอแนวคิดจากการทดลองนำกบมาต้มในอ่างน้ำ 2 อ่าง ที่อุณหภูมิแตกต่างกัน เพื่อศึกษาการเปรียบเทียบปฏิกิริยาตอบสนองของกบ

อ่างแรกเป็นน้ำต้มจนเดือด เมื่อกบถูกโยนลงไปในอ่างที่มีน้ำเดือด สัญชาตญาณการเอาตัวรอดจะทำให้ต้องรีบกระโดดออกเพื่อเอาชีวิตรอดในทันที

อย่างนี้แม้จะบาดเจ็บเพราะความร้อนบ้างแต่ก็รอด…เพราะหนีทัน

อ่างที่สองเป็นน้ำอุ่น แต่จะค่อยๆ ต้มให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทีละนิดจนถึงจุดเดือด

กบที่ถูกโยนลงไปไม่ได้กระโดดหนี แช่น้ำต่อ ตอนแรกก็ปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่ค่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้น

แต่เมื่อน้ำร้อนถึงจุดเดือด มันก็กลายเป็น “กบต้ม” สุกโดยเกือบจะไม่รู้ตัว

สาเหตุเป็นเพราะชีวิตปกติสบายเกินไป ตั้งอยู่ในความประมาท และไม่เคยคิดว่าจะต้องเจอวิกฤตอะไร

พอเจอเข้าจริงๆ ก็แตกตื่น ตั้งตัวไม่ทัน ส่วนใหญ่ก็จะ “ตายสนิท”

ผมมักจะยกตัวอย่างเรื่อง “กบต้ม” ให้คนที่มาขอความเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับ disruption ที่กำลังคุกคามคนเกือบทุกอาชีพ

กบที่อยู่ในน้ำอุ่นก็คือ “ตายใจ” อยู่ใน “เขตที่คุ้นเคย” ที่เรียกว่า Comfort Zone

โดยธรรมชาติมนุษย์แล้วไม่มีใครอยากออกจาก “เขตคุ้นเคย” เพราะมันเหมือนกบที่นอนอยู่ในน้ำอุ่นที่แสนสบาย ใครมาเตือนว่ากำลังมีภัยคุกคามมาเยี่ยมเยือนก็ไม่เชื่อ

เผลอๆ จะโกรธคนที่มาเตือนด้วยไปทำลายความสงบทางใจของคนที่ไร้ปัญหา

แต่ disruption อันเกิดจากเทคโนโลยีนั้นเป็นเหมือนคลื่นที่ซัดสาดจากแดนไกล

แรกๆ ก็ยังเบาๆ อยู่ แต่ถ้าหากใครสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่าคลื่นนั้นแรงขึ้นทุกที…จนกลายเป็นพายุใหญ่ที่ถาโถมมาทุกทิศทุกทาง

สัญญาณเตือนภัยมีมาเป็นระยะๆ …ถี่ขึ้นแรงขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะรับรู้ ไม่ต้องการฟัง “ข่าวร้าย” เหมือนกบที่กำลังนอนอยู่ในน้ำอุ่น

แม้อุณหภูมิของน้ำในหม้อจะค่อยๆ ร้อนขึ้น แต่มันก็ไม่ได้เพิ่มองศาแห่งความร้อนทันที

อุณหภูมิของเมื่อวานกับวันนี้ไม่ได้ต่างกันมาก กบจึงไม่รู้สึกมีความจำเป็นอะไรที่ต้องคลานออกมาจากหม้อใบนั้น

เหมือนคนในวงการต่างๆ ที่พอจะรู้ว่าเทคโนโลยีกำลังจะมีผลกระทบต่อตัวเอง แต่ก็พยายามจะปลอบใจตัวเองว่า “ไม่เป็นไร คงอีกนาน”

หรือ “ไม่ต้องตื่นตระหนกเกินไป ผลกระทบคงไปโดนคนอื่นมากกว่าเรา”

คนเราจะมีข้ออ้างมากมายที่จะยังดำรงชีวิตแบบเดิม เพราะ “เขตคุ้นเคย” นั้นช่างกว้างใหญ่ไพศาลและมีเพื่อนร่วมความคิดความรู้สึกอย่างนี้เป็นจำนวนมาก

คนมาเตือนภัย คนที่พยายามจะอธิบายว่าภัยกำลังมาถึงนั้นเป็นคนส่วนน้อย และอาจจะเป็น “พวกตื่นเต้นเกินเหตุ” มากกว่า

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

วันนี้ คนในวงการต่างๆ กำลังเผชิญกับการล่มสลาย องค์กรต่างๆ ต้องโละคน, รายได้หดหายอย่างน่ากลัว, ขาดทุนหนักถึงขั้นอยู่ไม่ได้ ทดแทนโดยธุรกิจที่เล็กกว่า ลงทุนน้อยกว่า ใช้คนไม่มากแต่มีกำไร

ย้อนกลับไปสรุปบทเรียนก็จะได้คำตอบว่า

เพราะทำตัวเป็น “กบในหม้อน้ำอุ่น” ไม่ยอมฟังสัญญาณเตือนภัย จนวันหนึ่งน้ำในหม้อเดือด กบกระโดดหนีไม่ทัน ต้องตายต่อหน้าต่อตา

ย้อนกลับไปพิจารณาสาเหตุของความ “ตายใจ” ก็คงได้ความว่า เพราะเราไม่ยอมขยับออกจาก Comfort Zone เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิตอล

จะว่าไปแล้ว การออกจาก “เขตคุ้นเคย” นั้นเป็นเรื่องยากมาก ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องพร้อมจะสลัดความสุขสบายเดิมๆ และต้องพร้อมจะเดินเข้าสู่ “เขตไม่คุ้นเคย” ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสิ่งท้าทายใหม่ๆ

นั่นหมายถึงการต้องต่อสู้กับเสียงทัดทานของคนรอบตัวที่ไม่อยากจะออกจากวิถีปฏิบัติเดิมๆ และคำขู่จากคนรอบตัวว่าการก้าวออกไปนอกกรอบเดิมๆ นั้นเป็น “ความเสี่ยง” และ “โอกาสพลาด” มีสูง

วันนี้พิสูจน์แล้วในหลายๆ กรณีว่าการไม่ยอมก้าวออกจาก Comfort Zone นั่นแหละคือสาเหตุแห่งความล้มเหลว, ล้มละลายและหมดอนาคต

ที่น่ากลัวคือ “กบ” ที่ “ถูกต้ม” นั้นไม่สามารถจะย้อนประวัติศาสตร์ไปเริ่มต้นใหม่เพื่อจะหลีกเลี่ยงหายนะอันเกิดจากความ “ตายใจ” นั้นได้

ในทำนองเดียวกัน คนที่ไม่ยอม “ฉีกกรอบ” กระโดดออกจาก Comfort Zone ขณะที่ยังมีโอกาสและมีเรี่ยวแรงที่จะปรับเปลี่ยนกับสิ่งใหม่ๆ นั้นก็ต้อง “ถูกต้ม” จนหมดสภาพ

ความโหดร้ายของ disruption ยุคดิจิตอลคือคนที่ทำตัวเป็น “กบต้ม” อาจไม่มีโอกาสแก้ตัวเป็นครั้งที่สองก็ได้

ที่ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้งี้” นั้นเป็นสัจธรรมแห่งโลกยุคปั่นป่วนจริงๆ

พอเจอโควิด-19 มากระหน่ำซ้ำแผลของ disruption เทคโนโลยี…คราวนี้ไปไม่เป็นเลยจริงๆ

ที่ต้องเขียนเตือนกันวันนี้ก็เพราะต้องร่วมกันตระหนักว่า แม้โควิด-19 จะจางหายไป (ซึ่งอาจจะไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้) ก็ไม่ได้แปลว่าวิกฤตจะหายไป

มันเป็นเพียงการถูกหย่อนจากหม้อไฟสองเตากลับมาที่หม้อเดิมที่กำลังเดือดปุดๆ อยู่นั่นเอง!