ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / THE HIGHWAYMEN

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE HIGHWAYMEN

‘บอนนี่กับไคลด์’

 

กำกับการแสดง John Lee Hancock

นำแสดง Kevin Costner Woody Harrelson Kathy Bates William Sadler

 

ใครๆ คงยังจำหนัง Bonnie and Clyde (1967) จากฝีมือกำกับฯ ของอาร์เธอร์ เพนน์ ได้นะคะ จำผู้กำกับฯ ไม่ได้ก็คงจำดาราได้ไม่ลืม

วอร์เรน เบตตี้ กับเฟย์ ดันนาเวย์ ในบทบาทของไคลด์ แบร์โรว์ กับบอนนี่ พาร์กเกอร์

ผู้เขียนดูสมัยยังวัยรุ่น เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยหมาดๆ ดูหนังไปเรื่อยๆ แบบไม่คิดอะไรมาก แต่ก็สนุกมากนะคะ และเห็นบอนนี่กับไคลด์แบบที่หนังนำเสนอต่อคนดู

นั่นคือภาพของคนเดินดินผู้ยากไร้ที่เป็นกบฏต่อกฎหมายและบ้านเมือง จนตกเป็นข่าวครึกโครม และแม้จะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร แต่ก็กลายเป็นขวัญใจประชาชน เนื่องจากความหาญกล้าท้าทายกฎหมาย

บอนนี่กับไคลด์เป็นโจรปล้นธนาคารค่ะ และเนื่องจากฆ่าคนตายไปหลายคน จึงถูกหมายจับและประกาศให้จับเป็นหรือจับตายก็ได้ทั้งสิ้น

วาดภาพบริบททางสังคมของอเมริกาในยุคนั้นสักหน่อย ทศวรรษ 1930 เป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ซึ่งเริ่มขึ้นในอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ.1929 และส่งผลไปทั่วโลกกินระยะเวลาตลอดทศวรรษ บางประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวด้วยซ้ำจวบจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกาส่งผลให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก บ้านช่องถูกยึด และผู้คนอดอยากยากจนไปทั่วประเทศ สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารตกเป็นเป้าของความเกลียดชัง ในฐานะที่ทำนาอยู่บนหลังของคนยากจน ร่ำรวยมั่งคั่งอยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่คนส่วนใหญ่ลำบากยากจน

ดังนั้น โจรปล้นธนาคารและเย้ยกฎหมายบ้านเมืองอย่างบอนนี่กับไคลด์จึงกลายเป็นไอดอลของคนทั่วไป ซึ่งมองหาและเชียร์ฮีโร่ที่เข้ามาต่อกรกับบ้านเมืองและสถาบันที่พวกเขาเกลียดชัง

 

หนัง Bonnie and Clyde นำเสนอภาพของอาชญากรสองคนนี้ในลักษณะของกบฏผู้ท้าทายอำนาจที่เป็นอธรรม

เมื่ออาชญากรกลายเป็นพระเอก กฎหมายบ้านเมืองก็กลายเป็นผู้ร้ายที่คอยราวีและล่าตัวพระเอกนางเอกขวัญใจประชาชน

ตอนดูหนังเรื่องนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าใครๆ ก็เชียร์ให้พระเอก-นางเอกอยู่รอดปลอดภัยและพ้นจากชะตากรรมอันเลวร้าย

แต่ก็ยังจำได้ติดตาถึงภาพในตอนจบของหนังที่ทั้งสองโดนซุ่มยิง สาดกระสุนใส่ไม่นับจนพรุนไปทั้งร่าง

นั่นคือตอนจบของเรื่องจริงสำหรับอาชญากรในชีวิตจริงสองคนนี้ด้วยค่ะ

และนั่นคือภาพที่เราจดจำเกี่ยวกับอาชญากรสองคนนี้

 

จวบจน 53 ปีต่อมา ใน ค.ศ.2020 The Highwaymen จึงนำเสนอเรื่องราวในลักษณะโต้กลับ พลิกหัวเป็นหาง หางเป็นหัว

โดยนำเสนอจากมุมมองของฝ่ายกฎหมายและบ้านเมือง

The Highwaymen เป็นเรื่องราวของการตามล่าตัวสองโจรผู้ปล้นและฆ่าคนตายอย่างอุกอาจที่สุด ซึ่งออกปฏิบัติการที่เป็นการตบหน้าฝ่ายที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ครั้งแล้วครั้งเล่า และยังลอยนวลอยู่ได้ โดยแทบจะไร้ร่องรอยหรือเบาะแสให้ติดตาม

เอฟบีไอซึ่งมีเครือข่ายข้ามรัฐก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก และไม่สามารถตามหาตัวอาชญากรผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อนสองคนนี้เจอ

ร้อนถึงผู้ว่าการรัฐเท็กซัสหญิงแกร่งปากกล้า ชื่อ มา เฟอร์กูสัน (แคธี่ เบตส์ ในบทเล็กๆ ที่น่าสะดุดตา ตามเคย) จำใจต้องกลับไปหาอดีตเจ้าหน้าที่ของหน่วยปราบปรามของเท็กซัส หรือ Texas Rangers ซึ่งได้รับฉายาว่า Texas Devils คอยลาดตระเวน ปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดทั่วรัฐเท็กซัส

แฟรงก์ เฮเมอร์ (เควิน คอสต์เนอร์) วางมือไปจากอาชีพนี้แล้ว และใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบและสุขสบายกับภรรยา แกลดีส (คิม ดิกเกนส์) ซึ่งไม่อยากให้สามีไปทำงานเสี่ยงภัยอีกแล้ว

ขอนอกเรื่องไปหน่อย เกี่ยวกับแกลดีส เฮเมอร์ ภรรยาของแฟรงก์ เฮเมอร์ ผู้ที่แกะรอยติดตาม และจัดการล่าตัวบอนนี่กับไคลด์ได้สำเร็จ ว่ากันว่าหลังจากหนัง Bonnie and Clyde ออกฉาย แกลดีสไม่พอใจกับการนำเสนอภาพของแฟรงก์ สามีเธอในหนัง จนมีการฟ้องร้องเป็นคดีความกัน

แต่เลือดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในตัวแฟรงก์ก็พลุ่งพล่านขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อได้รับรู้ว่าสองโจรฉกาจลงมืออีกโดยไม่หลาบจำหลังจากไคลด์แหกคุกออกมาด้วยความช่วยเหลือของบอนนี่ผู้ควงปืนสาดกระสุนเป็นว่าเล่น และบุคคลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสังหารของสองโจรซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือฝ่ายตำรวจและฝ่ายกฎหมายบ้านเมือง

แฟรงก์ตกลงรับข้อเสนอว่าจ้างให้ตามล่าตัวสองอาชญากร โดยผู้ว่าการรัฐซึ่งอับจนหนทางอื่นที่จะจัดการแล้ว และได้รับอนุญาตให้จับเป็นหรือจับตายก็ได้

แฟรงก์จึงไปหาเมนี่ กอลต์ (วู้ดดี้ แฮร์เรลสัน) อดีตผู้ร่วมงาน ผู้เจอพิษเศรษฐกิจตกต่ำเข้าอย่างจัง และกลับมีชีวิตชีวาขึ้นใหม่จากโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตนักล่าแบบเดิม

 

หนังเสนอภาพบริบทของสังคมสมัยนั้นได้ดีมาก สภาพบ้านช่องที่ทรุดโทรม ผู้คนอยู่อาศัยกันในเพิงอย่างแออัด เนื่องจากไม่มีบ้านจะอยู่อาศัย

เรื่องราวจะลงเอยอย่างไร ก็คงจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะคะ เนื่องจากหนังสร้างจากเรื่องราวในชีวิตจริงของอาชญากรที่ฉาวโฉ่ที่สุดคู่หนึ่งในอเมริกา

หนังเดินเรื่องในลักษณะของ road movie ของสองสหายที่ทำงานร่วมกันแต่ก็ขัดคอกัน มีอยู่สองสามฉากที่โดนใจผู้เขียนเป็นพิเศษ

ฉากหนึ่งอยู่ในตอนที่แฟรงก์ตามไปหาพ่อของไคลด์ แบร์โรว์ และไปพบเฮนรี่ แบร์โรว์ (วิลเลียม แซดเลอร์) เป็นเจ้าของร้านซ่อมรถและขายของจิปาถะ ซึ่งปรากฏตัวออกมาพบเมื่อแฟรงก์มองเห็นพาดข่าวหนังสือพิมพ์และคว้าขึ้นมาอ่าน ถือติดมือไปด้วย ก่อนจะเดินออกจากร้าน แต่เขาก็นึกขึ้นได้ และหันมาวางค่าหนังสือพิมพ์ไว้บนเคาน์เตอร์

จังหวะนั้นเองที่เฮนรี่ยอมออกมาพบเขา รายละเอียดเล็กๆ พวกนี้บอกเราได้ว่าเฮนรี่ยอมพบแฟรงก์เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์และยุติธรรม  สิ่งที่พูดคุยกันต่อจากนั้นก็เล่าเรื่องราวอะไรๆ ได้มากพอควร

เพราะเฮนรี่สารภาพว่า เขารู้แล้วว่าจุดจบของลูกชายจะต้องเป็นอย่างไร และขอให้แฟรงก์ทำให้มันจบลงเสียที

นอกจากนั้น ในฐานะของพ่อที่เลี้ยงลูกที่โตขึ้นมาเป็นอาชญากร เขาก็ตั้งคำถามกับตัวเองนับครั้งไม่ถ้วนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเล่าเรื่องราวสมัยเด็กว่าไคลด์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะโตขึ้นมาเป็นคนแบบนี้ เหตุการณ์ครั้งเดียวคือไปขโมยไก่เข้าจนถูกตำรวจจับ

เรื่องหนึ่งนำไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง และต่อๆ ไปเรื่อยๆ จนกู่ไม่กลับ

แฟรงก์เองก็มีเรื่องราวสมัยเด็กเล่าให้ฟังเหมือนกัน

 

เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต เรามักจะมองกลับไป และตั้งคำถามว่า เรากลายมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไรหนอ

นี่คือเรื่องราวที่เป็นอีกด้านของเหรียญอันเดียวกัน เหรียญที่มีอยู่สองหน้า หน้าหนึ่งนั้นเราได้เห็นและจดจำอย่างตรึงตรามานานแล้วจากหนังคลาสสิคเรื่องหนึ่ง ตอนนี้เราได้เห็นหนังที่พลิกเหรียญให้เราเห็นอีกด้าน

ที่สำคัญคือ เราแทบจะไม่ได้รู้จักตัวตนหรือเห็นหน้าค่าตาของบอนนี่กับไคลด์เลย ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงด้านหลังด้านข้าง ชายกระโปรงหรือท่าเดิน และการกระทำอันโหดเหี้ยมไร้ปรานี

นี่คือเรื่องราวของฝ่ายพิทักษ์สันติราษฎร์ที่ตามล่าหาตัวอาชญากรจอมโหด

และหลักฐานที่มีตัวตนคือภาพถ่ายรถยนต์รุ่นโบราณที่โดนยิงพรุนไปทั้งคัน เป็นตอนจบที่เหมือนกันของหนังทั้งสองเรื่องค่ะ