ก่อการร้ายลอนดอน กับการ ‘เข้ารหัสข้อมูล’

AFP PHOTO / ITN / HO

เป็นอีกครั้งที่โลกต้องช็อกกับเหตุการณ์ก่อการร้าย ที่ดูเหมือนจะวนไปเกิดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก

ครั้งนี้ถึงคราว “กรุงลอนดอน” เมืองหลวงแห่งประเทศอังกฤษ ที่ตกเป็นเป้าของการก่อการร้าย ที่ดูเหมือนว่า ไม่ต้องพึ่งพาอาวุธร้ายใดๆ เพียงแค่มีรถหนึ่งคัน กับมีด ก็สามารถทำให้ผู้คนล้มตายอย่างที่โลกต้องตกตะลึง

คาลิด มาซูด ชาวอังกฤษ วัย 52 ปี เป็นผู้ก่อเหตุครั้งนี้ ด้วยการเช่ารถเอสยูวีขับไปพุ่งชนผู้คนบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ ใจกลางกรุงลอนดอน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 40 คน แล้วขับรถพุ่งเข้าชนกับรั้ว แล้วถือเอามีดออกไปไล่แทงผู้คนบนถนน และแทงตำรวจเสียชีวิต 1 นาย ก่อนที่มาซูดจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตในที่สุด

เป็นอันจบเหตุโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของอังกฤษ ก่อนที่ยอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งราย จากเหยื่อรายหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในที่สุด

ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5 ราย ซึ่งรวมทั้งนายมาซูด ผู้ก่อเหตุด้วย

AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS

หลังเหตุการณ์จบลง ปฏิบัติการตามล่าตัวผู้ร่วมก่อเหตุก็เริ่มต้นขึ้น มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยหลายต่อหลายคน ขณะที่กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส ก็ออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีกรุงลอนดอนครั้งนี้เอง พร้อมกับยกย่องนายมาซูดว่าเป็นสาวกคนหนึ่งและเป็นฮีโร่

สิ่งที่ตามมาคือ คำถามที่ว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถสกัดเหตุรุนแรงครั้งนี้ได้ ทั้งที่นายมาซูดเองมีประวัติการก่ออาชญากรรมมาก่อน แต่กลับไม่ได้อยู่ในการจับตามองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายมาซูดเกิดที่เมืองเคนต์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ ก่อนจะย้ายไปอยู่ใกล้ๆ กับเมืองเบอร์มิ่งแฮม เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังเป็นเมืองที่มีผู้อพยพชาวเอเชียใต้และแคริบเบียนอยู่จำนวนมาก พร้อมกับลูกๆ ของผู้อพยพเหล่านี้

นายมาซูด เคยมีประวัติถูกตัดสินว่ามีความผิดจากข้อหาทำร้ายร่างกาย มีอาวุธในครอบครองและก่อความไม่สงบ แต่นายมาซูดไม่ได้เป็นบุคคลที่ตกเป็นเป้าของการสอบสวนใดๆ ในตอนนี้ ซึ่งตำรวจลอนดอนยังบอกด้วยว่า “ไม่มีข่าวกรองใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเขาจะก่อการร้าย”

ในส่วนของเมืองเบอร์มิ่งแฮมนั้นก็มีประวัติที่ยาวนานเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกับพวกลัทธิหัวรุนแรงทั้งหลาย และยังเป็นที่อยู่อาศัยของ “ราชิด ราอุฟ” ผู้ที่มีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้า และยังเป็นผู้ต้องสงสัยลำดับต้นๆ ในการวางแผนระเบิดเครื่องบินของสายการบินหลายสายที่บินข้ามแอตแลนติก เมื่อปี ค.ศ.2006

นายราอุฟถูกสังหารในปี 2008 ระหว่างปฏิบัติการของสหรัฐในการโจมตีทางอากาศบริเวณตอนเหนือของปากีสถาน

และเมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เพิ่งจะสามารถสกัดแผนระเบิดในเมืองเบอร์มิ่งแฮมเอาไว้ได้ ที่มีความเชื่อมโยงกับพวกกลุ่มหัวรุนแรง

หลังเหตุรุนแรง ก็มีการยกระดับความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และเป็นอีกครั้งที่มีการเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยียอมเปิดทางให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลดิจิตอลของบุคคลทั่วไป

หลังตรวจสอบพบว่า นายมาซูดได้ส่งข้อความจากวอตส์แอพพ์ออกไปก่อนก่อเหตุ

แอมเบอร์ รัดด์ / AFP PHOTO / AAMIR QURESHI

แอมเบอร์ รัดด์ รัฐมนตรีมหาดไทยของอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการแอนดรูว์ มาร์ โชว์ ของสถานีโทรทัศน์บีบีซีว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปอ่านข้อความของแอพพลิเคชั่นที่คนหนึ่งส่งถึงอีกคนหนึ่งได้เพราะข้อความเหล่านั้นถูกเข้ารหัสเอาไว้ เป็นเรื่องที่ “รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”

รัดด์ยังได้กล่าวถึงแอพพลิเคชั่นส่งข้อความ “วอตส์แอพพ์” ว่า อังกฤษอยากจะมั่นใจได้ว่า องค์กรต่างๆ อย่างเช่นวอตส์แอพพ์ จะไม่มีพื้นที่ลับๆ ไว้ให้พวกก่อการร้ายใช้เป็นช่องทางสำหรับการสื่อสารกันได้ และอยากจะแน่ใจได้ว่า หน่วยข่าวกรองจะสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อความที่เข้ารหัสเอาไว้ของวอตส์แอพพ์ได้

และดูเหมือนว่า การแสดงความคิดเห็นของรัดด์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ขาดซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี

AFP PHOTO / Chris J Ratcliffe

หากแต่ความจริงแล้ว รัดด์ไม่ใช่คนแรกที่คิดเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุบริษัทเทคโนโลยีต้องมีปัญหากับรัฐบาลมาแล้ว อย่างเช่น หลังเหตุโจมตีที่เมืองซานเบอร์นาร์ดิโน เมื่อเดือนธันวาคม 2015 รัฐบาลสหรัฐเองก็เรียกร้องให้แอปเปิ้ลถอดรหัสเครื่องไอโฟนที่เป็นของหนึ่งในมือปืนที่ก่อเหตุ

แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลสหรัฐก็ต้องพ่ายแพ้ไปตามกฎหมาย แล้วหันไปใช้วิธีในการว่าจ้างบริษัทอื่นให้มาแงะข้อมูลออกจากไอโฟนเครื่องดังกล่าวเอง

ส่วนที่ประเทศบราซิล รัฐบาลก็ทำการบล็อกวอตส์แอพพ์หลายต่อหลายครั้ง หลังจากวอตส์แอพพ์ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวนคดี

อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นของรัดด์นั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งสำหรับความเป็นส่วนตัว เพราะเราทุกคนต่างไว้ใจในเรื่องการเข้ารหัสที่จะช่วยปกป้องให้เราสามารถสื่อสาร ช้อปปิ้ง และเงินในบัญชีได้อย่างปลอดภัย

AFP PHOTO / Justin TALLIS

ขณะที่ พล.ต.โจนาธาน ชอว์ อดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ก็ออกมาวิจารณ์คำแนะนำของรัดด์ว่า เป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะฉวยโอกาส โดยชอว์ให้สัมภาษณ์รายการทูเดย์ ของคลื่นวิทยุเรดิโอ 4 ของบีบีซี ว่า รัฐบาลพยายามจะฉวยจังหวะนี้ในการบีบให้บริษัทเทคโนโลยียอม และว่า การถอดรหัสลับนั้นจะทำได้เพียงแค่การช่วยเหลือชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

และแม้ว่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยีจะเชื่อว่าความพยายามเพื่อการแบนการเข้ารหัสนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลอังกฤษจะเดินหน้าต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร

ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการเดินหน้าเข้าไปพูดคุยกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ก่อน ว่าจะทำอย่างไรกันได้บ้าง

ไม่ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถึงที่สุดแล้ว เชื่อได้เลยว่า ความพยายามของผู้ก่อการร้ายก็ยังคงมีอยู่ร่ำไปอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่โลกยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตนเป็นใหญ่