นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พลังล้าหลังในมหาเอเชียบูรพา

นิธิ เอียวศรีวงศ์

อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อธิบายไว้ในเฟซบุ๊กของท่านว่า ส่วนหนึ่งในการตอบโต้ของฝ่ายจีนใน “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ครั้งใหม่ผ่านทวิตเตอร์นั้น เป็นไอโอของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสันนิบาตเยาวชนของพรรค โดยได้ค่าตอบแทนเป็นเงินในแต่ละโพสต์ที่เผยแพร่ออกไป

และเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาผลักดันอยู่อย่างนี้ จึงน่าจะเป็นส่วนที่ใหญ่มากทีเดียวในการตอบโต้ของฝ่ายจีน

อาจารย์พิชิตซึ่งอ่านออกทั้งภาษาไทย, ฝรั่ง และจีนน่าจะถูก เพราะคำอธิบายของท่านช่วยตอบคำถามของชาวทวิตเตอร์ไทยได้ว่า เหตุใดคนจีนจึงสามารถฟันฝ่า VPN และข้อห้ามการใช้ทวิตเตอร์ของรัฐบาลจีนเข้ามาตอบโต้ชาวทวิตเตอร์ไทยได้ และยังอธิบายการกระทำของสถานทูตจีนในกรุงเทพฯ ได้ด้วยว่า เหตุใดสถานทูตจึงออกคำแถลงที่ไม่รอบคอบได้ถึงเพียงนี้

ผมเองเคยคิดว่าคุณผู้หญิงในสถานทูตจีนที่ออกคำแถลงในนามของเธอนั้นคงจะถูกย้ายไปซินเกียงในอนาคตอันใกล้ แต่เมื่ออ่านคำอธิบายของอาจารย์พิชิตแล้ว ก็เข้าใจว่าเธอกำลังก้าวไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ไหนสักแห่งในอนาคตแน่

ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า จุดยืนเรื่องจีนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีความสำคัญต่อพรรคอย่างไร และเข้าใจได้ด้วยว่าวิธีที่ พคจ.เลือกใช้ในการรักษาจุดยืนเรื่องนี้ให้มั่นคงในการเมืองโลก คือใช้แรงบีบทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งตนเป็นต่ออยู่แล้วเพื่อปกป้องจุดยืนนี้ในการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะปกป้องจุดยืนนี้ให้มั่นคงอย่างไร ผมคิดว่า พคจ.น่าจะยืดหยุ่นกว่านี้ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เช่นอย่างน้อยก็ไม่ทำให้จีนกลายเป็นที่ชิงชังแก่ประชาชนในประเทศอื่น

หลักการว่า “ประเทศ” หรือรัฐย่อมดำรงอยู่ได้เพราะมันไม่สามารถถูกแบ่งแยกได้นั้น เป็นหลักการสากลที่ใครๆ ก็รู้และยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ขอโทษเถิดครับ หลักการนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงสักเท่าไร คนรุ่นพ่อ-แม่ผมได้เห็นการแบ่งแยกประเทศอย่างมโหฬารเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ทั้งหมดนี้กระทำขึ้นภายใต้หลักการใหม่ที่มหาอำนาจในขณะนั้นสร้างขึ้น คือหลักสิทธิของประชาชนในการกำหนดตนเองว่าจะเป็นคนของรัฐใด (self-determination)

หลักสิทธิกำหนดตนเองกับหลัก “ประเทศ” ย่อมแบ่งแยกมิได้ ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง และความขัดแย้งนี้ก็ประจักษ์ชัดทันที เพราะประเทศอาณานิคมในเอเชียต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องเอกราชในที่ประชุมแวร์ซายส์ด้วยหลักสิทธิกำหนดตนเองบ้าง แต่มหาอำนาจก็ไม่ฟัง เพราะเมื่อประกาศหลักการข้อนี้ เขาคิดถึงยุโรปอย่างเดียว ไม่ได้คิดไปถึงอาณานิคมในทวีปอื่น

ถึงเป็นสิทธิก็ต้องได้รับอนุมัติจากมหาอำนาจก่อนว่า ใครบ้างพึงใช้สิทธินี้ได้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนรุ่นผมก็ได้เห็น “ประเทศ” ถูกแยกออกจากจักรวรรดิ (ซึ่งเป็นประเทศอีกชนิดหนึ่ง) เกือบทั่วพื้นที่ของเอเชียและแอฟริกา อาณานิคมต่างๆ ทั้งที่เป็นของราชบัลลังก์, ของประเทศ, รัฐภายใต้อารักขา ฯลฯ ต่างแยกตัวออกจาก “ประเทศ” เดิม แล้วสถาปนา “ประเทศ” ขึ้นใหม่ทั้งในเอเชียและแอฟริกา

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ทุก “ประเทศ” เกิดใหม่ ไม่เคยเป็น “ประเทศ” อันหนึ่งอันเดียวกันมาก่อนทั้งนั้น เราไม่เคยมี “ประเทศ” อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์, พม่า, ลาว และทุก “ประเทศ” ในแอฟริกามาก่อน จนเจ้าอาณานิคมตะวันตกสร้างขึ้น (และว่าที่จริงประเทศสยาม-ไทยก็ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกันจนถึงรัชกาลที่ 5)

อย่าลืมว่า เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไต้หวันและเกาหลีไม่ได้เป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นนะครับ แต่เป็นส่วนหนึ่งอันแบ่งแยกมิได้ของ “ประเทศ” (หรือจักรวรรดิ) ญี่ปุ่นเลย

และเราทุกคนคงจำได้ว่า เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปลายคริสต์ศตวรรษที่แล้ว ได้ก่อให้เกิด “ประเทศ” ใหม่ขึ้นไม่รู้จะอีกกี่ประเทศในยุโรปตะวันออกมาถึงเอเชียกลาง

และจนถึงทุกวันนี้ ถามว่า ยังมีสักกี่ประเทศในโลกนี้กันครับที่ไม่มีรอยร้าวภายใน อันจะนำไปสู่การแยกเป็นอีกประเทศหนึ่งได้ในอนาคต อินเดียมีปัญหากับพวกนาคาที่ไม่อยากอยู่ใต้อินเดีย, ชาวทมิฬทางตอนใต้ก็ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบและกดขี่จากพวกที่อ้างว่าเป็น “อารยัน” ในภาคเหนืออยู่นั่นเอง, ศรีลังกากับพม่าไม่ต้องพูดถึง เพราะรู้กันอยู่แล้ว, หากชาวดายัคบนเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ได้สิทธิกำหนดตนเองจริง เขาคงอยากแยกตัวออกจากพวก “มลายู” ทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงชาวพื้นเมืองบนเกาะอีเรียนจายาหรือนิวกินีตะวันตก “เกาะนอก” ของอินโดนีเซียหลายแห่งไม่อยากอยู่ใต้อำนาจของชาวชวา, นอกจากฮ่องกงและไต้หวันแล้ว จีนยังมีปัญหาที่หนักอกไม่น้อยกว่ากันในซินเกียงและทิเบต แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งดูเหมือนผนึกตัวเป็นหนึ่งได้ดี ชาวโอกินาวาส่วนหนึ่งก็ยังรู้สึกว่าตัวไม่ใช่คนญี่ปุ่น รวมทั้งไม่อยากถูกผนวกเข้าไปกับ “ประเทศ” ญี่ปุ่น, ทั้งชาวสก๊อตและเวลส์ แม้เลือกจะอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป แต่ก็รู้สึกอึดอัดที่ต้องอยู่ร่วมกับพวกอังกฤษด้วย

ในบรรดาอนิจจังที่มองเห็นได้ชัดทั้งหลายในชีวิตของเรา “ประเทศ” เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้น ความรักชาติบ้านเมืองจึงไม่อาจดำรงอยู่ได้เพียงเพราะมันเป็นชาติของเรา แต่จะเป็นความรักที่มั่นคงสถาพรได้ก็ต่อเมื่อชาติเป็นตัวแทนของคุณค่าบางอย่างที่ดำรงอยู่ได้ข้ามยุคข้ามสมัย

แม้กระนั้น ผมก็ยอมรับว่า หลักการว่ารัฐย่อมแบ่งแยกมิได้นั้น แม้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่อาจจะ (ย้ำว่าอาจจะ) เป็นหลักการที่ดีที่สุดเพื่อรักษาความสงบและสันติภาพในโลก แต่เพื่อจะรักษาหลักการนี้ไว้ หลายประเทศต้องใช้มาตรการที่ฉลาดเพื่อรักษาส่วนที่เป็นรอยร้าวของบ้านเมืองเอาไว้ เช่น ทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, การศึกษา, บริการสาธารณะ และการบังคับ แต่ที่โง่ๆ ก็ใช้อยู่อย่างเดียวคือบังคับด้วยความรุนแรงในหลายรูปแบบ

ดังนั้น แม้เราจะเห็นด้วยว่ารัฐชาน, กะฉิ่น, ชิน, ว้า, กะเหรี่ยง, ยะไข่ควรเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า ซินเกียง, ฮ่องกง, ทิเบต และไต้หวันควรเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ แต่จะให้เราเห็นดีเห็นชอบกับมาตรการบังคับด้วยความรุนแรงที่รัฐบาลกลางใช้กับผู้คนในดินแดนที่เป็นรอยร้าวด้วยนั้น เป็นคนละเรื่อง

ประเทศหรือใครที่แสดงความเห็นต่อต้านมาตรการที่รัฐไทยใช้ในสามจังหวัดภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา จึงอาจไม่ได้ต้องการส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดน แต่เขาน่าจะมีสิทธิ์ต่อต้านการรังแกผู้อ่อนแอและความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนในโลกและไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุใด… ไม่ใช่หรือ?

ถ้ามองจากมุมชาตินิยม สิ่งที่น่าสนใจมากในการตอบโต้กันผ่านทวิตเตอร์ของจีนและไทยครั้งนี้ก็คือ ความเป็นชาติในความหมายแบบเดิม คือผูกพันกับสถาบันเดิมๆ แนวคิดเดิมๆ ไร้ความหมายในหมู่ชาวทวิตเตอร์ไทยไปเสียแล้ว ในขณะที่ชาวทวิตเตอร์จีน (หรือไอโอของ พคจ.) ยังเข้าใจผิดว่า หากนำเอาแนวคิดเดิมๆ และสถาบันเดิมๆ ที่ยังปลุกเร้าความเป็นชาติของจีนอยู่ มาลบหลู่, ล้อเลียน, หรือเหยียดหยามชาวทวิตเตอร์ไทย จะทำให้คู่ต่อสู้เจ็บปวดหรือโกรธเคือง แต่เปล่าทั้งเพ ชาวทวิตเตอร์ไทยกลับยอมรับคำประณามเหล่านั้น ซ้ำช่วยต่อเติมให้เจ็บแสบขึ้นไปอีก

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทัศนคติต่อชาติแบบชาวทวิตเตอร์ไทยกลับได้รับความสนับสนุน ไม่เฉพาะจากชาวทวิตเตอร์ฮ่องกงและไต้หวัน แต่รวมประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทั้งหมดด้วย รวมไปถึงเกาหลีและญี่ปุ่น ไม่เพียงสนับสนุนเฉยๆ ยังมาช่วยตอบโต้จีนอย่างถึงพริกถึงขิงไม่แพ้กัน

ในทุกชาติอาเซียนที่เข้าร่วมสนับสนุนไทย ล้วนมีประชากรเชื้อสายจีนอยู่จำนวนมาก ซ้ำมีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศนั้นๆ เสียด้วย แฮชแท็กที่มีผู้จ่าหัวนับล้านว่า “ชานมข้นกว่าเลือด” สะท้อนสิ่งที่ผมพูดอย่างน่าสนใจ

ชานมหรือชาไข่มุกมีกำเนิดในไต้หวัน แต่ก็แพร่กระจายไปทุกประเทศในเอเชียตะวันออก ดังนั้น ถึงต่างเป็น “เจ๊ก” เหมือนกัน แต่นั่นไม่ผูกพันผู้คนเข้าร่วมกันเท่า “ชานม” ซึ่งคงหมายถึงอะไรที่ไม่ใช่การร่วมชาติพันธุ์ ทั้งยังอาจส่อไปถึงเสรีภาพในการใช้ชีวิต และไม่ตกอยู่ใต้กำกับของผู้ใหญ่, ประเพณี หรือรัฐ (การชงชาไข่มุกแตกต่างจากการชงชาของจีนหรืออังกฤษ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ “อาญาสิทธิ์” ยอมรับกัน)

ชาติพันธุ์หรือชนชาติเป็นหนึ่งในแนวคิดเดิมๆ ซึ่งผูกพันผู้คนให้เข้ามาร่วมในชาติเดียวกัน แต่การร่วมชาติพันธุ์หรือชนชาติ ไร้ความหมายไปเสียแล้วกับผู้คนจำนวนมากนอกการกำกับของ พคจ. (เมื่อผมเป็นหนุ่ม พคจ.คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความก้าวหน้า แต่พอผมแก่ลง พคจ.กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความล้าหลังไปแล้ว)

ฉะนั้น ผมจึงไม่คิดว่า “สหพันธ์ชาไข่มุก” เกิดขึ้นจากสำนึกเกลียดชังชาวจีน เพราะผมเข้าใจว่าชาวทวิตเตอร์ที่ลงสนามต่อสู้กับไอโอของ พคจ.ครั้งนี้ คงไม่ปฏิเสธความเป็นเจ๊กของตนเอง ถ้าจะเกลียดก็คงเกลียด พคจ.มากกว่าเกลียดคนจีน (ซึ่งน่าจะทำให้ พคจ.ตระหนก จนต้องกลับไปทบทวนนโยบายที่มีต่อเพื่อนบ้านรอบตัว มากกว่าที่จะสั่งให้สถานทูตในกรุงเทพฯ เข้ามาร่วมตอบโต้ด้วย)

แต่เรื่องเกลียดมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องรัก ผู้คนใน “สหพันธ์ชาไข่มุก” รักอะไรบางอย่างที่ข้ามชาติแบบเดิมๆ ไปแล้ว และคงจะขัดเคืองใจที่ชาติของตนไม่ได้ผนวกเอาสิ่งที่ตนรักเอาไว้ในความเป็นชาติด้วย เช่น รักสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะตำหนิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของตนได้ ซึ่งนอกจากไม่มีในไทยแล้ว ยังไม่มีในฮ่องกงและถ้าถือว่าไต้หวันไม่ใช่ “ประเทศ” ก็ไม่มีในไต้หวันด้วย และไม่มีใน “ประเทศ” ทิเบตและซินเกียงเหมือนกัน

นี่ไม่ใช่สงครามมหาเอเชียบูรพาครั้งที่สองแล้วครับ แต่นี่คือการแปรเปลี่ยนครั้งใหญ่ (The Great Transformation) ในเอเชียตะวันออกไกลหรือเอเชียบูรพา (ซึ่งในความหมายเดิมรวมทุกประเทศที่เลยจากอินเดียไปทางตะวันออกทั้งหมด) ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศจีน เพราะถ้าการตอบโต้ของจีนถูกกำกับจากไอโอ คงมีคนจีนอีกไม่น้อยในประเทศจีนที่สะใจกับการตอบโต้ของไทยกับพันธมิตรชาไข่มุกทั้งหมด เพียงแต่ไม่กล้าเข้าไปโพสต์อะไรให้ตนเองเดือดร้อนเท่านั้น

ถ้านี่คือการแปรเปลี่ยนครั้งใหญ่ของมหาเอเชียบูรพาอย่างที่ผมคิด เรื่องนี้กระทบทั้งโลก อเมริกาซึ่งเคยรบกับคอมมี่ไทย ก็ยุยงให้รัฐบาลไทยปลุกระดมชาตินิยมที่ผูกพันอยู่กับแนวคิดและสถาบันเดิมๆ ขึ้นมาต่อสู้กับโซเวียต, จีน และเวียดนามร่วมกับอเมริกา (“คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด”) แต่บัดนี้ชาตินิยมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว หากอเมริกาจะใช้ประโยชน์จากไทยอีก จะปลุกชาตินิยมไทยอย่างไร

ท่ามกลางการแปรเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ คสช., รัฐบาลประยุทธ์, ชนชั้นนำตามประเพณี และสลิ่มไทย ก็ร่วมอยู่ในพลังล้าหลังของเอเชียบูรพาที่มี พคจ.เป็นผู้นำนี้เอง