สุจิตต์ วงษ์เทศ / เพลงลูกทุ่ง ‘ไม่ไทยเดิม’ มาจาก ‘ไทยสากล’

เพลงไทยสากล ต้นตอเพลงลูกทุ่งในวัฒนธรรมป๊อป ดังนั้น เพลงลูกทุ่ง "ไม่ไทยเดิม" ตามที่อธิบายนานมาแล้วจนทุกวันนี้ (ภาพจาก http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=33&chap=2&page=t33-2-infodetail13.html)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพลงลูกทุ่ง ‘ไม่ไทยเดิม’

มาจาก ‘ไทยสากล’

 

เพลงลูกทุ่ง มีกำเนิดและพัฒนาการเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป๊อป เนื้อหาสมัยแรกๆ เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางชนชั้น อันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ดังนั้น เพลงลูกทุ่งมีกำเนิดการร้องและเล่นผูกกระชับกับวงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากลเป็นหลัก จึงมิได้มีกำเนิดจากวงดนตรีไทยเดิม หรือวงพื้นบ้านพื้นเมือง แต่อาจรับพลังหลายอย่างจาก “ของเก่า” ก็ได้ เช่น ฐานเสียงร้องเต็มเสียง, ทำนอง เป็นต้น

 

เศรษฐกิจ-การเมืองของเพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่งไม่ได้มีขึ้นลอยๆ จากสุญญากาศ แต่มีพัฒนาการยาวนานจากเพลงไทยสากล ใช้เครื่องดนตรีสากลของวงดนตรีสากล ประเภทเพลงตลาด หรือเพลงชีวิต (ไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิต)

สภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีส่วนกระตุ้นให้เกิดเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ “ทรานซิสเตอร์” เทคโนโลยีใหม่ และการโยกย้ายแรงงานจำนวนมากจากชนบทเข้าโรงงานในกรุงเทพฯ กับปริมณฑล

การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระตุ้นให้เกิดเพลงไทยสากลต้นทางเพลงลูกทุ่ง (มีงานศึกษาค้นคว้าเป็นเล่มนานแล้ว) ในที่สุดก็มีเพลงลูกทุ่ง ส่ง “สาร” ความทันสมัยจากเมืองสู่ชนบท

 

สามัญชนเมือง ผู้สร้างเพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่ง โดยรวมๆ แล้วเป็นงานสร้างสรรค์แบบหนึ่งโดยสามัญชนเมือง แล้วแพร่หลายสู่ชนบทด้วยสื่อชนิดใหม่

ขณะเดียวกันก็ดูดกลืนรูปแบบการละเล่นของชาวชนบทไว้เป็นของตนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แล้วพัฒนาเพลงลูกทุ่งส่งให้ชนบทอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับศิลปะของชาวบ้านชนบท เกิดจากคนในเมืองที่พยายามสื่อในสิ่งอันเป็นที่ชอบใจของชาวชนบท

เพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่ถูกเรียกอย่างกว้างขวางแล้วยอมรับอย่างเป็นทางการ ก็มีพัฒนาการสร้างสรรค์ต่อเนื่องยาวนานแตกแขนงหลายกิ่งก้านสาขาเกินกว่าจะประมวลได้หมด

โลกไม่เหมือนเดิม แต่คนบางกลุ่มไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพลงลูกทุ่งสมัยหลังๆ สืบจนทุกวันนี้อาจถูกพิพากษาจากคนบางกลุ่มที่อยากให้โลกเหมือนเดิม

 

เพลงไทยสากล ต้นตอเพลงลูกทุ่ง

เพลงไทยสากลแรกสุดชื่อเพลงวอลทซ์ปลื้มจิต แต่งโดยกรมพระนครสวรรค์วรพินิต (วังบางขุนพรหม) สมัย ร.5 ราว พ.ศ. 2446 หลังจากนั้นต่อมามีเพลงกล้วยไม้ แต่งโดย พรานบูรพ์ (นายจวงจันทร์ จันทร์คณา) สมัย ร.7 ราว พ.ศ.2476

เพลงไทยสากล ต้นตอเพลงลูกทุ่ง บรรเลงด้วยวงดนตรีสากลในกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีพัฒนาการ (ตั้งแต่สมัย ร.4 เรือน พ.ศ.2400) ในกองทหารด้วยแตรวง, วงดุริยางค์, วงโยธวาทิต ซึ่งช่วงต่อไปเกี่ยวข้องกับพระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยากร) มีลูกศิษย์ลูกหานับไม่ถ้วน เป็นผู้สร้างสรรค์เพลงลูกทุ่ง

 

วัฒนธรรมป๊อป

วัฒนธรรมป๊อปมีพลังผลักดันเพลงไทยสากลให้มีเสรี มากสีสัน ทันสมัย หวือหวา เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทันท่วงที สนุก (ป๊อปมาจากโลกตะวันตก แล้วแพร่หลายเข้าถึงไทยอย่างมีพลัง ราวหลัง พ.ศ.2470 โดยผ่านสื่อสำคัญครั้งนั้น เช่น การพิมพ์, การแสดงสาธารณะ, แผ่นเสียง ฯลฯ)

ก่อนมีเพลงไทยสากล ในไทยมีเพลงดนตรีไทยแบบฉบับ (ตามประเพณีของภาคกลาง) ที่เรียกทั่วไปว่า มโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย [เพลงดนตรีภาคอื่นๆ (ไม่ภาคกลาง) เช่น สะล้อซอซึง, แคน, พิณ, กาหลอ, ชาตรี ถูกกีดกันเป็นเพลงดนตรีพื้นบ้านพื้นเมือง หมายถึงไม่ไทย]

ดนตรีไทยแบบฉบับ เป็นปฏิปักษ์วัฒนธรรมป๊อปเพื่อรักษาจารีตดั้งเดิมไว้ และเพื่อผดุงสถานะคนชั้นนำเดิม เมื่อมีเพลงไทยสากลและวงดนตรีไทยสากล นับแต่นี้ไปเพลงดนตรีไทยแบบฉบับถูกแช่แข็ง เรียกเป็น “วงดนตรีไทยเดิม” และ “เพลงไทยเดิม” (ดนตรีไทยแบบฉบับ หรือดนตรีไทยเดิม แท้จริงแล้วคือดนตรีไทยประเพณีที่รับอิทธิพลแบบแผนดนตรีตะวันตก เพื่อแสดงอำนาจและบารมีความเป็นเลิศของผู้ดีกระฎุมพีคนชั้นนำสมัยนั้น ตั้งแต่สมัย ร.4 เรือน พ.ศ.2400

 

เพลงลูกทุ่ง

“เพลงลูกทุ่ง” ชื่อเรียกนี้มีขึ้นราว พ.ศ.2507 ก่อนหน้านั้นไม่เรียกเพลงลูกทุ่ง แต่เรียก “เพลงไทยสากล” ซึ่งรับรู้กว้างขวางว่าเป็นเพลงทันสมัยแบบฝรั่ง ใครฟังแล้วเท่

เพลงไทยสากลเป็นที่รู้กันกว้างขวางนานแล้ว ว่าเมื่อเรือน พ.ศ.2507 ค่อยๆ แยกเป็น 2 แขนง เรียกเพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่ง โดยมีพัฒนาการยาวนานพอสมควร ทั้งแตกต่างหลากหลายและคล้ายคลึงกัน พบรายละเอียดอยู่ที่ข้อเขียน 2 เรื่องของ “คนใน” ผู้มีส่วนสร้างสรรค์โดยตรง ได้แก่ มงคล อมาตยกุล (ครูเพลงไทยสากล และนายวงดนตรีลูกทุ่งสมัยแรกเริ่ม) และ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ผู้จัดรายการโทรทัศน์คนแรกใช้ชื่อเพลงลูกทุ่งเมื่อปลายปี 2507 (พิมพ์รวมในหนังสือ เพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2534 หน้า 50-55)

เพลงลูกทุ่งมีกำเนิดและพัฒนาการจากเพลงไทยสากล ด้วยเครื่องดนตรีสากล (ของฝรั่ง) ร่วมกันกับเพลงลูกกรุง ดังนั้น เพลงลูกทุ่งกับเพลงลูกกรุงจึงมีความเป็นมาร่วมกัน จนหาความแตกต่างไม่พบ หรือเกือบไม่มี

กำเนิดและพัฒนาการนี้มีขึ้นโดยสามัญชนในเมือง แล้วกระจายสู่ชนบทด้วยการสื่อสารคมนาคมแผนใหม่ ในขณะเดียวกันก็ดูดกลืนรูปแบบร้องรำทำเพลงของชาวบ้านในชนบทมาไว้เป็นของตน เพราะตลาดมีผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยเป็นคนในเมืองและในชนบท

 

เพลงลูกทุ่งไม่มาจากเพลงไทยเดิม

เพลงลูกทุ่ง สรุปว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งประเภทเพลงไทยสากลในกระแสป๊อปที่ผลิตในเมือง โดยมีตลาดอยู่ทั้งในเมืองและชนบท

[รายละเอียดมีอีกไม่น้อย อยู่ในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก 2563 สั่งซื้อออนไลน์ที่ www.facebook.com/ituibooks หรือโทรศัพท์ 08-8919-4516]