ดูจะมีคำถามมากมาย ที่หาคำตอบไม่ง่ายเลย ?

คำถามใน “โลกสวย”

ในสถานการณ์ระบาดของ “โควิด-19” แม้กระแสหลักเป็นความต้องการให้กลับสู่ “ชีวิตปกติ” คือเหมือนเดิมก่อนรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน

แต่ที่เบียดแทรกมาเป็นปรารถนาบางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไวรัสระบาดเช่นตอนนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย

กรุงเทพมหานคร ถนนหนทางโล่ง รถราไม่ติดขัด เมืองไม่แออัดยัดเยียด โปร่งสบาย ไม่ต้องเบียดเสียดแช่งชิง

คนไม่น้อยมีความรู้สึกอยากให้กรุงเทพฯ เป็นแบบนี้

เมืองใหญ่ๆ เมืองท่องเที่ยวก็ไม่ต่างกัน เมื่อที่คนน้อยลงนั้น เจริญหูเจริญตาไปกับความโล่งว่าง และรู้สึกสงบ ได้พักผ่อน

ขณะในชนบทที่ลูกหลานกลับบ้าน ทำอะไรแบ่งปันกันกินกันอยู่ เป็นความอบอุ่นที่รู้สึกเสียดายหากจะหายไปอีก เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นภาพที่เห็นด้วยตา

ขณะที่ความเป็นจริงในอีกมิติหนึ่งคือ เงื่อนไขการดำเนินชีวิต

เริ่มแรกจากที่สะท้อนโดย “ซูเปอร์โพล” ซึ่งผลสำรวจล่าสุดออกมา

เมื่อถามถึงสิ่งที่เป็นอยู่ ช่วงโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 ระบุ รายได้ลดลง ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุเหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุเพิ่มขึ้น

ขณะที่ในเรื่องของรายจ่าย ร้อยละ 47.9 บอกว่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.7 เหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 6.4 ที่ลดลง

และผลที่ตามมาคือ ความเครียด ร้อยละ 67.5 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 30.5 เหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ลดลง

โลกดูสวยงามขึ้นในช่วงโรคร้ายจัดการกับมนุษย์ หาดทรายแสนสวย ชีวิตสัตว์ต่างๆ มาใช้พื้นที่บนโลกใบนี้ได้มากขึ้น ธรรมชาติปรับตัวสู่ความปกติที่เคยเป็น มลภาวะจากฝีมือมนุษย์จางคลายลง

ดูงดงามในความรู้สึก

แต่นั่นเป็นเรื่องของโลก ที่เกิดคำถามว่า “มนุษย์” จะทนได้หรือ กับการหมุนโลกคืนให้ธรรมชาติแบบนั้น

สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการในเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วทั้งโลก รวมถึงกรุงเทพฯ เรา จะอนุญาตให้ “มนุษย์” อยู่กับความสวยงามนั้นหรือไม่ จะต้องแลกกับการล้มละลาย สูญเสียอำนาจการปกครองมหานครหรือไม่

เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตในชนบทด้วยวิถีและค่านิยมแบบคนเมือง จะเพิ่มต้นทุนให้กับการบริหารจัดการชนบทอีกมากมายแค่ไหน รายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่นในชนบทมีเพียงพอจะรองรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดจากการปรับตัวแบบไม่ให้ตั้งตัวครั้งนี้

มีเรื่องราวอื่นอีกมากมายที่แต่ละคนผูกมัดให้เป็นภาระ

บ้านในเมืองที่กู้แบงก์มาซื้อ รถที่ยังผ่อน และอีกสารพัดที่ยังต้องจ่าย

อุปกรณ์การเลี้ยงดูลูก-หลานที่ต้องอาศัยการผลิตจากอุตสาหกรรม ไม่คุ้นกับการทำเอง จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่กับคุณภาพชีวิตที่ฝังหัวไว้ก่อนหน้านั้นได้

ล้วนเป็นคำถาม

การคืนเมืองกลับสู่ความแออัดของคนกับความเสี่ยงกับโรคระบาด

ย่อมเป็นความหวั่นเกรงของคนฐานะดี

แต่เป็นความหวั่นเกรงที่พร้อมจะรับภาระงบประมาณบริหารเมืองไว้ โดยไม่มีรายได้ที่จะช่วยรองรับการทำกำไรหรือไม่

ดูจะมีคำถามมากมาย ที่หาคำตอบไม่ง่ายเลย