คุยกับทูต ‘อัลลัน แมคคินนอน’ ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (จบ)

ระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงกรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของออสเตรเลีย ห่างจากกันโดยประมาณ 7,473 กิโลเมตร หรือ 9 ชั่วโมงโดยเครื่องบิน

แต่ความผูกพันระหว่างประเทศในซีกโลกใต้และราชอาณาจักรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับทวีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

ซึ่งในปีนี้เป็นวาระแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย ครบรอบ 68 ปี

นายอัลลัน แมคคินนอน (H.E. Mr Allan McKinnon PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เล่าถึงภารกิจสำคัญที่ผ่านมาตั้งแต่มาอยู่ที่ประเทศไทยเมื่อต้นปีที่แล้ว

“ปี ค.ศ.2019 เป็นปีที่สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นประธานจัดประชุมอาเซียน (ASEAN) ครั้งที่ 34 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของออสเตรเลียและไทยเช่นกัน การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนเป็นโอกาสในการต้อนรับผู้นำระดับสูงจากประเทศต่างๆ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการค้า ท่องเที่ยว และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย”

“ในระหว่างที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน เราต้องการที่จะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและไทย โดยพยายามให้มีการร่วมมือกันมากขึ้นในระดับรัฐบาล เพื่อร่วมกันหาความร่วมมือในด้านใหม่ๆ”

“ยิ่งไปกว่านั้น ในปีที่ผ่านมา เรายังได้มีโอกาสถวายการต้อนรับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ประเทศออสเตรเลีย”

โดยระหว่างวันที่ 13-23 กรกฎาคม ค.ศ.2019 เป็นการเสด็จฯ เยือนเครือรัฐออสเตรเลียของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเครือจักรภพออสเตรเลียวันที่ 24-30 สิงหาคม ปีเดียวกัน

เครือรัฐออสเตรเลียได้ยกย่องสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชไมตรีกับเครือรัฐออสเตรเลีย ได้เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี ค.ศ.1962 เป็นเวลา 18 วัน และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับพระราชทานปริญญาเอกด้านกฎหมายกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นในระหว่างการเยือนครั้งนั้น

การเสด็จฯ เยือนออสเตรเลีย ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการจัดตั้งสมาคมออสเตรเลีย-ไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซิดนีย์และเมืองเมลเบิร์น ส่งผลให้เกิดการแผ่ขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งทางด้านการค้า ประวัติศาสตร์ การศึกษา และประชากร

“ในปี ค.ศ.1970 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา (The King”s School Parramatta) นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จากนั้น ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน (Royal Military College, Duntroon) กรุงแคนเบอร์รา รวมทั้งการฝึกอบรมเพิ่มเติมประสบการณ์ด้านการทหารกับกรมปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ (Special Air Service Regiment: SASR) หน่วยทหารชั้นยอดในออสเตรเลียตะวันตก”

“ทรงใช้เวลาเรียนและฝึกอบรมเป็นเวลาหกปีในออสเตรเลีย และเสด็จเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ.2003”

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดมา มีความโดดเด่นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหาร มีการส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

ออสเตรเลียได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในหลายๆ ด้าน รวมทั้งความร่วมมือทางทหาร ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงและพัฒนากองทัพของตนให้ทันสมัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ออสเตรเลียยังคงต้องการที่จะส่งเสริมให้ไทยรักษาสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระยะยาวนี้ไว้ เพื่อความเป็นมิตรที่ใกล้ชิดและดำรงความพยายามที่จะพัฒนาความร่วมมือกับกองทัพของออสเตรเลียให้ยั่งยืนนาน

“เรามีเจ้าหน้าที่ชาวออสเตรเลีย 5 คน ชาวไทย 2 คน ทำงานที่สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร บางทีมีนายทหารจากกองทัพไทยอาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนจากวิทยาลัยยุทธศาสตร์แห่งชาติ (national strategic college) ซึ่งเรามีนักเรียนที่ไปศึกษาที่นั่น เรามีอาจารย์สอนที่นั่น และมีเจ้าหน้าที่ของเราที่นั่นด้วย เจ้าหน้าที่ของเราเรียนภาษาไทยในโรงเรียนสอนภาษาไทยเพราะเรามีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งที่นี่ ดังนั้น เมื่อหน่วยทหารของเราทั้งสองประเทศทำงานร่วมกันก็สามารถทำงานร่วมกันได้ดี”

“โดยคนของเราจากกองทัพออสเตรเลียสามารถพูดภาษาไทยได้”

“ปัจจุบัน ที่สถานทูตมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกว่า 210 คน รวมถึงคนไทย ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ชาวออสเตรเลีย 5 คนและเจ้าหน้าที่ชาวไทยอีก 1 คนที่สำนักงานกงสุลประจำภูเก็ต ซึ่งผมได้ไปมาแล้วสองครั้ง แต่อยากไปกระบี่และบริเวณโดยรอบภูเก็ตอีก ก็ไม่สามารถทำได้ ทุกคนกังวล เพราะกำลังมีโรคระบาด เราจึงระงับแผนไว้ก่อน”

“ก่อนหน้านี้ ผมไปเชียงรายเป็นเวลาสามวันและเชียงใหม่อีกสามวัน พวกเราได้เข้าเยี่ยมผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจชายแดน นักธุรกิจ สถานศึกษา NGO และอื่นๆ เพื่อเรียนรู้สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่น ได้พูดคุยทั้งนักการเมืองระดับประเทศและท้องถิ่นเช่นกัน”

“ปีแรกที่ผมอยู่ที่นี่ ผมเน้นความสนใจเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ประเทศไทยมีอะไรที่น่าสนใจอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ผมจึงอยากออกไปสำรวจในที่ใหม่ๆ และในช่วงหยุดพักปีใหม่ผมได้ไปท่องเที่ยวยังต่างจังหวัด เช่น สุโขทัย เชียงใหม่ ในฐานะนักท่องเที่ยว ไม่ใช่นักการทูต”

“ผมชอบเชียงใหม่หรือพื้นที่คล้ายเชียงใหม่ที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ให้ศึกษา ได้ไปเที่ยวชมวัดและเรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างเชียงใหม่ อยุธยาและกรุงเทพฯ นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก จังหวัดต่อไปที่ผมอยากไปคือ เพชรบุรี ผมอยากไปดูสถานที่และวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์”

“ส่วนลอยกระทง เป็นประเพณีที่ผมชอบที่สุด และเลือกไปลอยตามวัดต่างๆ แต่ไม่ค่อยชอบสงกรานต์เท่าไรนักเพราะคนไทยชอบเติมน้ำโดยใส่น้ำแข็งเพื่อให้น้ำเย็นที่สุดแล้วสาดใส่ฝรั่ง พวกเราจึงล่องเรือเที่ยวตามวัดวาอารามในวันสงกรานต์แทน”

“ในวันปีใหม่ ผมอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อเข้าร่วมเทศกาลโคมไฟยี่เป็ง ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีความงดงามมาก มีคนทำโคมไฟเป็นจำนวนมากและปิดน่านฟ้าไม่ให้เครื่องบินบินผ่าน ผมสนุกกับเทศกาลนี้มาก เพราะเป็นเทศกาลที่สวยงามและสงบ นับเป็นอีกหนึ่งความทรงจำดีที่มีต่อประเทศไทยเช่นเดียวกับที่วัดโพธิ์ ที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้ไปเยือน”

ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) ชาวล้านนายังนิยมการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และนิยมปล่อยโคมลอยกันในเทศกาลลอยกระทง “ลอยกระทง” เป็นงานรื่นเริงอย่างหนึ่งของคนไทย มีกำหนดจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ชาวล้านนามีความเชื่อว่าการจุดโคมลอยและปล่อยขึ้นไปในอากาศ

เป็นการปลดปล่อยความทุกข์โศกและเรื่องร้ายๆ ให้พ้นตัวและลอยไปกับอากาศ

ท่านทูตแมคคินนอนเปิดเผยว่า

“ผมมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า โดยต้องการให้ความสัมพันธ์ของออสเตรเลียและไทยเป็นในความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ให้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงว่า เราควรจะเพิ่มความพยายามต่อสิ่งท้าทายในทุกมิติของความสัมพันธ์ และทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น นั่นคือเป้าหมายของผมสำหรับปีนี้”

“เมื่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ได้พบปะกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในการประชุมสุดยอดอาเซียน ทั้งสองเห็นพ้องว่า นี่คือนิมิตหมายที่ดี ตอนนี้ก็อยู่ที่เราแล้วว่า จะเริ่มดำเนินการกันอีกเมื่อไหร่ เพราะเราไม่ได้เห็นนายกรัฐมนตรีทั้งสองเยี่ยมเยือนกันอย่างเป็นทางการในระดับทวิภาคีมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว”

“เราจึงอยากให้การเยือนของนายกรัฐมนตรีเป็นแรงผลักดันในการให้ทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพื่อที่จะให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดีขึ้น ซึ่งพวกเราได้ดำเนินงานร่วมกันมาแล้วในหลายมิติ แต่ผมก็ว่า เรายังสามารถทำได้มากกว่านั้น”

“สำหรับประเทศไทย การเลือกตั้งนับเป็นก้าวหนึ่งของการเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเรายอมรับ แต่การบริหารบ้านเมืองของประเทศไทยก็เป็นเรื่องของคนไทย โดยคนไทยต้องทำและทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผลออกมาอย่างดีที่สุด พวกเราคอยติดตามข่าวสารของไทยอย่างใกล้ชิด เพราะประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อออสเตรเลีย”

ประวัติเอกอัครราชทูต อัลลัน แมคคินนอน H.E. Mr Allan McKinnon

ประสบการณ์

– เป็นข้าราชการระดับสูงในสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (PMC) และในกระทรวงต่างประเทศและการค้า (DFAT)

– ล่าสุดดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (PMC) ก่อนเดินทางมาประจำประเทศไทย

– เคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูต (Deputy Head of Mission) และที่ปรึกษาเอกอัครราชทูต (Counsellor) ณ สถานทูตออสเตรเลียในกรุงโตเกียว

– ในออสเตรเลีย เคยดำรงตำแหน่งรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (PMC), รองผู้บัญชาการหน่วยงานร่วม-ปฏิบัติการเขตแดนรัฐบาล

– เคยดำรงตำแหน่งด้านความมั่นคง รวมถึงตำแหน่งด้านการจัดการและการเจรจาการค้า กระทรวงต่างประเทศและการค้า

– รองผู้บัญชาการหน่วยงานเฉพาะกิจหน่วยงาน – Operation Sovereign Borders และตำแหน่งด้านความมั่นคง รวมถึงการจัดการและการเจรจาการค้าในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องในกระทรวงต่างประเทศและการค้า

– ปี 2017-2018 มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดตั้งกรมกิจการภายในและสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ

– ปี 2016-2018 ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิทยาลัยความมั่นคงแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

– ปี 2018 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติงานบริการภาครัฐ สำหรับการบริการสาธารณะที่โดดเด่นในด้านความมั่นคงของชาติ

การศึกษา : สำเร็จศิลปศาสตรบัณฑิต (เอเชียศึกษา) และเศรษฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และอนุปริญญา (กฎหมาย) โดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายของ NSW

ภาษา : พูดภาษาญี่ปุ่น และไทย