อภินิหาร…อำนาจ…หลักนิติธรรม สร้างได้ทั้งปรองดองและแตกแยก

มุกดา สุวรรณชาติ

ประเทศไทยวันนี้มีเหตุการณ์จากความขัดแย้งหลายเรื่องที่ไม่สามารถจะใช้บรรทัดฐานธรรมดา ใช้หลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานทางกฎหมายแบบสากล มาตั้งเป็นสมมติฐานตามปกติแล้วประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เวลาคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าหลายคนจึงมีวิธีคาดการณ์แบบดราม่า แบบละครหรือนิยาย

เมื่อความขัดแย้งยิ่งขยายออกไป ความหวังเรื่องการสร้างความปรองดอง จึงมาอยู่ที่ คู่ขัดแย้ง ผู้คุมอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีศาลเป็นความหวังหลัก แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน ต้องดูกรณีต่อไปนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

กรณีวัดพระธรรมกาย

กรณีนโยบายจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การดำเนินคดี กับผู้คัดค้าน และเห็นต่างกับรัฐบาล

คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ฯลฯ

อภินิหารทางกฎหมาย

มีเรื่องเล่าที่เป็นตำนานแบบมิติพิศวงว่าในประเทศอิตาลีมีรถไฟขบวนหนึ่งได้แล่นเข้าไปในอุโมงค์ซึ่งยาวเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร ในปี 2492 เมื่อรถไฟแล่นหายเข้าไป และไม่โผล่ออกมาอีกด้านหนึ่งของอุโมงค์ ก็มีการค้นหากันอย่างละเอียด แต่ก็ไม่พบสุดท้ายก็เลิกค้นหา รถไฟขบวนอื่นก็เล่นกันต่อไป

แต่แล้วในปี 2535 ซึ่งนานถึง 42 ปี รถไฟขบวนนี้ก็โผล่ออกมาจากอุโมงค์ วิ่งเข้าเทียบชานชาลาเป็นปกติ

ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ บางเรื่องในประเทศไทยก็อาจเกิดได้เช่นกัน อาจไม่ใช่อภินิหาร แต่เป็นการติดตามค้นหา ข้ามมิติอะไรทำนองนั้น

คดียึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณซึ่งผ่านไปแล้ว 8 ปีจึงหวนกลับมาได้อีกครั้ง เรื่องนี้ต้องเป็นการย้อนเวลาหาอดีต จึงต้องใช้อภินิหารทางกฎหมาย

จากนี้ไปก็จะมีการตรวจภาษีนักการเมือง ข้าราชการ ย้อนหลังอีกมากมาย ขอให้ใช้อภินิหารอย่างเท่าเทียมกัน และจะส่งผลไปสู่การรื้อฟื้นเรื่องราวต่างๆ ในอดีต จะกลายเป็นหลักการในอนาคตที่จะใช้ตามล้างกันจนถึงลูกหลาน

กรณีค้นอาวุธโกตี๋ การค้นพบอาวุธที่บ้านของเครือข่ายพรรคพวก แม้ 3 ปีก่อนไม่พบ แต่พวกนี้โง่มาก รู้ว่าที่นี่ถูกค้น ยังเอามาไว้อีก แถมยังมีผ้าพันคอสีแดง มีชื่อของโกตี๋อยู่ในที่นั้นด้วยเพื่อจะได้เป็นการแสดงให้ชัดเจนว่าอาวุธนี้เป็นของใคร

ในจำนวนอาวุธที่มาโชว์ที่ดูน่ากลัว เป็น BB Gun อยู่บางกระบอก รายละเอียดตรงนี้ต้องไปตามในโลกโซเชียล ทีมงานเห็นว่าข้อเท็จจริงที่สร้างความน่าเชื่อถือต้องละเอียดและถูกต้อง

การขอตัวโกตี๋ ในฐานะคนร้ายข้ามแดน จะทำได้หรือไม่ ยังไม่รู้ แต่วันนี้โกตี๋ดังแล้วในยูทูบ เพราะมีสื่อช่วยโฆษณาให้ทุกช่องทาง

ขณะเดียวกันก็มีผู้คาดการณ์ได้ว่าเมื่ออาวุธนั้นอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี ใกล้เคียงวัดพระธรรมกาย ก็จะต้องมีคนโยงไปให้เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย การดราม่าเรื่องแบบนี้ก็จะมีต่อไปอีกจนกว่าจะเบื่อกันไปข้างหนึ่ง หรือหาเรื่องใหม่มาแทนได้

ขณะนี้ศิษย์ธรรมกายจึงต้องตามข่าวการเมืองเช่นกัน

จะเลือกใช้อำนาจ หรือนิติธรรม

บ้านเราพัฒนา โดยการสร้างระบบประชาธิปไตย และนิติรัฐขึ้นมา แต่ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน เรื่องมาตรฐานของความยุติธรรมยังพยายามปรับปรุงกันอยู่ มีตั้งแต่เรื่องชาวบ้าน ถึงนักการเมืองใหญ่ เช่น

กรณีอดีตนางแบบยู่ยี่ซึ่งมีโคเคนอยู่ในครอบครอง 250 มิลลิกรัม (ขนาดประมาณยาพาราเซตามอลครึ่งเม็ด) แต่ถูกจำคุกถึง 15 ปีเพราะข้อหาว่าขนเข้าประเทศ นี่เป็นบทเรียนที่น่ากลัวมากเพราะถ้าใครต้องการกลั่นแกล้งกันแค่หายาเสพติดเท่าปลายเล็บเอากระดาษหรือปั้นเป็นเม็ด แอบหย่อนใส่กระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและแจ้งตำรวจ ในขณะที่คนนั้นเดินทางเข้าออกสนามบิน ก็จะต้องติดคุกถึง 15 ปี

กรณียึดทรัพย์นายกฯ ทักษิณอีกครั้ง มีคนถามว่าเรื่องนี้ทำเพื่ออะไร ไม่ใช่ไม่มีเงินแล้วต้องการหาเงินแน่เพราะรัฐบาลบอกแล้วว่าไม่ได้ถังแตกมีเงินมาแจกประชาชนด้วยซ้ำ

แต่ผู้มีประสบการณ์ในวงการเมืองชี้ว่า ถ้าไม่คิดเรื่องอภินิหารหรือมิติพิศวง จะพบว่านี่เป็นหลักเกณฑ์การต่อสู้ทางธรรมชาติ ที่ผู้ชนะจะเป็นฝ่ายถูก และผู้แพ้ต้องเป็นฝ่ายผิด

ในการชิงอำนาจไม่ว่าที่ใดในโลกก็เป็นแบบนี้

ของไทยตั้งแต่โบราณมาย้อนไปดูยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาก็จะพบว่าผู้ที่พ่ายแพ้ถูกยึดอำนาจ ถูกโค่นล้ม ก็ต้องมีข้อกล่าวหาว่าผิด 10 เรื่อง 20 เรื่อง ผู้ชนะก็จะเฉลิมฉลองชัยชนะไปได้ระยะหนึ่งเมื่อถูกโค่นล้ม ผู้ชนะคนใหม่ก็จะกล่าวหาคนแพ้คนนั้นว่ามีความผิดอะไรบ้างแล้วก็ฉลองชัยชนะในช่วงยุคสมัยของตนเองต่อไปจนกว่าจะถูกโค่น เรื่องแบบนี้เป็นไปตามปกติ คนชนะได้ปกครอง คนแพ้ต้องหนี บวช ติดคุกหรือตาย

ในโลกยุคใหม่ การโค่นล้มมิได้ป่าเถื่อนแบบโบราณ การใช้อภินิหารทางกฎหมาย จึงทำกันมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ครั้งนั้นทำเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล แต่ครั้งนี้ทำเพื่ออะไรทำแล้วได้อะไร หลายคนสรุปว่าทำแบบนี้เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง แน่นอนถ้าเป็นอุปสรรคต่อการปรองดองแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องเกิดความแตกแยกขึ้น

เมื่อเกิดความแตกแยกขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร จะมีเลือกตั้งได้หรือไม่ เราจะปกครองกันรูปแบบไหนอย่างไร ที่เป็นรัฐบาลชั่วคราวจะต้องยืดไปอีกนานเท่าใด การปรองดองที่กำลังจัดขึ้นนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ประชาชนตั้งความหวังไว้ที่ศาล
ว่าจะจัดการให้ยุติธรรม

ทีมงานเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระบวนยุติธรรมและกฎหมาย แต่รู้ว่าถ้าแก้ไขตรงจุดนี้ได้ โอกาสปรองดองก็มีมากขึ้น จึงขอยกบางตอนของแถลงการณ์กลุ่ม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรื่อง ความเห็นและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับบทบาทของศาลยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและคำพิพากษาของศาล

**ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ดึงส่วนต่างๆ ของสังคมไทยเข้าสู่วังวนของขัดแย้งอย่างถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้แต่ศาลยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากบทบาทของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ศาลมีบทบาทอย่างสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ถืออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีความผิดเนื่องจากการฝ่าฝืนคำสั่งที่เกิดจากการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 หรือบทบาทและจุดยืนของศาลในการดำเนินคดีพลเรือนต่อศาลทหาร จนกระทั่งสังคมและผู้รักความเป็นธรรมเห็นว่าศาลได้ใช้อำนาจในทางที่ขัดต่อหลักกฎหมาย ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐ และเพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

คนส. เห็นว่า ศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน จึงมีความรับผิดชอบอย่างสำคัญในการเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการถูกล่วงละเมิดโดยรัฐ ความรับผิดชอบดังกล่าวแสดงออกด้วยการที่ศาลใช้และตีความกฎหมายอย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา…

ขณะเดียวกัน ศาลกลับทำหน้าที่เป็นกลไกรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจรัฐอย่างเข้มข้น แม้ว่าผู้ใช้อำนาจนั้นจะปราศจากฐานความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการรับฟ้องและดำเนินคดีอาญาผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ต่อต้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44

นอกจากนี้ ภายใต้หลักนิติรัฐ องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทุกองค์กรต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ไม่เว้นแม้แต่องค์กรตุลาการ ซึ่งแม้การตรวจสอบศาลโดยองค์กรอื่นจะกระทำได้อย่างจำกัดเพื่อธำรงหลักความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลจะพ้นไปจากความรับผิดชอบต่อประชาชน ในแง่นี้ การวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกของประชาชนทั้งในทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับศาลย่อมเป็นการเตือนให้ศาลได้ตระหนักในการใช้อำนาจอย่างมีเหตุผลและสอดคล้องต่อหลักกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบการทำงานของศาลอีกทาง…

คนส. เห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ของการใช้อำนาจตุลาการนั้นขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลที่หนักแน่นรับฟังได้และยึดมั่นในหลักการทางกฎหมาย ซึ่งสามารถถูกตรวจสอบได้โดยการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน มิใช่การปิดกั้นประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาล…

คนส. จึงเรียกร้องให้ศาลได้พิจารณาทบทวนบทบาทของศาลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และขอให้ศาลใช้และตีความกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเฉกเช่นที่พึงเป็นในสังคมที่เป็นนิติรัฐทั้งหลาย เพื่อให้ศาลมีบทบาทเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ศาลพึงตระหนักว่าช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ซึ่งจะตราไว้ในอนาคตว่าศาลได้ทำหน้าที่เป็นสถาบันที่ยืนอยู่เคียงข้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิเช่นนั้นก็จะเป็นในทางตรงกันข้าม คือ เป็นสถาบันที่ใช้อาญาสิทธิ์ในการกดประชาชนให้สยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเพียงอย่างเดียว

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

19 มีนาคม 2560

ถึงตรงนี้ ยังต้องสรุปว่า ประชาชนรู้ว่าศาลรู้ และยังฝากความหวังไว้ที่ศาล

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

แรงกดดันของอำนาจทำให้เกิดการแยกชั้น

แรงกดดันทางอำนาจหรือการใช้อำนาจที่เข้มแข็ง ทั้งบนและล่าง ในสถานการณ์ปัจจุบันได้มีผลต่อทุกฝ่าย แม้แต่ผู้ใช้อำนาจเองก็อาจจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่มีอำนาจเข้มแข็งยังดำรงอยู่ได้แต่ก็มีรอยปริเกิดขึ้น เพราะมีคนกลัวว่าในอนาคตจะกลายเป็นผลร้ายและไม่อยากอยู่ร่วมรับชะตากรรมอันนั้นด้วย ส่วนฝ่ายที่ตกเป็นเบี้ยล่างและถูกกดดัน ก็มีความคิดที่ปริแยก เรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่มคนเสื้อแดง และในพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะได้วิเคราะห์ในโอกาสต่อไป

แต่ถ้าวิเคราะห์จากข้อมูล ณ ปัจจุบันสรุปได้ว่า การใช้อำนาจตามปกติ การใช้หลักนิติธรรม หรือการใช้อภินิหาร เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมนี้ เพราะเราใช้ ม.44 จนผู้คนเคยชิน สถานการณ์ปรองดองหรือแตกแยก จากปี 2558 จนถึงต้นปี 2561 จะไม่เปลี่ยนแปลง