ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ประเทศไทยยุคหลังโควิดต้องมีผู้นำที่ดีกว่าพล.อ.ประยุทธ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยก็น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตามที่ผมคาดไว้ในรูปคำพูดและบทความ นั่นก็คือแม้แต่ละประเทศจะมีระยะเวลาที่ไวรัสระบาดสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่แทบทุกประเทศมักใช้เวลาหนึ่งเดือนกว่าที่ไวรัสจะระบาดจนถึงจุดสูงสุด (Peak) ซึ่งในประเทศไทยก็คือราวๆ ต้นเมษายน

ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน หรือผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยสัปดาห์ ประเทศไทยในช่วงหลังสงกรานต์ได้กลายเป็นประเทศที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่อง

เฉพาะในสัปดาห์นี้ ผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ถึงวันละยี่สิบคนคือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม และในวันศุกร์ที่ 20 ซึ่งเราพบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 15 ราย เท่ากับว่าเรามีผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 44 วัน

ด้วยอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในปลายเดือนเมษาซึ่งแทบจะเท่ากับอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อช่วงก่อนไวรัสระบาดในเดือนมีนา ปัญหาข้อเดียวที่ยังกดดันประเทศไทยก็คือการระบาดจะมี “ขาลง” ที่ทอดระยะเวลาไปนานแค่ไหน และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดเหตุไวรัสระบาดรอบใหม่ขึ้นมาอีกที

ขณะที่หมอบางคนปั่นกระแสเรื่องไทยจะมีผู้ติดเชื้อถึง 350,000 จนนำไปสู่การจัดตั้ง ศบค.และดำเนินมาตรการเข้มเรื่องปิดเมือง ความเป็นจริงในเดือนเมษาที่ตรงข้ามกับ “กระแส” ทำให้เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายการปิดเมืองดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อยุติผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

พลเอกประยุทธ์และกองเชียร์เคยตั้งโจทย์ผิดๆ ตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาดจนปัจจุบันว่า “สุขภาพ” สำคัญกว่า “เสรีภาพ” หรืออีกนัยคือแนวคิดว่า “สุขภาพแห่งชาติ” สำคัญกว่า “ชีวิตประชาชน” และผลที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลและ ศบค.ดำเนินมาตรการปิดเมืองโดยแทบไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเลย

วันแรกที่พลเอกประยุทธ์สั่งการผ่านร่างทรงอย่าง ศบค.ให้ธุรกิจหยุดกิจการ คือวันแรกที่คนเป็นล้านของประเทศหมดโอกาสทำมาหากิน แต่หลังจากที่คนมหาศาลตกงานหรือไม่มีงานจากคำสั่งของรัฐในวันที่ 18 มีนาฯ การเยียวยาความเดือดร้อนที่รัฐทำต่อประชาชนกลับเชื่องช้าจนแทบไม่มีอะไรดีขึ้นในมุมประชาชน

หนึ่งเดือนที่การระบาดของไวรัสเคลื่อนตัวจากจุดสูงสุดสู่ขาลงคือหนึ่งเดือนที่ความอดอยากของประชาชนพุ่งจากจุดต่ำสุดสู่จุดสูงสุด ผู้ติดเชื้อใหม่ที่เคยสูงเกือบ 200 ในปลายมีนาลดเหลือหลัก 20 ในปลายเมษาฯ ขณะที่คนตายเพราะความอดอยากซึ่งมีไม่กี่คนในเดือนมีนาพุ่งพรวดจนนับไม่ถ้วนในปัจจุบัน

ประเทศไทยช่วงหลังสงกรานต์เป็นประเทศที่มีข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจมากอย่างที่ไม่เคยเป็น แต่ที่จริงการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจที่ไม่เป็นข่าวนั้นมีมากกว่าที่เป็นข่าว ไม่ต้องพูดถึงการฆ่าตัวตายที่ทำไม่สำเร็จ ซึ่งมีอีกไม่น้อย ในสังคมที่ “คนจน” ถูกรัฐผลักให้รับภาระในการสกัดไม่ให้ไวรัสลุกลาม

รัฐบาลหลอกลวงให้คนสังคมเข้าใจผิดว่าสุขภาพไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่มาตรการที่รัฐบาลใช้แก้ปัญหาไวรัสล้วนเป็นมาตรการที่อิง “การเมือง” ในความหมายกว้างทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำทุกวิถีทางเพื่อให้สถานการณ์ระบาดของไวรัสจบโดยแทบไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่อย่างที่ควรเป็น

หมอทวีศิลป์ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ตรวจไวรัสประชาชนทุกคนเพราะเปลืองเงิน วิธีที่รัฐใช้สู้ศึกไวรัสจึงได้แก่การสั่งหยุดงานเพื่อลดการรวมตัวจนไวรัสระบาดต่ำลงในที่สุด รัฐดำเนินยุทธศาสตร์ให้ไวรัสระบาดในขอบเขตที่จำกัดจนระบบสาธารณสุขควบคุมได้ แต่ต้นทุนของแผนนี้คือการไม่มีงานทำของประชาชน

ด้วยการสั่งปิดกิจการต่างๆ กลางเดือนมีนาคม ลูกจ้างในเมืองใหญ่ถูกบีบคั้นจากความจนให้กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ คนงานภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องพึ่งครอบครัวในภาคเกษตร ขณะที่สาธารณสุขจังหวัดและ อสม. รับภาระสกัดการติดเชื้อเพื่อปกป้องไม่ให้กรุงเทพเผชิญสถานการณ์เจ็บไข้เกินควบคุม

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่รัฐใช้เพื่อสกัดไวรัสระบาด คนจน, คนหาเช้ากินค่ำ และภาคเกษตรกลายเป็นคนที่รับภาระของแผนแก้ปัญหานี้มากว่าคนทุกกลุ่มในสังคม

เจ้าของโรงแรมและธุรกิจที่ต้องปิดกิจการนั้นลำบากจากนโยบายรัฐแน่ แต่คนมีเงินนั้นมีสายป่านยาวกว่าคนจนที่อยู่แบบเดือนชนเดือนจนความเดือดร้อนที่ได้รับนั้นไม่เท่ากัน

นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะชอบพูดว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ มี “ต้นทุนที่แฝงเร้น” ในด้านใดด้านหนึ่งอยู่เสมอ และถ้าการสร้างเขื่อนมีต้นทุนแฝงเร้นเป็นการไล่ที่ชาวบ้านฉันใด การแก้ปัญหาไวรัสโดยวิธี ปิดเมืองก็มีต้นทุนแฝงเร้นคือความอดอยาก ความไม่มีจะกิน และความทุกข์ยากแสนสาหัสของประชาชน

ทุกวันนี้มีผู้พูดกันมากถึงความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์และ ศบค.ในการดูแลประชาชน แต่ที่ต้องย้ำกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือรัฐล้มเหลวถึงจุดที่ไม่มีปัญญาหาข้าวให้ประชาชนกินแล้ว ภาพคนนับร้อยแออัดแย่งข้าวแย่งน้ำคือหลักฐานว่ารัฐทำให้คนที่เคยมีงานทำกลายเป็นคนไม่มีจะกินไปนับไม่ถ้วนทั้งแผ่นดิน

พรรคอนาคตใหม่เคยพูดเรื่องการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ในการรณรงค์เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ในเวลาที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและเครือข่ายพลเอกประยุทธ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างตอนนี้ รัฐบาลทำไม่ได้แม้แต่งานสังคมสงเคราะห์ง่ายๆ อย่างแจกข้าวแจกน้ำ มิหนำซ้ำยังโง่เขลาจนไล่จับคนที่ควักเงินซื้อข้าวซื้อน้ำให้ประชาชน

กองเชียร์พลเอกประยุทธ์ชอบตั้งประเด็นตรรกะวิบัติประเภทเผด็จการจีนแก้ไวรัสดีกว่าประชาธิปไตยอเมริกา แต่จีนไม่ได้ชนะศึกไวรัสเพราะเป็นเผด็จการ จีนคุมไวรัสได้เพราะมีรัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่งพอจะหาข้าวหาน้ำให้ประชาชนกินยามปิดเมือง ขณะที่ระบอบประยุทธ์ทำได้แค่จับคนแจกข้าวประชาชน

ในสังคมที่รัฐบาลไม่สนใจดูแลประชาชนมากเท่าคำพูดสร้างภาพ รัฐกลายเป็นอุปสรรคในการอยู่รอดของประชาชนยิ่งกว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น รัฐทำให้ประชาชนตกงาน เยียวยาล่าช้า คนถูกยึดบ้านยึดรถ หนุ่มสาวต้องพึ่งพ่อแม่ในภาคเกษตร ส่วนการสังคมสงเคราะห์ที่ดีที่สุดมาจากประชาชนช่วยกันเอง

หนทางเดียวที่ประชาชนจะอยู่รอดในการปกครองแบบนี้คือการดูแลตัวเอง และวิธีเดียวที่ประชาชนจะดูแลตัวเองได้แก่การเป็นแรงงานรับจ้างในระบบทุนนิยมให้เร็วที่สุด เพราะภาคเอกชนมีกำลังดูแลประชาชนได้ดีกว่าอำนาจรัฐซึ่งปราศจากหัวใจ ถึงแม้รัฐในทางทฤษฎีจะเป็นตัวแทนประชาชน

เส้นทางของประเทศไทยไม่มีทางอื่น นอกจากต้องรีบเปิดเมือง คืนโอกาสในการทำมาหากินให้ประชาชนได้เลี้ยงชีวิตในรัฐบาลเฮงซวยที่ไม่มีปัญหาแม้แต่ให้ถุงยังชีพผู้เดือดร้อนทุกคน

แน่นอนว่าการเปิดเมืองไม่ได้หมายถึงการทำมาหากินเต็มพิกัดแบบที่เคยเกิดก่อนไวรัสยึดเมือง รัฐบาลที่ฉลาดจึงต้องเปิดเมืองโดยมีแผนควบคุมสถานการณ์สุขภาพกว่าช่วงปิดเมืองอย่างมหาศาล เพราะถ้าเปิดเมืองแล้วพลาด ก็หมายถึงสังคมพินาศทั้งหมด การเปิดเมืองจึงต้องทำบนวิสัยทัศน์มากกว่าเจ้าสัวกดดัน

สังคมไทยยุคหลังโควิดเป็นสังคมที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม เราจะเกิดการจ้างงานแบบใหม่ ธุรกิจแบบใหม่ และจำนวนคนเคยมีงานที่จะตกงานมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ธุรกิจร้านอาหาร , ห้างสรรพสินค้า, บันเทิง ฯลฯ ไม่มีทางเหมือนเดิมแน่ๆ จนการจ้างงานและรายได้ลูกจ้างจะหดหายอย่างน่าสะพรึงกลัว

ภายใต้วิกฤติครั้งใหญ่ที่รอขย้ำประเทศหลังสถานการณ์ไวรัสยุติลง สังคมไทยต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพในการบริหารสาธารณสุขไม่ให้ไวรัสระบาดจนเศรษฐกิจพังอีก เราต้องการรัฐที่มีสมรรถนะในการดูแลประชาชนมากขึ้น รวมทั้งผู้นำรัฐบาลที่เป็นผู้นำทางปัญญาในการปรับโครงสร้างสังคมครั้งสำคัญ

ถ้าห้าปีภายใต้ระบอบประยุทธ์คือห้าปีของระบอบการปกครองที่ไร้ปัญญา สังคมไทยหลังจากนี้คือสนามรบที่โหดเหี้ยมจนไม่มีทางที่ระบอบประยุทธ์จะพาประเทศผ่านวิกฤติได้เลย

ถ้าห้าปีก่อนวิกฤติโควิดคือบทพิสูจน์ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่มีศักยภาพทำให้ประเทศมั่งคั่งและประชาชนมั่นคง ผลงานของระบอบนี้ในยุควิกฤติโควิดก็ประจานวิสัยทัศน์ที่มีประชาชนในหัวใจน้อยจนน่ากังวล

สิ้นเมษายนจะเป็นห้วงเวลาที่ระบอบประยุทธ์ทำให้ประชาชนไม่มีเงินเดือนครบสองเดือน คนจำนวนมากไม่มีค่าน้ำ ไม่มีค่าไฟ ไม่มีค่าเช่าบ้าน ไม่มีค่าผ่อนรถ ไม่มีค่ามอบตัวลูกเข้าโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งหมายถึงโอกาสถูกตัดน้ำ ถูกตัดไฟ ไล่ออกจากบ้าน ถูกยึดรถ และเร่ร่อนขอข้าวกิน

หากรัฐบาลประยุทธ์มีหัวใจเท่ากับความถี่ในการแถลงข่าวอวยรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลควรทำโดยเร่งด่วนที่สุดคือการมีมาตรการคุ้มครองให้ประชาชนมีปัจจัย 4 อย่างบ้านและอาหาร แต่ไม่ว่าจะเป็นพลเอกประยุทธหรือมือขวาอย่างหมอทวีศิลป์ เราไม่เคยได้ยินรัฐบาลพูดหรือทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้แม้แต่ครั้งเดียว

ไม่เคยมียุคสมัยไหนที่การเปลี่ยนผู้นำประเทศสำคัญต่อความอยู่รอดของประเทศชาติและประชาชนเท่ายุคปัจจุบัน