ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทางภิกษุณีในไทย – “แม่ชี 4 รูป”

บนเส้นทางภิกษุณีในประเทศไทย (8)

ระหว่างการบันทึกเส้นทางฯ นี้ ท่านธัมมนันทาก็รับนิมนต์ไปโน่นนี่ ก็เลยถูกขัดจังหวะ ไม่ว่ากัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย

ตอนนี้ได้รับคำสั่งให้อยู่บ้าน เพื่อช่วยมิให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจาย ก็เลยได้กลับมาตรวจสอบงานที่คั่งค้าง

ตอนเย็นก็มีไลฟ์สด สอนผ่านทางวิดีโอคอลล์ ลูกศิษย์ในชั้นเรียนเป็นภิกษุณีสงฆ์ 15 รูปที่เกาะยอ จ.สงขลา

ก็เลยระลึกได้ว่า ควรจะบันทึกประวัติของทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามที่เกาะยอไว้บนเส้นทางฯ นี้ด้วย

ทิพยสถานธรรมเดิมเป็นสำนักอุบาสิกา มีแม่ชีเป็นหัวหน้า ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 มีแม่ชีจากสำนักนี้สมัครมาบรรพชาชั่วคราวที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี 4 รูป ช่วงที่เตรียมตัวเพื่อฝึกซ้อมขานนาคนั้น

จำได้ว่า แม่ชีกลุ่มนี้ช่วยกันทำความสะอาดอาคารที่พักอย่างขยันขันแข็งมาก

 

ใน 4 รูปนี้ คนที่เป็นผู้นำคือท่านกมลา เมื่อบรรพชาได้ฉายาว่าธัมมกมลา นอกจากนั้น ก็มีธัมมลักขณา ธัมมสกุลา ธัมมปภา

ในเวลาที่อยู่ในชั้นเรียน ท่านธัมมนันทาเล่าว่า ท่านธัมมกมลามีความเป็นผู้นำสูง ท่านตระหนักว่า เมื่อกลับไปที่เกาะยอ ท่านจะต้องสอนรุ่นน้องๆ ท่านตั้งใจเรียนดีมาก จดบันทึกการสอน และไถ่ถามในจุดที่ตนเองไม่แน่ใจ หรือไม่ชัดเจน

ประเด็นนี้ ท่านธัมมนันทาให้ความสำคัญมาก เพราะหากไม่รู้เป้าหมาย เรียนก็สักแต่ว่าเรียนไป หลับบ้าง โงกบ้าง แม้ผู้สอนมีความพยายามจะให้ความรู้อย่างไร การศึกษานั้นก็ไม่สมบูรณ์

แต่พอคนที่เรียนมีเป้าหมายชัดเจนว่า ตัวเองเรียนไปแล้วต้องกลับไปถ่ายทอด ตัวเองต้องเข้าใจให้ชัดเจน หากมีคนอื่นถามจะต้องตอบได้

ท่าทีที่เรียนแบบนี้ ท่านธัมมนันทาอธิบายว่า เรียนแบบโพธิสัตว์ คือมีจิตคิดเผื่อแผ่ความรู้ให้แก่คนอื่นด้วย

ตัวท่านเองก็ผ่านการเรียนรู้ที่ตนเองต้องเป็นผู้ไปถ่ายทอดต่อให้ลูกศิษย์ ช่วงที่ท่านเป็นสามเณรี ท่านเรียนพระวินัยกับภิกษุณีที่เป็นปวัตตินีชาวศรีลังกา ท่านก็จะซักถามละเอียด

ท่านสัทธาสุมนา ที่เป็นปวัตตินีนั้น ทันทีที่เห็นท่านธัมมนันทาทำหัวคิ้วขมวด หรือแสดงความสงสัย ไม่แน่ใจ ท่านก็จะถามว่า “Venerable, do you understand?”

แม้ว่าท่านธัมมนันทาจะอยู่ในฐานะศิษย์ ท่านสัทธาสุมนาจะให้ความเคารพในการเรียกท่านเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านอธิบายเรื่องการทำพินทุผ้าจีวร ทางศรีลังกาจะกล่าวสลับกับไทยคือ จะใช้ว่า “กัปปังพินทุง กโรมิ” ไม่ใช่ “พินทุกัปปัง” ท่านว่าให้เอาหมึกที่ลบไม่ได้ทำเครื่องหมายเป็นจุดที่มุมผ้าจีวร

“จุดที่ว่านี้ ขนาดเท่าใด” ท่านธัมมนันทาถามปวัตตินีของท่าน

ท่านสัทธาสุมนาว่า “ขนาดเท่าตานกยูง”

สงสัยท่านตอบจากอรรถกถาของพระภิกษุอินเดียหรือศรีลังกาแน่เลย

อย่างนี้เป็นการตอบที่สอดคล้องกับบริบททางภูมิภาคนั้นๆ คือ อินเดียค่ะ ท่านธัมมนันทาทำหน้าบ้องแบ๊ว คือไม่รู้จริงๆ ว่ามันขนาดเท่าไหน จะต้องตอบให้ลูกศิษย์เข้าใจน่ะ ที่คำตอบเป็นเช่นนี้ เพราะถามตอบกันในอินเดีย การยกตัวอย่างก็ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสิ่งที่ชาวอินเดียคุ้น เห็นอยู่เป็นปกติ

ตอนที่พวกศากยะอพยพไปสร้างเมืองใหม่ ก็ไปสร้างเมืองในที่ที่มีนกยูงชุกชุม ราชวงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชจึงชื่อว่าเมารยะ แปลว่า นกยูง คนไทยไปแสวงบุญที่อินเดียก็มักซื้อพัดขนนกยูงมาฝาก

แต่ตานกยูงมันขนาดไหนเหรอ

เอาเป็นว่า โตกว่าหัวไม้ขีดไฟเล็กน้อย

อา… ทีนี้ก็ทำเครื่องหมายบนมุมผ้าจีวรขนาดเท่าตานกยูงได้ถูกต้อง

เรื่องเล็กๆ นะคะ แต่ไม่รู้ก็ต้องถามให้รู้จนได้ ต้องรู้ชนิดที่ตอบลูกศิษย์ได้

 

เล่าออกไปไกลจนเกือบจะกลับไม่ถูก

กำลังเล่าว่า ท่านธัมมกมลาผู้นำของแม่ชีที่มาบรรพชา 4 รูป ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ค่ะ

พอครบ 9 วัน ท่านธัมมนันทาท่านก็ไล่ให้สึก กลุ่มสามเณรี 4 รูปนี้ขอบรรพชาต่อ ท่านธัมมนันทาท่านให้คำอธิบายว่า แม่ชีที่เป็นหัวหน้าตัวจริงคือพี่สาวของท่านธัมมกมลานั้น ท่านไม่ได้มาด้วย หากสามเณรีกลุ่มนี้กลับไป หัวหน้าที่เป็นแม่ชีพี่สาวก็ต้องให้ความเคารพสามเณรี และหากท่านหัวหน้าที่เห็นด้วยออกบรรพชาตาม ท่านก็ต้องนั่งต่อแถวจากสามเณรีที่บวชไปก่อน 4 รูปนี้

ท่านธัมมนันทาท่านรับปากว่า เอาละสึกไปก่อน หากแม่ชีที่เป็นพี่สาวและเป็นหัวหน้าสำนักนั้น คิดว่าจะเริ่มต้นเป็นคณะเดียวกันทั้งหมด ก็ค่อยจัดการบรรพชาใหม่ โดยคราวนี้ท่านที่เป็นพี่สาวก็จะเป็นสามเณรีหัวแถวได้อย่างงดงาม

สามเณรีกลุ่มนี้ลาสึกกลับไปเป็นแม่ชีพร้อมกับสามเณรีรุ่นนั้น คือวันที่ 14 ธันวาคม 2554

ช่วงนั้น ระหว่างวัตรทรงธรรมกัลยาณีและทิพยสถานธรรม ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง

จนได้ฤกษ์วันบรรพชาสามเณรีเป็นครั้งแรกที่ทิพยสถานธรรม อ.เกาะยอ จ.สงขลา ยกทีมแม่ชีทั้งหมดในสำนักนั้นบรรพชาเป็นสามเณรีทั้งหมด 9 รูป วันที่ 15 มกราคม 2555

 

เมื่อผ่านพรรษาไป ปรากฏว่ามีพระภิกษุที่สงขลา ท่านถามว่า สามเณรีพวกนี้ คิดจะอุปสมบทต่อเป็นภิกษุณีหรือไม่ ทั้งเก้ารูปก็ยืนยันเช่นนั้น พระอาจารย์ท่านนี้ก็อธิบายว่า ในพระวินัยนั้น กล่าวไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่บวชเป็นภิกษุณี ต้องเป็นสิกขมานามาแล้วครบสองพรรษา

สามเณรีคณะนี้ก็กลับไปที่ท่านธัมมนันทาอีกครั้งหนึ่ง ท่านธัมมนันทานั้น ท่านให้สามเณรีของท่านเองประกาศสิกขมานาแล้ว แต่ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ทั้งในไทยและศรีลังกา

ศรีลังกาแม้จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้อุปสมบทภิกษุณีที่มาจากสิกขมานา

เรียกว่าเรื่องการประกาศสิกขมานานี้ เริ่มต้นรื้อฟื้นโดยท่านธัมมนันทา เงื่อนไขในการประกาศสิกขมานาที่ละเอียดกว่าการบรรพชาสามเณรี คือการประกาศสิกขมานาต้องทำในสีมา และในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย สิกขมานารับอนุธรรม 6 ซึ่งคือ 6 ข้อแรกในศีล 10 ต้องรักษาไว้โดยไม่ขาดตลอด 2 พรรษา หากขาดต้องเริ่มนับใหม่

ท่านธัมมนันทาอธิบายว่า สิกขมานา คือสามเณรีเข้มข้นที่รู้ตนว่าจะอุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป ทางพระวินัยจัดลำดับในการนั่งอย่างนี้ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณรี แปลว่า สิกขมานาสูงกว่าสามเณรี

เรียกว่าการเกิดขึ้นของสิกขมานาที่เกาะยอมีคุณูปการต่อการเติมเต็มให้ขั้นตอนของภิกษุณีเป็นไปโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อ พ.ศ.2559 เมื่อท่านธัมมนันทาพร้อมภิกษุณีสงฆ์ไปกราบผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จช่วง) ที่วัดปากน้ำ ท่านก็ยังยืนยันคุณสมบัตินี้ว่า ต้องเป็นสามเณรี สิกขมานา และภิกษุณี

 

สองพรรษาต่อมา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ท่านธัมมทีปา ท่านกมลา ฯลฯ ได้จัดการอุปสมบทภิกษุณี 8 รูปที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม โดยนิมนต์ท่านมหินทวังสะ มหานายกจากศรีลังกามาเป็นอุปัชฌาย์ ภิกษุที่เป็นกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์มาจากศรีลังกา มีภิกษุไทยเข้าร่วมเป็นพระอันดับ 17 รูป

ฝ่ายภิกษุณี มีภิกษุณีสุมิตราเป็นปวัตตินี ท่าน ดร.หลิวฟับจากเวียดนามกับท่านสันตินีจากอินโดนีเซียเป็นพระคู่สวด มีภิกษุณีไทยเข้าร่วมเป็นพระอันดับ 12 รูป และอีกจำนวนหนึ่งอยู่นอกหัตถบาสก์

ทันทีที่เสร็จสิ้นการอุปสมบท ท่านมหานายก มหินทวังสะ มอบตาลปัตรเป็นหมายและแต่งตั้งท่านธัมมนันทาเป็นปวัตตินีในคราวนั้น ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ 20 รูปและภิกษุณีสงฆ์ที่มาร่วมในงานอุปสมบทครั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้ การอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ไทยครั้งแรกที่ทิพยสถานธรรม เกาะยอ จึงมีนัยยะสำคัญต่อการบันทึกประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย

มีนัยยะสำคัญในการบันทึกประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในดินแดนที่มีชาวพุทธมากที่สุดในโลก คือประเทศไทย

สังฆกรรมอันทำไว้ดีแล้ว ภิกษุใดพยายามรื้อฟื้นย่อมทำไม่ได้ เป็นอาบัติ เพราะเป็นสังฆกรรมที่ทำโดยสงฆ์

นี้เป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และท่านอาจารย์พรหมวังโสเคยพูดไว้ว่า “we are on the right side of history”

เราอยู่บนหน้าที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์