วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /จะดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ คือความถูกต้อง ความอยู่รอด

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

จะดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์

คือความถูกต้อง ความอยู่รอด

 

เมื่อโรงพิมพ์พิฆเณศเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาจากงานการพิมพ์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านพ้นไปจนขึ้นปี 2520 เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติตัวเอง

เมื่อเดือนตุลาคม 2520 สุจิตต์ วงษ์เทศ ไปจัดตั้งโรงพิมพ์เรือนแก้วตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนอรุณอมรินทร์

หลังตั้งโรงพิมพ์เรือนแก้ว สุจิตต์ออกนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนพฤศจิกายน จากที่เคยออกนิตยสารโบราณคดีของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นคณบดี ครั้งยังเป็นนักศึกษาคณะนั้น

เมื่อโรงพิมพ์พิฆเณศเริ่มฟื้นตัว ขรรค์ชัย บุนปาน จึงคิดออกนิตยสารรายเดือนชื่อพาที เป็นนิตยสารบันเทิงคดีแนววรรณกรรมผสมผสาน ศิลปะ และบันเทิง ระหว่างนิตยสารกระดึงทองและชาวกรุง

นิตยสารพาทีมีเรื่องสั้นกึ่งสารคดีลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ คือ “เย็นลมป่า” เขียนติดต่อกันถึง 6 ตอน นำเรื่องด้วย “ร้อนนี้ ผมกลับบ้าน” และ “นักการเมืองผู้สูญเสียอำนาจคนที่สาม” ผู้เขียนคือ ชวน หลีกภัย หลังจากนั้นรวมพิมพ์เป็นเล่มต่อมาในปี 2521 โดยสำนักพิมพ์พลับพลึง

 

สํานักพิมพ์พลับพลึงแนะนำชวน หลีกภัย ในหน้าแรกช่วงท้ายๆ ไว้ว่า สมัครรับเลือกตั้งในปี 2512 ปรากฏว่าได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดตรังสามสมัย ตำแหน่งทางการเมืองครั้งสุดท้าย (ขณะนั้น) เป็นรองหัวหน้าพรรค (ประชาธิปัตย์)…และ…รัฐมนตรีหลายกระทรวง ผลงานเขียน “เย็นลมป่า” เป็นผลงานรวมเล่มครั้งแรกของเขา

ส่วน “คำนำ” เริ่มต้นไว้ว่า

“เรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ใน ‘เย็นลมป่า’ ซึ่งคุณชวน หลีกภัย ตัวแทนประชาชนจากจังหวัดตรังได้นำมาผูกร้อยเรื่องไว้อย่างน่าอ่านนี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นอีสาน ใต้ เหนือ กลาง ตะวันออกจรดตะวันตก แต่คนที่รับเคราะห์กรรมจากเหตุการณ์เหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะผูกเรื่องราวความเดือดร้อนของตัวเองออกมาตีแผ่ให้คนทั่วไปรับทราบได้ คุณชวนจึงรับหน้าที่อันนั้นไว้ด้วยความเต็มใจ

“เมื่อเกิดการสู้รบ เกิดการปราบปราม เกิดการก่อการร้ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ใด แห่งใด นอกจากผู้ปราบและผู้ถูกปราบจะสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว ชาวบ้านตาดำๆ จำนวนมหาศาลเหลือเกินก็ต้องพลอยรับเคราะห์กรรมจากการสู้รบ จากการปราบปราม จากการก่อการร้ายด้วยเช่นกัน…

“นอกไปจากนั้นแล้ว ชาวบ้านในชนบทก็ยังต้องผจญกับความทุกข์ยากเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยรูปการณ์การคุกคามต่างๆ นานาอีกทางหนึ่ง

“เย็นลมป่า เป็นเสมือนเสียงร่ำไห้ของผู้คนในชนบทที่สะท้อนให้ผู้คนบนแผ่นดินนี้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแสนสาหัสของพวกเขา” — ปกรณ์ วิทยา สำนักพิมพ์พลับพลึง (พิมพ์ครั้งที่ 2 – 2521)

 

ปกหลังของเย็นลมป่า มีคำนิยมจากสมบูรณ์ วรพงษ์ นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

“เย็นลมป่า ลมเย็นที่จะปัดเป่าลมร้อนออกไป ผมอ่านเรื่องนี้หลายตลบ นึกไม่ถึงว่าเมืองไทยเมืองพุทธศาสนาจะมีความป่าเถื่อนถึงเพียงนี้ ยิ่งมาอ่านข้อเขียนของคุณชวน ซึ่งไม่ได้เป็นนักเขียนมาก่อน หรืออาจจะเป็นก็ไม่ทราบ แต่คุณชวนได้ถอดหัวใจออกมาตีแผ่ในเย็นลมป่านี้ทั้งหมด

“…พูดยังไงดี อาจจะพูดได้ว่า คุณชวน หลีกภัย ได้ใช้เนื้อหาของเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดของเราอย่างไร เขาไม่ได้พูดอย่างนักการเมืองเท่านั้น หากเขาพูดอย่างที่ชาวบ้านเห็นและเข้าใจ…”

หลังจากนั้น–หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ชวน หลีกภัย ยังได้รับการเลือกตั้งที่จังหวัดตรังเสมอมา กระทั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย วันนี้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรซ้ำอีกสมัย

แต่ที่ ฯพณฯ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก คือการเขียนหนังสือในเชิงบันทึกเหตุการณ์ความเป็นจริงในรูปแบบเรื่องสั้นและสารคดีที่ผู้เขียนคำนำ “เย็นลมป่า” บันทึกไว้ว่า

“เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอีสาน ใต้ เหนือ กลาง ตะวันออกจรดตะวันตก แต่คนที่รับเคราะห์กรรมจากเหตุการณ์เหล่านั้น [(ที่ชวน หลีกภัย บันทึกไว้ – ข้าพเจ้า (ผู้เขียน)] ไม่มีโอกาสจะผูกเรื่องราวความเดือดร้อนของตัวออกมาตีแผ่ให้คนทั่วไปรับทราบ”

นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง เสียดายเพราะหาคนเขียนบันทึกเรื่องจริงที่รู้จริงไม่ได้ง่าย

 

จาก 9 มกราคม 2521 หนังสือพิมพ์มติชนทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวประเทศไทย รวมถึงผู้เดือดร้อนทั่วทุกหัวระแหงในฐานะตัวแทนคนไทย ผู้อ่านทั่วประเทศ และเรื่องราวความเดือดร้อนที่ผู้แทนราษฎรนำมาตีแผ่ให้รัฐบาลรับทราบ–ทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้แต่รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อชวน หลีกภัย

กระนั้น ตั้งแต่บัดนั้น กระทั่งบัดนี้ “เย็นลมป่า” (ที่) เป็นเสมือนเสียงร่ำไห้ของผู้คนในชนบทที่สะท้อนให้ผู้คนบนแผ่นดินนี้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแสนสาหัสของพวกเขา (ยังเป็นอยู่เช่นนั้น)

หลังจากนิตยสารพาทีออกจำหน่ายได้สักพักใหญ่ ด้วยเหตุจำเป็นบางประการจึงต้องหยุดไป แต่ขรรค์ชัยยังมุ่งมั่นที่จะจรรโลงไว้ซึ่งการเป็นบริษัท (มติชน จำกัด) จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายว่า จะดำเนินเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิดแล้วพยายามนำออกมาเผยแพร่แก่สาธารณชนให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความอยู่รอด ความมั่นคงของส่วนรวม ตลอดจนความเพลิดเพลินในการอ่านเป็นสำคัญ

“ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2520 ในรูปหนังสือเข็มทิศธุรกิจก่อน หลังจากประสบความล้มเหลวอย่างเรียบร้อยในปี 2519 ด้วยอำนาจอันไม่เป็นธรรมของคณะปฏิรูปฯ ที่ขึ้นมาเผด็จการประเทศชาติบ้านเมืองในเดือนตุลาคมของ พ.ศ.นั้น

“บทเรียนของความเปลี่ยนแปลงสอนให้เราล้มลุกคลุกคลานและมีกำลังใจกล้าแข็งพร้อมที่จะยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มาตลอดในรูปแบบของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สุจริตและบริสุทธิ์ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีแต่ความเจ็บปวดส่วนลึกจากระบบทุนนิยมการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง ความขุ่นแค้นสมเพช จากเสียงเสียดสีอันไม่เป็นธรรม ในที่สุดเมื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านผู้อ่านต้อนรับ บริษัทห้างร้านยินดีในการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ เราก็สามารถชันเข่าด้วยลำแข้งตัวเองได้…”

จากเรื่องของหนังสือ 3 เล่ม (เปิดหน้ากากญี่ปุ่น โดยอิชิโร คาวาซากิ แปลโดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์ เดินทัพ โดย “คณะกองบรรณาธิการมติชน” “จดหมายถึงพ่อเปรม” โดย “ยอน ละเมียด”) โดยขรรค์ชัย บุนปาน