“โควิด” ยืดเยื้อ สู่ความโกลาหล มาตรการ “คลายล็อกดาวน์” ทำสับสน ชักเข้าชักออก ผลตกชาวบ้านแบกรับ

สถานการณ์ “โควิด” ยืดเยื้อ สู่เดือนพฤษภาฯโกลาหล มาตรการ “คลายล็อกดาวน์” ทำสับสน-ชาวบ้านแบกรับ

หลายครั้งความสับสนในสังคมช่วงสถานการณ์โควิดระบาด

ส่วนหนึ่งมาจากความไม่ชัดเจนทั้งจากรัฐบาลศูนย์กลางอำนาจบริหารประเทศและจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.

สถานการณ์ที่ว่าปะทุขึ้นอีกครั้ง

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ประกาศขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

รวมถึงมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ออกไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

พร้อมการยอมผ่อนปรน “คลายล็อกดาวน์” ในบางกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม การคลายล็อกหลายเรื่องเป็นไปในลักษณะชักเข้า-ชักออก สร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้ปฏิบัติ

เริ่มจากกรณี 4 วันหยุดนักขัตฤกษ์เดือนพฤษภาคม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรมแจ้งผลที่ประชุม ศบค. มีมติเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์เดือนพฤษภาคมออกไปทั้งหมด ได้แก่ วันแรงงาน 1 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม วันวิสาขบูชา 6 พฤษภาคม และวันพืชมงคล 11 พฤษภาคม

เตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบ ให้เหตุผลเพื่อป้องกันไม่ให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 6 วัน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการเดินทางของประชาชนข้ามพื้นที่จังหวัด อาจเพิ่มความเสี่ยงแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่

ประเด็นนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนจำนวนไม่น้อย หลังจากรัฐบาลเคยประกาศเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายนมาแล้ว ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่

ลดลงต่อเนื่อง ต่ำกว่าหลักสิบ

สุดท้ายที่ประชุม ครม.ก็มีมติสวนทางกับ ศบค.

ให้คงวันหยุดพิเศษ 4 วันในเดือนพฤษภาคมตามเดิม เพิ่มเติมคือ ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ งดเดินทางไปต่างจังหวัด

มติที่สวนทางกันสร้างความงุนงงให้ประชาชนพอสมควร เนื่องจากประธานที่ประชุม ครม.และที่ประชุม ศบค.เป็นคนเดียวกันคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Mladen ANTONOV / AFP

ความไม่ชัดเจนต่อมาเป็นเรื่องประกาศ “คลายล็อก” มาตรการชุดแรก 6 กิจกรรม ประกอบด้วย

ตลาด ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย

ร้านอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น และหาบเร่

กิจการค้าปลีก-ส่ง ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านอาหารปลีกชุมชน ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

กีฬาสันทนาการ ได้แก่ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ทั้งเดิน รำไทเก๊ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกาย โดยไม่เล่นเป็นทีมและไม่แข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟ และสนามซ้อม

ร้านตัดผม-เสริมสวย ได้แก่ ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม

และอื่นๆ เช่น ร้านตัดขน-ร้านรับเลี้ยง รับฝากสัตว์

ศบค.ออกคู่มือและรายละเอียดการผ่อนล็อกดาวน์ แต่ก็ยังมีคำถามและข้อสงสัยจากผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก ทั้งในการกลับมาเปิดร้านค้า ร้านอาหาร ที่ในข้อกำหนดการผ่อนปรนยังขาดรายละเอียด ไม่ชัดเจนครอบคลุมเพียงพอ

รวมทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

ที่สำคัญข้อจำกัดในการคลายล็อกบางส่วนไม่ต่างจากการโยนภาระและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการ

แทนที่รัฐบาลจะหาทางสนับสนุนช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและทำความเข้าใจในส่วนนี้

กลายเป็นว่าทั้งรัฐบาลและ ศบค. ต่างสลับกันออกมาข่มขู่เอาผิดร้านค้าผู้ประกอบการและประชาชนผู้บริโภค ว่าหากใครละเมิดคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด ทั้งอาจนำมาสู่การยกเลิกการผ่อนปรนทั้งหมด

กลับไปใส่ล็อกตามเดิม

ในความโกลาหลอลหม่าน รัฐบาลและ ศบค.ควรต้องเป็นฝ่ายให้คำแนะนำกับประชาชนและผู้ประกอบการ ถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นแบบ “ปกติใหม่” หรือนิวนอร์มอล (New Normal) อย่างละมุนละม่อม

ไม่ใช่ด้วยความกระโชกโฮกฮาก ขู่เอาผิดผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม

การแก้ไขปัญหาจะลุล่วงด้วยดี หากรัฐเปิดใจกว้างรับฟังเสียงจากประชาชน ถ้าทำเช่นนั้นได้เชื่อว่าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะร้อยทั้งร้อยไม่มีใครอยากป่วยติดเชื้อไวรัสร้ายแน่นอน

กับอีกเรื่องวุ่นวายที่มาพร้อมกับมาตรการใส่ล็อก-คลายล็อก คือการจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หลังรัฐบาลได้ออกประกาศห้ามจำหน่ายมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ พร้อมกับเลื่อนวันหยุดยาว ด้วยเหตุผลเพื่อสกัดกั้นการรวมกลุ่มสังสรรค์ หยุดยั้งการเดินทางไปต่างจังหวัด จนเป็นเหตุให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในวงกว้าง

ทำให้ทุกห้างร้านต้องหยุดขายเหล้า-เบียร์เกือบ 3 สัปดาห์

กระทั่งใกล้ถึงวันสิ้นสุดประกาศห้าม 30 เมษายน ก็มีข่าว ศบค.ชุดย่อยหารือพิจารณาเตรียมเสนอรัฐบาลใส่ล็อก ห้ามเปิดซื้อ-ขายเหล้า-เบียร์ต่อไป แต่ให้เริ่มนับใหม่วันที่ 3 พฤษภาคม เปิดช่องเว้นวรรคให้ซื้อขายได้ 2 วันคือ 1-2 พฤษภาคม

ทำเอาบรรดานักดื่มหูผึ่งไปตามๆ กัน

ต่อมาวันที่ 30 เมษายน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยแถลง อ้างตามประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในประกาศราชกิจจานุเบกษาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

และให้ยืดการบังคับใช้คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับการควบคุมโควิด ให้มีผลต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นหมายรวมถึงคำสั่งห้ามซื้อ-ขายเหล้า-เบียร์ด้วยเช่นกัน

แต่ปรากฏถัดจากนั้นวันเดียว สถานการณ์ก็พลิกอีกตลบ

เมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 6)

ตอนหนึ่งเรื่องกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

ให้จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย แต่ไม่รวมถึงสถานบริการผับบาร์

สำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจำหน่ายสุราให้เปิดได้ แต่ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อธิบายชี้แจงว่า

รัฐบาลและ ศบค.ผ่อนปรนให้ซื้อสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านจำหน่ายได้ แต่ไม่สามารถนั่งดื่มในร้าน ต้องซื้อกลับไปดื่มที่บ้านเท่านั้น และต้องไม่มั่วสุมหรือรวมกลุ่มอันอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

โดยในแต่ละจังหวัดให้เป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและอนุญาต

ประกาศนี้ให้กลับมาเปิดขายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันที่ 3 พฤษภาคมเป็นต้นไป

เมื่อวันนั้นมาถึง บรรดานักดื่มต่างเฮโลกันไปซื้อเหล้าเบียร์จนห้างร้านแทบแตก ไม่มีใครสนใจเรื่องการเว้นระยะห่าง หรือโซเชียล ดิสแทนซิ่ง

หลายคนเชื่อว่าภาพเหล่านั้นเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลและ ศบค.ไม่ประสานห้างร้านให้วางมาตรการรองรับอย่างเหมาะสม

ที่สำคัญเนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลและ ศบค.ชักเข้า-ชักออกแนวทางคลายล็อกหลายครั้ง ทำให้ประชาชนทั้งที่เป็นนักดื่มและผู้จำหน่ายไม่มั่นใจ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะสั่งห้ามจำหน่ายอีกหรือไม่ จึงตัดสินใจออกมาซื้อเก็บตุนไว้ก่อน

ต่อมาดันมีกรณีผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก นครพนม ปทุมธานี เพชรบุรี และบุรีรัมย์ ยังมีคำสั่งห้ามขายสุราเช่นเดิม

ทำให้ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ เกิดความสงสัยขึ้นมาอีกว่า ระหว่างคำสั่งรัฐบาลกับคำสั่งผู้ว่าฯ เหตุใดจึงไม่สอดรับกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตำหนิพฤติกรรมการรุมแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมสั่งการต่อไปนี้ต้องมีมาตรการชัดเจนในเรื่องจำกัดปริมาณการซื้อ ต้องเปิด-ปิดตามเวลาที่กำหนด

“ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ขอให้ภาคเอกชน ร้านค้าต่างๆ ที่ขายสุราปฏิบัติตามมาตรการที่ออกไป ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกปิด ไม่ให้ขายอีกต่อไป”

มาตรการเกี่ยวกับซื้อ-ขายเหล้าเบียร์ช่วงโควิด จะหักเหอีกหรือไม่ต้องรอดู แต่ที่ยังสับสนโกลาหลต่อเนื่องกรณีการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาท แต่ละวันยังปรากฏภาพประชาชนจำนวนมากต่อแถวทวงสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง

ป้าชาว จ.กำแพงเพชร ร่ำไห้วิงวอนฝากถึงนายกฯ “โปรดดูแลคนยากคนจนบ้าง” เพราะกำลังจะอดตาย ข้าวสารจะหมด เงินก็ไม่มี ของก็ขายไม่ได้

“ท่านประยุทธ์ ท่านได้ยินหรือเปล่า นางทองสา ดาหา มาร้องเรียน ท่านไปดูบ้านฉัน อยู่ยังไงกินยังไง บ้านช่องเท่ารูหนู ข้าวจะกินก็ไม่มี หลานตัวเล็กๆ ไม่สบาย ต้องให้เลือด ยังไปหาหมอไม่ได้เลย ท่านโปรดทราบตรงนี้”

ท่ามกลางความทุกข์ร้อนของประชาชนแผ่กระจายไปทุกหย่อมหญ้าในช่วงสถานการณ์โควิด

คนได้รับผลกระทบไม่ใช่รัฐบาลผู้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ

แต่เป็นชาวบ้านที่ต้องแบกรับปัญหาอย่างไร้ทางออก