ที่ควรจะเชื่อ…สื่อสังคมออนไลน์กับอนาคตของเยาวชนไทย

มีผลสำรวจหนึ่งที่อ่านแล้วสะดุดความสนใจ

“สื่อสังคมออนไลน์กับอนาคตของเยาวชนไทย” คือหัวข้อเรื่องการสำรวจ

เป็นความร่วมมือของ “สำนักงานส่งเสริมสนับสนุนวิชาการ 1-12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” กับ “ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” หรือ “นิด้าโพล”

เป้าหมายน่าจะเป็นแบบ “นิด้าโพล” สำรวจแล้วเอาข้อมูลให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เอาไปใช้วางแผนในการทำงาน

ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่หน่วยราชการน่าจะนำข้อมูลนี้ไปใช้งาน

รายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจคือการสอบถามข้อมูลจากเยาวชนจริงๆ ตัวอย่างศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายมากที่สุดคือร้อยละ 20.60 รองลงมาในสัดส่วนที่เท่าๆ กันคือเด็กในระดับประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้นคือร้อยละ 20.31 และที่กำลังเรียนปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 20.02

เป็นเยาวชนในวัยอยากรู้อยากเห็น

 

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะผลสำรวจที่ออกมามีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผู้สำรวจตั้งโจทย์ขึ้นมาหลายๆ เรื่องที่เห็นว่าเป็นสื่อที่ไม่เหมาะสม แล้วถามความคิดเห็น ผลปรากฏว่า

ที่เด็กไทยเห็นว่าไม่เหมาะสมในการนำเสนอในสื่อออนไลน์ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 81.04 บอกเป็นเรื่องความรุนแรง รองลงมา ไม่รับเรื่องการพนัน ร้อยละ 77.53 เรื่องฆาตรกรรม ร้อยละ 68.04 เรื่องลามากอนาจาร ร้อยละ 66.59

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะเป็นโพลที่หน่วยราชการจะนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ผู้ตอบคำถามร้อยละ 67.79 บอกว่าไม่เคยเข้าไปชมสื่อออนไลน์ที่นำเสนอเรื่องรุนแรง ร้อยละ 77.53 ไม่เคยเปิดเข้าไปดูเรื่องเกี่ยวกับการพนัน ร้อยละ 68.04 ไม่เคยเข้าไปเห็นเรื่องที่เกี่ยวกับฆาตรกรรม ร้อยละ 65.59 ไม่เคยเข้าไปดูเรื่องลามกอนาจาร

ยิ่งเป็นผู้ส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม เยาวชนถึงร้อยละ 90.35 ตอบว่าไม่เคยทำ กระทั่งการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางสื่อออนไลน์ ถ้ามีคนมาชวน หรือเสนอสิ่งแลกเปลี่ยนให้ เยาวชนร้อยละ 99.26 บอกว่าไม่ทำ

ด้วยข้อมูลนี้จึงเป็นโพลที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยราชการนำไปใช้

ความน่าสนใจอยู่ที่ภาพลักษณ์ของเยาวชนไทยจากโพลชิ้นดี เด่นชัดอย่างยิ่งในความดีงาม ไม่ข้องแวะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่เหมาะสม

กระทั่งว่าหากใครที่ติดตามการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวโน้มพฤติกรรมวัยรุ่นในโลกออนไลน์ที่มาแต่ตัวอย่างของความเหลวแหลกและเชื่อตามนั้น คงต้องก้มหน้าเพื่อทบทวนตัวเองว่าไปเชื่อข้อมูลที่ไม่เหมือนกับโพลนั้นได้อย่างไร

ข้อมูลจากโพลของสถาบันอันได้รับความเชื่อถือ และจะนำไปใช้เพื่อวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ชิ้นนี้ เป็นคนละเรื่องกับที่ได้ยินได้ฟัง

แน่นอนว่าน่าปลาบปลื้มยินดีอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยส่วนใหญ่มีสำนึกในทางดีงาม รู้จักเลือกที่จะเสพ รู้จักเลือกที่จะแสดงออกในทางที่เป็นความหวังว่าสังคมไทยไปบิดเบี้ยวไปกับความไร้สำนึกที่ดีงาม

เพียงแต่ว่าระหว่างความเชื่อในโพลนี้จะลบล้างความเชื่อในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องราวของโลกออนไลน์ได้หรือไม่

กลับน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน