แมลงวันในไร่ส้ม / ถึงคิว ‘เดลินิวส์’ เปิด ‘เออร์ลี่ รีไทร์’ วิกฤตสื่อในวิกฤตไวรัส

แมลงวันในไร่ส้ม

ถึงคิว ‘เดลินิวส์’

เปิด ‘เออร์ลี่ รีไทร์’

วิกฤตสื่อในวิกฤตไวรัส

 

สถานการณ์ของสื่อไทยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยิ่งทรุดหนัก ทั้งเรื่องของรายได้ และยอดจำหน่าย

ล่าสุดเมื่อ 27 เมษายน สื่อออนไลน์หลายสำนักเผยแพร่ข่าวว่า บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ออกประกาศเรื่องโครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด

เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนทางบุคลากร ลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมในระยะยาว

พนักงานบริษัททุกระดับที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ให้ส่งรายชื่อพนักงานไปให้หัวหน้าฝ่าย เพื่อรวบรวมแล้วนำส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม

เพื่อเสนอต่อบริษัทให้พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และแจ้งผลการพิจารณาให้พนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการทราบ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน ตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ในอัตราตั้งแต่ 30-400 วัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน

โครงการดังกล่าวมีหลักการก็คือ บริษัทจะพิจารณาเห็นชอบพนักงานที่ขอลาออกตามโครงการนี้ เป็นความต้องการและสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างบริษัทกับพนักงาน เป็นสิทธิฝ่ายเดียวของบริษัทในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ

กรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท

พนักงานที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทแล้วจะยกเลิกการลาออกตามโครงการภายหลังไม่ได้ และต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ พร้อมทั้งส่งมอบงานให้เรียบร้อยก่อนสิ้นสภาพการเป็นพนักงาน

และบริษัทจะไม่รับพนักงานที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการกลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทอีก

ทั้งนี้ พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และรับเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายพร้อมเงินชดเชยเป็นเช็ค ในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนภายใน

เป็นการขยับตัวครั้งสำคัญของสื่อยักษ์ใหญ่ ที่เคียงข้างมากับไทยรัฐ

สถานการณ์ธุรกิจสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เครือเนชั่นยุบกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์ และสำนักข่าวเนชั่น ของบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด

พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานลงครึ่งหนึ่ง โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่ดำเนินการมา 18 ปี ได้หยุดตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

ส่วนเว็บไซต์ไปอยู่ในการดูแลของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC เจ้าของสถานีข่าวเนชั่นทีวี 22

 

ย้อนกลับไปที่ปัจจัยกำหนดความอยู่รอดของสื่อหนังสือพิมพ์ได้แก่ รายได้และยอดจำหน่าย เห็นได้ชัดเจนว่าการเติบโตของสื่อออนไลน์ที่อ่านฟรี และเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทำให้ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ลดลง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจและกิจการต่างๆ ต้องปิดตัว กิจกรรมต่างๆ ที่เคยต้องอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต้องหยุดไป งบฯ โฆษณาจึงหายไปโดยอัตโนมัติ

ส่วนการจำหน่ายหนังสือพิมพ์แม้ประชาชนต้องการข่าวสาร แต่ก็สามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ ขณะที่หนังสือพิมพ์ต้องใช้เวลาในการผลิตและเดินทาง

การแพร่ระบาดทำให้การไปซื้อหนังสือพิมพ์ตามแผงกลายเป็นความเสี่ยง เมื่อมีเคอร์ฟิว การส่งหนังสือ โดยเฉพาะจากจังหวัดไปสู่อำเภอต่างๆ ต้องยุติไป

กลายเป็นสภาพวิกฤตซ้ำวิกฤต

ขณะที่สื่อออนไลน์มียอดผู้เข้าไปอ่าน ติดตามข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มากขึ้น แต่การแข่งขันในระบบออนไลน์มีสูง เพราะการเปิดเว็บ เปิดเพจ เพื่อนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ทำได้โดยไม่ต้องใช้ทุนรอนมากนัก

ทั้งหมดนี้ ส่งผลทำให้เกิดความซวนเซสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์

อีกปัจจัยที่มีผลต่อการทรุดลงของสื่อสิ่งพิมพ์ คือการเสนอเนื้อหาต่างๆ มีข้อจำกัดจากสภาพการเมือง

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน และคณะรัฐมนตรีล่าสุด มีมติให้ต่อไปอีก 1 เดือน มีมาตรการต่างๆ รวมถึงการเคอร์ฟิว ระหว่าง 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ที่ทำให้การทำข่าว การเสนอข่าวยุ่งยากมากขึ้น

เว็บไซต์วอยซ์ออนไลน์เสนอข่าวเร็วๆ นี้ว่า ดัชนีเสรีภาพสื่อระบุว่า ไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อทั่วโลก โดยสื่อไทยตกอันดับ เสรีน้อยกว่าเมียนมาแล้ว

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนออกรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2020 ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อและยิ่งทำให้วิกฤตที่ผู้สื่อข่าวทั่วโลกกำลังเผชิญยิ่งเลวร้ายลง เพราะรัฐบาลฉวยโอกาสนี้ในการควบคุมและคุกคามเสรีภาพของประชาชน

โรคระบาดได้เปลี่ยนแปลงมาตรฐานสังคมหลายอย่างไปแล้ว รัฐบาลของหลายประเทศยังออกกฎหมายใหม่โดยอ้างว่ามีเป้าหมายในการลดการแพร่ระบาดของไวรัส

แต่จริงๆ แล้ว รัฐบาลฉวยโอกาสช่วงที่การเมืองหยุดชะงัก ประชาชนกำลังตกตะลึงกับการแพร่ระบาด และการประท้วงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เพื่อออกกฎหมายให้อำนาจรัฐในการสอดส่องประชาชนในระดับที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในช่วงสถานการณ์ปกติ

ซึ่งกฎหมายเหล่านี้สร้างความกังวลในระยะยาวต่อสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก

 

วอยซ์ออนไลน์รายงานต่อไปว่า รายงานฉบับนี้จัดอันดับให้เสรีภาพสื่อไทยในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 140 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ตกลงมาจากปีก่อน 4 อันดับ โดยรายงานระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีอำนาจควบคุมมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่า คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งขึ้นเมื่อรัฐประหารจะถูกยุบไปเมื่อปี 2562

แต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆ เพราะการเลือกตั้งถูกควบคุมโดยชนชั้นนำที่อยู่รายล้อม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

อันดับเสรีภาพสื่อไทย (140) อยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียที่อยู่อันดับ 101 อินโดนีเซียอันดับ 119 ฟิลิปปินส์อันดับ 136 และเมียนมาแซงไทยขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 139 จากที่ผ่านมาเมียนมามีอันดับเสรีภาพสื่อต่ำกว่าไทยมาโดยตลอด

ต่อจากไทย ประเทศอาเซียนที่ได้อันดับเสรีภาพสื่อลำดับต่อมาได้แก่ กัมพูชาที่ได้อันดับ 144 บรูไนอันดับ 152 สิงคโปร์อันดับ 158 ลาวอันดับ 172 และเวียดนามอันดับ 175

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุว่า สหรัฐและบราซิลกลายเป็นต้นแบบของการคุกคามสื่อ ขณะที่จีน อิหร่าน อิรักก็พยายามเซ็นเซอร์การรายงานข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ฯลฯ

เป็นสถานการณ์ล่าสุดของสื่อสิ่งพิมพ์ที่กำลังถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี และซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ

ธุรกิจทุกอย่าง รวมทั้งสื่อ จะอยู่รอดกันอย่างไรต่อไป ทำให้เกิดการปรับตัวกันทุกด้าน เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสมให้ได้