เทศมองไทย : “เซ็กซ์ อิน เดอะ ซิน ซิตี้” พัทยากับความจริง

เรื่องนี้เริ่มต้นจากพาดหัวของหนังสือพิมพ์ต่างชาติสองสามฉบับเมื่อไม่นานมานี้ ให้สมญานามพัทยา แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อลือชาของไทยว่า “เมืองหลวงแห่งเซ็กซ์ของโลก” บ้าง “ซิน ซิตี้” เมืองแห่งคนบาปบ้าง เล่นเอาหงุดหงิด คับข้องใจกันตั้งแต่พัทยา เมืองชลบุรี มายันตึกไทยคู่ฟ้าในกรุงเทพมหานคร

เป็นที่มาของความพยายามในการกวาดล้างในพัทยาต่อเนื่องหลายครั้งหลายหนในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ทำให้ แมตธิว ทอสเทวิน แห่งรอยเตอร์ หยิบสภาพล่าสุดของเมืองหนึ่งในประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลกมานำเสนอออกไปทั่วโลกอีกครั้งเมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา

แมตธิวบอกว่า มีบาร์จำนวนหนึ่งถูกบุกตรวจค้น เจ้าของกับผู้หญิงบริการถูกจับกุม เปรียบเทียบปรับ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ค่อยเป็นที่พึงปรารถนาสักเท่าใดนัก

กิจการต่างๆ ซบเซา นักท่องเที่ยวที่แสวงหาความสุขทางเพศไม่ยอมออกไปไหน จับเจ่าอยู่แต่ในโรงแรม ยอดขายของแผงลอยและร้านค้าทั้งหลายตกรูดมหาราช กระแสการเงินที่เคยไหลเวียนคล่องตัวในทุกระดับของเมืองสะดุดลง

นั่นเป็นที่มาของสิ่งที่ ภัคธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเรียกว่า “แฮปปี้ โซน” เพราะ “อยากให้คนทั่วไปได้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่เขาพูดกัน เราไม่ได้อนุญาตให้โสเภณีเข้ามาภายในสถานที่เพื่อการบันเทิงเหล่านี้”

flickr.com/lashkin

รายงานของแมตธิวเสนอความเป็นจริง 2 ด้านที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับ “อุตสาหกรรมทางเพศ” ที่เกิดและเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อพัทยาหลายเป็น “พื้นที่ อาร์แอนด์อาร์” พื้นที่พักผ่อนชั่วคราวหลังกรำศึกสงครามของทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียดนาม จนเป็นที่เลื่องลือ แม้ว่าในหลายๆ เมือง แม้กระทั่งกรุงเทพฯ เองก็มีบริการทางเพศเช่นนี้อยู่เหมือนกันก็ตาม

ในด้านหนึ่งนั้น ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวทางเพศ หรือ เซ็กซ์ ทัวริสม์ นั้น จะว่าไปแล้ว ไม่ได้เติบโตเร็วและมากเท่ากับคุณลักษณะอื่นๆ ที่เหลือของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่สดใสในสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวเติบโต “ช้าที่สุด” ในบรรดาเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันนับตั้งแต่ปี 2014 เรื่อยมา

AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการมายืนยัน แต่มีข้อเท็จจริงบ่งชี้ให้เห็นไปในทางนั้น นั่นคือ สภาวะสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวที่เป็นหญิงและชาย ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ตัวเลขนักท่องเที่ยวชายเทียบกับหญิงคือ 6 ต่อ 4 คน

ในขณะที่ตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2015 สัดส่วนดังกล่าวกลายเป็นครึ่งต่อครึ่ง คือในจำนวนนักท่องเที่ยว 10 คนมีผู้ชาย 5 ผู้หญิงอีก 5 คนเท่ากัน

รายงานของสำนักงานเพื่อเอดส์แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2014 รายงานจำนวน “แรงงานทางเพศสตรี” ในเมืองไทยเอาไว้ว่า อยู่ที่กว่า 120,000 คน ที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขประมาณการของบางฝ่ายระบุจำนวนสูงกว่านั้นเป็นเท่าตัว

และตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในเวลาเดียวกันด้วยว่า “ผู้หญิงที่ให้บริการทางเพศแลกเงิน” นั้น บางทีก็ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็น “โสเภณีเต็มเวลา” แต่อย่างใด

ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งนั้น แมตธิวพยายามบอกเอาไว้ว่า ในสภาพที่ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันตกอยู่ที่ไม่ถึง 10 ดอลลาร์ คือเพียงแค่ 305 บาทต่อวัน โอกาสที่จะมีรายได้มากกว่านั้นหลายต่อหลายเท่าตัวด้วยการทำงานที่กระชับสั้นกว่าย่อมดึงดูดใจหลายคนให้เดินเข้าไปหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนจากพื้นที่ชนบทที่ยากจนกว่า

flickr.com/lashkin

“แฮปปี้ โซน” ถูกแมตธิวอธิบายเอาไว้ว่า เป็นความพยายาม “ที่นุ่มนวลกว่า” การกวาดล้าง แต่ยังคงเป็นการแสดงให้เห็นถึง “ความพยายาม” ในอันที่จะแสดงให้เห็นว่า “มีการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างลงไป” และถ้ามัน “เวิร์ก” ที่วอล์กกิ้งสตรีต แนวคิดนี้ก็จะถูกขยาย นำไปปรับใช้ให้แพร่หลายให้รวมถึง ตรอกซอกซอย ที่สะอาดสะอ้านน้อยกว่าต่อไป

บรรดาธุรกิจทั้งหลายในแฮปปี้ โซน ได้รับคำร้องขอให้ “ช่วยกัน” ทำให้พื้นที่ใกล้เคียงของพวกเขาให้ความรู้สึก “ปลอดภัย” มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น เจ้าหน้าที่เพิ่มการลาดตระเวน ตำรวจจัดทำแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนสำหรับแจ้งเหตุปัจจุบันทันด่วน

พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผู้กำกับการที่นี่บอกว่า นี่คือโครงการนำร่องเพื่อนำพัทยาไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของ “การท่องเที่ยวคุณภาพ” ที่ไม่มีโสเภณีเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว

เหล่านี้ก็เป็นความจำเป็นและความจริงด้านหนึ่ง เช่นเดียวกับความจำเป็นอีกด้านหนึ่งก็เป็นความจริงแท้เช่นเดียวกัน

แมตธิว ทอสเทวิน บอกว่า ผู้หญิงวัย 35 เจ้าของหมายเลข 136 บอกกับเขาว่า ทุกคนที่นี่ต้องทำมาหากิน ก็อยากทำอย่างอื่นเหมือนกัน แต่ตัวเองก็ต้องกิน ลูกๆ ก็ต้องกิน ต้องเรียน ถ้าทำอย่างอื่นก็ไม่พอส่งลูกเรียน

เธออยากให้ลูกมีอนาคตสดใส ไม่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเหมือนที่เธอเป็นอยู่ทุกวันนี้!