หลังเลนส์ในดงลึก : “ลึก”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“ทีมวิจัยขององค์การสวนสัตว์ เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย กลับคืนสู่ธรรมชาติได้มากถึง 70 ตัว

พวกมันได้รับโอกาสให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยจรเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์

ถือเป็นความสำเร็จในรอบ 50 ปี ของการสูญพันธุ์”

นี่คือหลักฐานยืนยันความสำเร็จในการทำงานของนักวิจัย รวมถึงผู้ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้องทุกๆ คน

การดูแลปกป้องแหล่งอาศัยสัตว์ป่าให้คงอยู่ให้พวกมันได้ดำเนินวิถีไปอย่างที่ควรเป็น บนโลกที่การแก่งแย่งที่อาศัย ที่หากิน ไม่ใช่เพียงระหว่างคนกับคน แต่ระหว่างคนกับเหล่าสัตว์ป่าด้วย ดังเช่นทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ดูเหมือนสิ่งที่ยากกว่าคือ การนำสิ่งซึ่งสูญเสียไปแล้วให้กลับคืน

 

เดือนมีนาคม พ.ศ.2560

คล้ายกับว่า ผมถูกขอร้องแกมบังคับจากน้องๆ ที่ทำหน้าที่ออกแบบหนังสือภาพ ซึ่งควรจะออกมาได้ตอนสิ้นปี ให้อยู่กับที่ เพื่อเลือกสไลด์ให้เสร็จ โดยใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน

นี่คือความยากยิ่งของผมซึ่งใช้ชีวิตในป่าเดือนละไม่น้อยกว่า 20 วันมาตลอดระยะเวลาหลายปี

ผมใช้ทางออกเดิมที่เคยใช้เมื่อต้องอยู่ในเมืองนานๆ

คือการเปิดสมุดบันทึกเก่าๆ อ่าน

เรื่องราวอันน่ายินดีของนกกระเรียนไทย ทำให้ผมหยิบสมุดบันทึกเล่มหนึ่งขึ้นมา

 
สมุดบันทึกเล่มนี้ หน้าปกเป็นสีชมพูซีดๆ มีอักษรสีดำตัวโตเป็นภาษาเวียดนามเขียนว่า “Vietnam” พร้อมภาพลายเส้นแสดงอาณาเขตประเทศไว้ด้วย ที่จริงนี่เป็นสมุดของเด็กไว้ทำการบ้าน

ผมซื้อสมุดเล่มนี้ในร้านชำเล็กๆ ที่เมืองทัมนง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เขตอนุรักษ์ทัมชิม พื้นที่ชุ่มน้ำอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศเวียดนาม

เขตอนุรักษ์ทัมชิม อยู่ห่างนครโฮจิมินห์โดยเดินทางรถยนต์ราว 6 ชั่วโมง

ว่าไปแล้วทางไม่ไกลนักหรอก แต่ถนนค่อนข้างแคบ จอแจด้วยมอเตอร์ไซค์และรถที่ใช้ในการเกษตรที่แล่นไป-มา ทำให้การสัญจรได้ช้า

กระดาษ 2-3 หน้าแรก หลุดจากสันปก

มุมขวาของปกด้านใน ผมเขียนข้อความ คาลิล ยิบราน ว่า

“ความรักไม่รู้ความลึกของตนเอง …ต่อเมื่อถึงวันลาจาก”

ผมบันทึกข้อความนี้บนเตียงไม้เก่าๆ ใต้มุ้งสีฟ้า อาศัยแสงสว่างจากตะเกียงที่ใช้น้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิง

ใกล้ที่พักซึ่งมีลักษณะคล้ายห้องแถวที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผนังปูนกะเทาะร่อน คือทุ่งชุ่มน้ำกว้างใหญ่ ในห้องนั้นจึงระงมไปด้วยเสียงกบ เขียด และแมลงเซ็งแซ่

ผมมาไกลจากถิ่นฐาน ด้วยความตั้งใจกับการตามหานกกระเรียนสายพันธุ์ไทย นกซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย

ผมไม่เคยเห็นว่าบนท้องฟ้าที่มีนกกระเรียนบินร่อนนั้นเป็นอย่างไร

แต่รู้ว่า บนท้องฟ้าที่ว่างเปล่า เป็นเช่นใด

 
ผ่านมาแล้วเนิ่นนาน

บันทึก ลงวันที่ 23 ธ.ค. 95

ออกจากโฮจิมินห์ประมาณ 9 โมงเช้า เดินทางสู่ทัมชิม ซึ่งเป็นเขตวิจัยนกกระเรียน

ระหว่างทางจอแจมาก จักรยาน มอเตอร์ไซค์ และรถบรรทุกรุ่นโบราณกระบะหลังคลุมผ้าใบ ต้องแล่นตามรถบรรทุกตลอดทาง ระยะทางราว 200 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมง

คนนำทาง ชื่อออกสำเนียงว่า “หวัน” เป็นผู้ชาย ท้วม ผิวขาว แต่งตัวเรียบร้อย พูดภาษาไทยชัด

ถึงทัมชิมบ่ายสอง คุณหวันแนะนำให้รู้จักคุณฮม เจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์

“นกเพิ่งมา 10 ตัว เดือนมีนาคมถึงจะมาเยอะ”

คุณฮมแจ้งให้รู้

ช่วงบ่ายถ่ายรูปนกกินปลีอกเหลืองที่ทำรังข้างๆ หน้าต่างห้องพักและเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอีกตัว

เย็นเดินไปกินข้าวในเมืองทัมนง ใช้ภาษามือกับเจ้าของร้านจนได้อาหารคล้ายๆ ข้าวผัดมาหนึ่งจาน

เมืองอยู่ห่างที่พักสักสองกิโลเมตร ถนนลูกรังเลี้ยวไป-มา ตอนเดินกลับฟ้ามืดสนิท ดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า อากาศค่อนข้างร้อน

ที่พักเป็นเหมือนตึกแถวสองชั้นเก่าๆ ในห้องมีมุ้งสีฟ้า

พรุ่งนี้คุณฮมจะมารับเอาเรือออกไปดูในทุ่ง บริเวณที่คาดว่าอาจมีนก เรือแล่นราวสองชั่วโมง

ก่อนหลับ ในมุ้งสีฟ้า

ผมหวังว่าพรุ่งนี้จะโชคดี ได้เห็นนกกระเรียน

 

รุ่งเช้า

เราออกจากที่พักตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อนั่งเรือไปยังแปลง A1 ที่คุณฮมพบนกกระเรียน 10 ตัว อาทิตย์ที่แล้ว

นั่งเรือไปสองชั่วโมง เปลี่ยนเป็นเรือแจวลำเล็ก ต่อจากนั้นเดินเข้าไปในทุ่ง

ไม่ปรากฏร่างนกกระเรียน

ตลอดทั้งวันตระเวนหาตามทุ่งอีกหลายทุ่งก็ไม่พบ

ช่วงบ่ายเดินลุยเข้าไปในดงเสม็ด เพื่อถ่ายรูปชุมชนนกกาน้ำ

สภาพพื้นที่ซึ่งมีคนเข้ามาตัดฟันไม้เพื่อนำไปเผาถ่านอาจทำให้นกกระเรียนตื่นหนี ไม่แวะอีก

บริเวณป่าเสม็ดมีน้ำท่วมสูง

แวะคุยกับคนที่กำลังตัดไม้ พวกเขาได้รับสัมปทาน

ป่าเสม็ดอันกว้างใหญ่ น่าจะหมดภายในสามปี

คนที่อาศัยในนี้ สร้างที่อยู่แบบชั่วคราว

แต่นกเสียถิ่นอาศัยไปอย่างถาวร

สภาพโดยทั่วๆ ไปของเขตรักษาธรรมชาติทัมชิม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ คล้ายเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

นกกระยางมาก รวมถึงนกกาน้ำเล็ก วันนี้เห็นนกเป็ดเทา หลายตัว

ดูเหมือนทัมชิมจะเหลือพื้นที่มาก แต่คนเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ อาจทำให้นกน้ำหมดที่อยู่ในเวลาไม่นาน แม้ว่าพื้นที่จะได้รับการประกาศให้เป็นเขตสงวนแล้วก็ตาม

การขยายพื้นที่ทำการเกษตรและเพื่อปากท้องคน เป็นเช่นเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก

ทัมชิมมีนกน้ำขนาดใหญ่ที่เคยมีอยู่ในเมืองไทยหลายชนิด

ในรายชื่อที่นักดูนกชาวฝรั่งเศสมาสำรวจไว้หนึ่งปีก่อนผมมา

นกตะกรุม นกตะกราม กระสาคอดำ และนกเป็ดก่า

สภาพนี้ ไม่ต่างจากพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งในประเทศไทย เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา

กลับถึงที่พัก ตอนฟ้ามืดแล้ว เดินออกไปกินข้าวร้านเดิม คุยกับเจ้าของรู้เรื่องมากขึ้น วันนี้ได้กินผัดผัก ผักสดงามมาก

เดินกลับใต้ท้องฟ้ามืด ดาวระยิบระยับเหมือนเมื่อวาน

“ต้องมาเดือนมีนาคมครับ จำไว้ ปีที่แล้วเจอเกือบ 200 ตัว” คุณฮมบอก

ผมมาเร็วไป

แต่ดูเหมือนว่ากับบางเรื่อง ผมก็ “มา” ช้าไป

“ลองไปดูที่คัดเทียนนะครับ” คุณฮมแนะนำ

คัดเทียน เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ความหวังในการพบนกกระเรียนของผมไกลออกไปอีก

รุ่งเช้า คุณฮมหารถให้ เป็นรถเปอร์โยต์ 405 ของคนในอำเภอ

ผมจากทัมชิมไปโดยไม่เห็นแม้แต่เงานกกระเรียน

เวลาผ่านไป นานจนถึงวันนี้ นกหลายชนิดปรากฏให้เห็นอีก

หลายชนิดมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในธรรมชาติอย่างที่ควรเป็น

ผมเปิดสมุดบันทึกอีกหน้า

คืนนั้นก่อนเข้านอนในมุ้งสีฟ้า

ผมนึกถึงตอนกลางวันที่ก้าวเท้าลงจากเรือเพื่อไปถ่ายรูปชุมชนนกน้ำ

โดยคิดว่าน้ำตื้นๆ ปรากฏว่าพอลงจากเรือผมจมลงไปถึงคอ ข้างล่างเป็นโคลน มองจากข้างบนเห็นเป็นเพียงผิวน้ำตื้นๆ

หลายสิ่ง เราก็ไม่มีวันรู้ถึงความ “ลึก” ของมัน

จนกระทั่งลงไปสัมผัส

 

วันที่ท้องฟ้าว่างเปล่า

ความรู้สึกอ้างว้าง คือสิ่งที่จะพบเจอ

คนอาจไม่รู้สึกเช่นนี้

ในวันที่แหงนหน้าขึ้นมอง

และเห็นนกบินอยู่เต็มท้องฟ้า…