วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม | วันโลกและวันหายนะโลก

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (2)

วันโลกและวันหายนะโลก

วันโลกเป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อการเคลื่อนไหวปกป้องโลก

เริ่มขึ้นครั้งแรกในสหรัฐปี 1970 ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี

การจัดวันโลกครั้งแรกในสหรัฐนั้น เกิดขึ้นในสถานการณ์ปั่นป่วนของสหรัฐ

ด้านหนึ่ง เกิดขบวนการนักศึกษา ประชาชนต่อต้านสงครามเวียดนามจนเลยมาต่อต้านรัฐบาลขนานใหญ่ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 1970

ในอีกด้านหนึ่ง เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมในสหรัฐที่เสื่อมโทรมลงไปมาก เนื่องจากการปล่อยปละละเลยของภาครัฐ และการที่สหรัฐเป็นสังคมผู้บริโภคกว่าชาติอื่น

ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมนั้นมีการเตือนไว้ในหนังสือช่วงทศวรรษ 1960 เช่น “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน” (ราเชล คาร์สัน, 1962) “ความขาดแคลนและความเติบโต” (แฮโรลด์ เจ. บาร์เนตต์ และเพื่อน, 1963) “ระเบิดประชากร” (พอล อาร์. เอร์ลิช และภรรยา, 1968) และปรากฏการณ์น้ำมันรั่วร้ายแรงที่ซานตา บาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย (1969) หมอกควันพิษ มลพิษทางน้ำ

วุฒิสมาชิกเกย์ลอร์ด เนลสัน แห่งพรรคเดโมแครต ผู้เคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมานาน ร่วมมือกับพีต แม็กคลอสคีย์ แห่งพรรครีพับลิกัน และนักเคลื่อนไหวประสานงานหนุ่มจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เดนิส เฮเยส พร้อมกับคณะทำงานชุดใหญ่ เลือกวันที่ 22 เมษายน เพราะอยู่ระหว่างวันหยุดฤดูใบไม้ผลิและการสอบไล่ เพื่อเรียกนักศึกษาเข้าร่วม

ในวันที่ 22 เมษายน 1970 สามารถดึงชาวอเมริกันเข้าร่วมได้ถึง 20 ล้านคน หรือร้อยละ 10 ของประชากรสหรัฐในขณะนั้น

การจัดวันโลกในสหรัฐมีอีกสายหนึ่ง มาจากนักเคลื่อนไหวตัวจริงด้านสันติภาพและสิ่งแวดล้อม คือ จอห์น แม็กคอนเนลล์ ผู้ได้เสนอในที่ประชุมของยูเนสโกให้จัดวันที่ให้เกียรติแก่โลกและสำนึกในสันติภาพ โดยให้มีการฉลองในวันแรกของฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกภาคเหนือ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองครั้งแรกในวันที่ 21 มีนาคม 1970

เลขาธิการสหประชาชาติครั้งนั้นคืออูถั่นก็เห็นด้วย แต่ปรากฏว่าการทำงานของนักเคลื่อนไหวและองค์การสหประชาชาติจุดไม่ติด

เป็นอันว่างานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่งได้อยู่ภายใต้การนำของนักการเมืองจากสองพรรคใหญ่ของสหรัฐ

นับแต่การเคลื่อนไหววันโลกปีแรกจนถึงปีที่ 50 ขณะนี้ มีความสำเร็จจำนวนหนึ่งที่ถือได้ว่าวันโลกได้มีส่วนช่วยผลักดันคือ

1) เกิดนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถือเป็นธรรมนูญว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (1970)

2) กฎหมายน้ำสะอาด (1972)

3) การห้ามใช้ดีดีที (1972)

4) การปกป้องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล (1972)

5) การคุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ที่ตกอยู่ในอันตราย (1973) เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์

6) การคุ้มครองสัตว์ป่าอลาสก้า (1980)

7) สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมได้รับทุนสนับสนุนการทำความสะอาดพื้นที่มีของเสียเป็นพิษ ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ (1980)

8) การฟื้นฟูเหยี่ยวแคลิฟอร์เนีย (1987)

9) พิธีสารมอนทรีออล งดใช้สารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ (ลงนามปี 1987 บังคับใช้ 1989)

10) การจัดงานวันโลกขยายตัวสู่การเป็นงานระหว่างประเทศในปี 1990 สามารถระดมผู้คนได้ถึง 200 ล้านคนจาก 141 ประเทศเข้าร่วม ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นระเบียบวาระโลก และกระตุ้นให้มีการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก จัดโดยองค์การสหประชาชาติในปี 1992

11) การห้ามการค้างาช้าง (1990)

12) การตั้งคณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (1990)

13) การต่อสู้ฝนกรด (1990)

14) การห้ามผสมสารตะกั่วในน้ำมันในสหรัฐ (1996)

15) การทำอนุสัญญาเกียวโต 1997 ต่อสู้โลกร้อน

16) การใช้โซลาร์เซลล์ในแคลิฟอร์เนียร์ 2002

17) การตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์โลกที่สวีเดน 2008

18) ความตกลงปารีส 2015 แต่สหรัฐฉีกข้อตกลงนี้

อย่างไรก็ตาม มีความล้มเหลวที่วันโลกไม่อาจช่วยเยียวยาแก้ได้ คือปี 1988 นาซารายงานว่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังทำให้โลกร้อน เป็นประเด็นร้อนใหญ่ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อศึกษาเรื่องนี้

และในปี 1997 รายงานการหายนะใหญ่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จากเชื้อรากลุ่มไคทริด ซึ่งมนุษย์เป็นผู้แพร่เชื้อนี้ไปทั่วโลกจากการค้าสัตว์เลี้ยงและเนื้อสัตว์ สูญพันธุ์ไป 90 สปีชีส์

เป็นที่สังเกตว่า นับแต่ปี 2000 มีรายงานความล้มเหลวจำนวนมากที่แสดงว่างานปกป้องโลกที่จัดประจำปีไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรมาก ในบางด้านสะท้อนวันหายนะโลกถี่ขึ้น ได้แก่

1) หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน บี ที่ขั้วโลกใต้ ละลายลงอย่างรวดเร็ว (2002) จากภาวะโลกร้อนในคาบสมุทรแอนตาร์กติกา (หิ้งน้ำแข็งเป็นแผ่นน้ำแข็งที่ยื่นออกมาจากผืน น้ำแข็งบนพื้นทวีป ทำหน้าที่ชะลอการไหลและการละลายของธารน้ำแข็งลงสู่ทะเล)

2) พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา สังหารคนอเมริกันกว่า 1,800 คน น้ำท่วมร้อยละ 80 ของนิวออร์ลีนส์ (2005)

3) มีการทิ้งของเสียไฮโดรเจนซัลไฟด์ และสารอื่น สังหารคน 15 ราย ทำให้ป่วย 100,000 ราย (2006)

4) จีนแซงหน้าสหรัฐที่เป็นผู้ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงสุดในโลก (2006) ในทัศนะตะวันตกถือเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ มันเป็นจุดพลิกผลันสถานการณ์ที่จีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นจะขึ้นมามีบทบาทในด้านสิ่งแวดล้อมแทนที่หรือเคียงคู่กับสหรัฐ

5) ผึ้งเลี้ยงในสหรัฐพากันล้มตายจำนวนมากกว่าร้อยละ 30 (ปี 2006) จากนั้นมีการล้มตายต่อเนื่องมาทุกปี

6) เกิดโรคระบาด ค้างคาวในสหรัฐตายเป็นจำนวนมาก (2006)

7) เกิดการระเบิดแท่นขุดเจาะน้ำมันสังหารคนงาน 11 ราย เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายน้ำมันกว่า 130 ล้านบาร์เรลในอ่าวเม็กซิโก เป็นอุบัติภัยใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา (2010)

8) หายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา ที่ญี่ปุ่น ปี 2011

9) เฮอร์ริเคนแซนดี้ เกิดน้ำท่วมที่นิวยอร์ก ความเสียหายถึง 73 พันล้านดอลลาร์ ปี 2012

10) ทะเลอาร์กติกขยายตัว ปี 2012

11) หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี ละลายลงสู่ทะเล ปี 2016

12) ไฟป่าอเมซอน และที่ออสเตรเลีย ปี 2019

(ดูบทประมวลของคณะทำงานเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ชื่อ 50 years of progress-and setbacks- since the first Earth Day ใน nationalgeographic.com 25/03/2020)

จากการประมวลความสำเร็จและความล้มเหลวดังกล่าวจะเห็นว่า ด้านหนึ่ง ขบวนการสิ่งแวดล้อมโลกมีการพัฒนาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พบว่าสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโลกมีแนวโน้มเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ การสูญพันธุ์ใหญ่ของสิ่งมีชีวิตจากการกระทำของมนุษย์ ไปจนถึงการระบาดของเชื้อไวรัสใหม่ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และรุนแรงขึ้นเป็นโควิด-19 ในขณะนี้

งานวันโลกปี 2020 นี้ คาดว่าจะมีองค์กรสิ่งแวดล้อมราว 5,000 แห่งจาก 184 ประเทศ ผู้คนหลายร้อยล้านเข้าร่วม

แต่การจัดงานครั้งนี้ต้องกระทำโดยผ่านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศต่างๆ พากันปิดประเทศปิดเมือง จำกัดการเคลื่อนที่และให้รักษาระยะห่างทางสังคม

นับเป็นความย้อนแย้งในตัวอย่างยิ่ง เมื่อโลกที่มนุษย์ต้องการปกป้อง กลายเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับมนุษย์เสียเอง

เนื้อหาหลักในการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งตกอยู่ในภาวะทุลักทุเล

เนื่องจากสหรัฐโดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนเกินไป

ดังนั้น จึงเป็นว่าสหรัฐได้ถอนตัวจากการเป็นผู้แสดงหลักในการนำการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทำมาตั้งแต่ปี 1970

ปล่อยให้ชาติอื่นได้แก่จีนและยุโรปขึ้นมาแสดงบทบาทนี้บ้าง

วิกฤตินิเวศมีพื้นฐานจากการแข่งขัน

ทางเศรษฐกิจ-การเมือง

การเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐดังกล่าว ปรากฏชัดตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 2001-2009) บุชได้กระทำการสำคัญ 3 อย่างที่แสดงว่าสหรัฐเฉยเมย เฉื่อยเนือย ไม่ต้องการแบกภาระในการแก้ไขวิกฤตินิเวศใน 3 เรื่องได้แก่

ก) เดือนมีนาคม 2001 รัฐบาลบุชประกาศว่าจะไม่ปฏิบัติตามความตกลงในพิธีสารเกียวโต ที่ให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อหัวสูงกว่าประเทศอื่น ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยให้เหตุผลว่าการปฏิบัติดังกล่าวก่อให้เกิดการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจแก่สหรัฐ ในขณะที่ไม่ได้มีการบังคับต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนแบบเดียวกัน

ต่อมาทางการบุชได้เสนอข้อตกลงใหม่ ให้มีการลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 18 ในเวลา 10 ปี ซึ่งตามแผนนี้จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่ไม่เข้มข้นเท่า

ถึงสมัยทรัมป์ทำหนักข้อขึ้นด้วยการทำลายความฝันของชาวโลก ออกจากสนธิสัญญาปารีส

โดยอ้างว่าข้อตกลงนี้ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐทั้งทางธุรกิจ แรงงาน และประชาชนสหรัฐผู้เสียภาษีสนับสนุนกองทุนว่าด้วยสภาพอากาศสีเขียวของสหประชาชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดอธิปไตยของสหรัฐ

ข) การรับอิทธิพลจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโลกร้อน ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องถูกผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามกฎสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด

บางแหล่งกล่าวว่า มีการปล่อยให้ข่าวสารผิดๆ ก่อความสับสนในหมู่สาธารณชนอเมริกัน มาถึงสมัยทรัมป์ก้าวไปไกลถึงขั้นประกาศว่า เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นการ “แหกตา” ของจีน และในเดือนพฤศจิกายน 2019 ออกคำสั่งห้ามรัฐแคลิฟอร์เนียมีข้อกำหนดให้รถยนต์ทั้งหลายในรัฐนี้ต้องปล่อยสารเรือนกระจกน้อยเป็นพิเศษ สูงกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลกลางกำหนด

ค) ไม่สนับสนุนการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ว่า ภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ กดดันบรรดานักวิทยาศาสตร์สหรัฐไม่ให้มาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน ในสมัยทรัมป์ยิ่งมีปฏิบัติการรุนแรงขึ้น เห็นได้จากงบประมาณล่าสุดปี 2020-2021 ได้ตัดลดงบประมาณด้านการวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม แต่เพิ่มการวิจัยด้านความมั่นคง

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายดังกล่าว พื้นฐานมาจากสองประเด็นใหญ่ได้แก่

(1) มลพิษทางสิ่งแวดล้อมทั้งหลายมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อยู่ที่ว่าจะเอาค่าใช้จ่ายนี้ไปไว้ที่ตรงไหน ถ้าไม่อยู่ในบัญชีต้นทุน-กำไรของบริษัท ก็ต้องอยู่ในบัญชีของสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยมากมักเริ่มต้นด้วยการนำไว้ในบัญชีของสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเกิดปัญหามลพิษรุนแรง จึงย้ายมาอยู่ในบัญชีต้นทุน-กำไรของบริษัทอยู่บ้าง เช่นกรณีเมืองลอส แองเจลิสที่มีการใช้รถยนต์มากกว่าที่อื่น ได้เกิดปัญหาหมอกควันพิษรุนแรงตั้งแต่ทศวรรษ 1940 กว่าจะแก้ไขได้ก็ตกเข้าทศวรรษที่ 1980 ด้วยการออกมาตรฐานรถยนต์ในการส่งก๊าซพิษสูงกว่าที่อื่น

แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นการแก้ไขที่ช้าไป ประมาณว่าในปี 1987 ร้อยละ 27 ของชาวลอสแองเจลิสต้องมีชีวิตด้วยปอดที่ถูกทำลายรุนแรง และทั่วทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตราว 100,000 คนจากการป่วยด้วยมลพิษทางอากาศ

(ดูบทความของ Rian Dundon ชื่อ L.A.”s smog in mid-century was so bad, people thought it was a gas attack ใน timeline.com 23/05/2018)

หากนำเข้าไปไว้ในบัญชีของบริษัทผู้ผลิตอยู่บ้าง ซึ่งปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัดในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประสบปัญหามลพิษมาก่อน และเป็นไปตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ก็จะต้องทำตามข้อบังคับมาตรฐานสูง เป็นเหตุให้ราคาสินค้าแพงขึ้น สู้สินค้าที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้

แต่การได้เปรียบของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ก็ต้องแลกด้วยมลพิษต่างๆ และสุขภาพของประชาชนของตน เช่น มลพิษทางอากาศที่กรุงปักกิ่งของจีนได้รุนแรงถึงขั้นกระทบต่อสุขภาพ

(2) เนื่องจากความรุ่งเรืองอย่างเร็วของจีน ที่สามารถกลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมของโลก ถ้าสหรัฐนิ่งเฉย จีนก็จะแซงขึ้นหน้าในเวลาไม่นาน

ดังนั้น สหรัฐจำต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ลดมาตรฐานสินค้าและสิ่งแวดล้อมของตนลง (ทำให้ลอสแองเจลิสกลับมีมลพิษทางอากาศคล้ายกับกรุงปักกิ่ง) หรือบีบให้จีนต้องเพิ่มความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ลดความได้เปรียบทางการค้าของจีนลง

ดังนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่มีการร่วมกันภายในและระหว่างชาติอย่างจริงจัง ก็ยากที่จะแก้ปัญหาวิกฤตินิเวศได้

กรณีโควิด-19 แสดงให้เห็นว่ายังมีการทำให้เป็นเกมการเมืองทั้งภายในและระหว่างชาติ ชี้นิ้วกล่าวโทษกันและกัน ทำให้การแก้ไขยิ่งยากขึ้น