E-DUANG : เสียง ออกไป ออกไป กระหึ่ม หลัง สถานการณ์ ไวรัส โควิด

ไม่ว่าจะมองจากทางด้านรัฐบาล ไม่ว่าจะมองจากทางด้านฝ่ายค้าน มีบทสรุปร่วมกันโดยอัตโนมัติว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 การเมืองจะร้อนแรง

ไม่เพียงการเมือง”ภายใน”ของรัฐบาล หากยังมีการเมืองจาก “ภายนอก”ของรัฐบาล

การยืดและขยายเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงมีเป้าหมายเพื่อยืดและขยายเวลาแห่งความขัดแย้งมิให้นำไปสู่การแตกแยกในลักษณะแตกและแยกตัว

นั่นก็คือ อาศัยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นเครื่องช่วยในการหายใจให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างน้อยก็อีก 1 เดือน หลังจากนั้นก็เป็นอันว่ารู้กัน

 

บางฝ่ายอาจประเมินว่า ความขัดแย้งและแตกแยกที่จะขยายและ บานปลายคือ ความขัดแย้งและแตกแยกกับฝ่ายค้าน หรือความขัดแย้งและแตกแยกกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่

อาจใช่แต่ก็รู้กันอยู่แล้วว่าดำรงอยู่มาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว

แต่ความขัดแย้งที่รัฐบาลและโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วิตกมากกว่า 1 คือความขัดแย้งภายในพรรคพลังประ ชารัฐอันเริ่มปรากฏเค้าลางให้เห็นแล้ว

จากการปล่อยข่าวในเรื่องที่จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

ขณะเดียวกัน 1 คือความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสกดดันอันจะมาจากพรรคประชา ธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

2 เรื่องนี้ต่างหากที่จะเป็นการรุกจาก”ภายใน”หนักหน่วง

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เมื่ออยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเท่ากับเป็นการดำรงอยู่เพื่อซื้อเวลาให้กับรัฐบาล

ซื้อเวลาให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากสภาพการณ์อันเกี่ยวกับไวรัสผ่อนเบาและมีการคลาย

ล็อกตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมลงเมื่อใด เมื่อนั้นหมายถึงมรสุมทางการเมืองจะต้องปั่นป่วน

เมื่อประสานเข้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจของประชาชน ผลก็คือ รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลายเป็นเป้านิ่งในทางการเมือง

เสียงตะโกน”ออกไป ออกไป”จะดังกระหึ่มอีกวาระหนึ่ง