เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร” จุดกำเนิดความนิยมคาถา “เย ธมฺมาฯ” ในทวารวดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คาถาภาษาบาลีที่มีชื่อย่อว่า “เย ธมฺมาฯ” อันเป็นคาถายอดฮิตของชนชาติมอญโบราณแห่งรัฐทวารวดีเมื่อราว 1,400-1,500 ปีที่แล้วนั้น หาใช่พระพุทธวัจนะของพระพุทธองค์ไม่

หากแต่เป็นคำสอนของ “พระอัสสชิ” หนึ่งในพระอรหันต์กลุ่มปัญญวัคคีย์ ปฐมสาวก ที่เทศนาแก่ “พระสารีบุตร” จนได้ดวงตาเห็นธรรม

โจทย์ของบทความชิ้นนี้จึงมีอยู่ว่า อะไรเป็นมูลเหตุให้ชาวมอญโบราณยุคทวารวดีเกิดความนิยมในการนำคาถาเย ธมฺมาฯ มาใช้อย่างกว้างขวาง มากกว่าคาถาบทอื่นๆ

อีกทั้งความนิยมในรูปเคารพของพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตรเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีพัฒนาการสืบเนื่องกันมาอย่างไร

 

ธรรมใดเกิดแต่เหตุ
ตถาคตตรัสถึงเหตุและความดับแห่งธรรม

คาถาเย ธฺมมาฯ ย่อมาจาก

 

“เย ธฺมมา เหตุปฺปภวา เอตํ เหตุ ตถาคโต อาห

เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ”

 

ถอดความได้ว่า

“ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสถึงเหตุนั้นและความดับแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้”

เป็นคาถาที่พระอรหันต์อัสสชิกล่าวให้แก่ “อุปติสสะ” ณ กรุงราชคฤห์ ขณะที่เดินไปรับบิณฑบาตยามเช้าอยู่

“อุปติสสะ” คือนามจริงของพระสารีบุตร ส่วนฉายา “สารีปุตฺโต” นั้นได้มาจากการที่เป็นบุตรของพระสารีพราหมณี

อุปติสสะเบื่อโลกย์ เบื่อชีวิต แสวงหาทางหลุดพ้นในวิถีแห่งปริพาชก คือปล่อยเนื้อปล่อยตัวคล้ายฮิปปี้ เที่ยวฝากตัวเป็นศิษย์สำนักต่างๆ ทันทีที่ได้ฟังคำของพระอัสสชิว่าด้วยคาถา “เย ธฺมมา” ก็ถึงกับบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน

รีบกลับไปบอกแก่เพื่อนสนิท “โกลิยะ” ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “พระโมคคัลลานะ” ถึงธรรมะอันประเสริฐ พลันสหายผู้มีปัญญาก็พลอยได้ดวงตาเห็นธรรมอีกราย

“เย ธมฺมาฯ” ถือเป็นกุญแจไขประตูให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลละเข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เพราะหลังจากที่ได้ฟังคาถานี้แล้ว สองสหายต่างดำริว่า เราต้องเข้าให้ถึง “พระตถาคต” ผู้เป็นมหาบุรุษของพระอัสสชิให้จงได้

นี่แค่ขนาดฟังธรรมของพระสาวกยังกินใจถึงเพียงนี้ หากยิ่งได้ฟังพระวัจนะของพระศาสดาจะยิ่งซาบซึ้งตรึงทรวงมากเพียงไหน

นำไปสู่การขอบวชกับพระพุทธเจ้า กระทั่งพระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ที่เขาคิชฌกูฏ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (มาฆะ)

ผ่านไปนานนับพันปี คาคา “เย ธมฺมาฯ” ถูกนำมาใช้จารึกในงานพุทธศิลป์สมัยทวารวดีหลายชิ้น อาทิ บริเวณฐานพระพุทธรูป ด้านหลังพระพิมพ์ดินเผา บนเหรียญเงินรุ่นเก่า ฯลฯ ตัวอักขระที่พบนั้นมีทั้งอักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ และอักษรมอญโบราณ

ประหนึ่งว่าคาถานี้ได้กลายมาเป็น “หัวใจพระพุทธศาสนาในยุคทวารวดี” ฉบับย่อก็ว่าได้

ฤๅผู้คนในยุคทวารวดีมองเห็นความสำคัญแห่งการบรรลุธรรมขั้นต้นของพระสารีบุตร-พระโมคคัลลานะ ในทำนองว่าหากไม่มีก้าวแรก ก็จะไม่มีก้าวต่อๆ ไป ฉะนั้น ก่อนที่จะมุ่งไปพระนิพพาน ต้องผ่านขั้นโสดาบันให้ได้ก่อน

 

พระพิมพ์รุ่นเก่าสุด สารีปุตฺโต

การทำรูปเคารพพระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เป็นเลิศแห่งปัญญา รุ่นเก่าสุดที่พบบนแผ่นดินสยามก็คือ พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี ได้มาจากการขุดแต่งเนินโบราณสถานหมายเลข 11 เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

พระพิมพ์ชิ้นนี้มีความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ฝีมือปั้นแบบง่ายๆ หยาบๆ ทำด้วยดินเผาอุณหภูมิต่ำคือเผาแบบข้างในยังไม่สุกเห็นเนื้อดินสีดำ อันเป็นรูปแบบดินเผาที่พบทั่วไปในยุคทวารวดี

ลักษณะเป็นภิกษุ (ไม่มีเกตุมาลาบนพระเศียร) หน้าตาพื้นเมือง นั่งปางสมาธิ ด้านหลังมีตัวอักษรปัลลวะแบบอินเดียใต้จารึกว่า “สารีปุตฺโต” อันหมายถึง “พระสารีบุตร”

สิ่งที่น่าสนใจคือ ได้พบพระพิมพ์ลักษณะใกล้เคียงกันในหลุมขุดค้นเดียวกันอีก 2 องค์ องค์หนึ่งด้านหลังเขียนว่า “เมตตยฺยโก” น่าจะหมายถึง พระศรีอาริยเมตไตรย ส่วนอีกองค์อยู่ในสภาพชำรุด ตัวอักษรลบเลือน

อาจารย์จิรัสสา คชาชีวะ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานไว้ในหนังสือ “ดำรงวิชาการ” ฉบับที่ 3/2546 ว่าด้านหลังของพระพิมพ์อีกองค์อาจเขียนว่า “โมคคฺลลาโน” ก็เป็นได้ เพราะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้เป็นเลิศแห่งอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งควรจะได้รับการจัดวางคู่กับพระสารีบุตร

โดยพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร เป็นสัญลักษณ์ของพระสาวกที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สามารถรักษาความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนาไว้ได้ อัครสาวกทั้งสองจึงเป็นตัวแทนของพระธรรมและพระสงฆ์ที่จะอยู่เคียงคู่กับพระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าในอนาคต ซึ่งจะเป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยืนยงต่อไปได้

 

พระอสีติสาวกยุคหริภุญไชย

งานพุทธศิลป์สมัยหริภุญไชย ทำสืบต่อจากทวารวดีภาคกลาง ได้พบการทำรูป “พระอสีติสาวก” จำนวนมาก “พระอสีติสาวก” หมายถึงพระอรหันตสาวกจำนวน 80 รูป ที่ได้รับการกล่าวยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเป็นเลิศ (เอตทัคคะ) ในแต่ละด้าน จึงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆ กันไป

พบพระอสีติสาวกกลุ่มหนึ่งสูงประมาณ 12 เซนติเมตร ประมาณ 80 องค์ในแหล่งโบราณสถานร้างบริเวณอำเภอสารภี รอยต่อลำพูน-เชียงใหม่ ใกล้เวียงกุมกาม (ทั้งหมดลักลอบขุดโดยเอกชน) พระพิมพ์ดินเผาเหล่านี้มีการเขียนนามเฉพาะด้วยตัวอักษรมอญโบราณไว้ที่ฐานของแต่ละองค์ เช่น กจฺจายน มหานาม สารีปุตฺโต ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมดินเผาสมัยหริภุญไชยแบบนูนสูงกึ่งลอยตัว เป็นรูปพระสาวกครองจีวรห่มคลุม มีเม็ดพระศก นั่งขัดสมาธิเพชร มองโดยรวมแล้วเหมือนพระพุทธรูปทุกประการ แตกต่างกันแค่ 2 จุดคือ 1.ไม่มีพระเกตุมาลา 2.ทำท่าประนมกรคารวะพระพุทธเจ้า

รูปพระสาวกเหล่านี้ส่วนฐานหักหายไป และจารึกด้านหลังลบเลือน แต่เหตุที่ทั้งสองเป็นอัครสาวกองค์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา จึงเชื่อว่าช่างต้องการสื่อว่าเป็นพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร

 

พระสารีบุตรแห่งวัดเจดีย์หลวง

ในพระวิหารวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ มีพระพุทธรูปประธานเป็นพระอัฏฐารสหรือพระยืนขนาดใหญ่ มีพระอัครสาวกซ้าย-ขวายืนประกอบสองข้าง ตามประวัติการสร้างระบุนามชัดเจนว่าตั้งใจจะสร้างให้เป็นพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตรดังนี้

“พระอัฏฐารส ปางห้ามญาติสูง 16 ศอกเศษ (8.23 เมตร) หล่อด้วยทองสำริด พร้อมด้วยพระอัครสาวกทั้งสององค์คือ พระโมคคัลลานะ เบื้องซ้ายสูง 4.43 เมตร และพระสารีบุตรสูง 4.19 เมตร หล่อโดยพระนางเจ้าติโลกะจุฑา เมื่อ พ.ศ.1955”

ถือว่าเป็นการทำพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร แบบลอยตัวที่เก่าที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินสยามได้หรือไม่

ในสมัยทวารวดีถึงแม้จะพบ “สารีปุตฺโต” แต่ก็เป็นเพียงพระพิมพ์ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ สมัยหริภุญไชยมีความเป็นนูนสูงขึ้นมาอีกหน่อย และยาวเลยฝ่ามือมาอีกนิดเท่านั้น

การทำจัดองค์ประกอบให้พระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลางขนาดใหญ่เป็นประธาน แล้วมีพระอัครสาวกเบื้องซ้าย-ขวาประกอบอยู่สองข้างนั้น อันที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยพบมาแล้วตั้งแต่พระพิมพ์ดินเผายุคทวารวดี-หริภุญไชย อาทิ พระพิมพ์ประเภทพระกล้วย-พระกวาง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบมากในภาพจิตรกรรมฝาผนังในคูหาวิหารที่อาณาจักรพุกาม (ร่วมสมัยกับหริภุญไชยช่วงกลางๆ ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18) ที่นิยมทำสองอัครสาวกพนมมืออยู่ข้างพระพุทธองค์

แต่การทำพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตรแบบลอยตัวขนาดใหญ่สูงกว่า 4 เมตรเช่นนี้ ต้องกล่าวได้ว่า พบไม่บ่อยนักในงานพุทธศิลป์

ข้อสำคัญ มีการแสดงความแตกต่างในเรื่องของสบงจีวรของพระอัครสาวกอีกด้วย กล่าวคือพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตรของวัดเจดีย์หลวง แต่งกายเป็นพระภิกษุสายลังกาวงศ์ที่กำลังได้รับความนิยมในเชียงใหม่ขณะนั้น (แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนิกายสวนดอกหรือป่าแดง?)

เนื่องจากพระนางติโลกะจุฑาเป็นมเหสีของพระญาแสนเมืองมา ผู้ทรงอุปถัมภ์นิกายป่าแดง แต่ทรงเป็นพระมหาเทวีหรือพระราชมารดาของพระญาสามฝั่งแกน ผู้ทรงสนับสนุนนิกายสวนดอก

การแต่งกายของพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร มีการใช้ผ้า “องคพันธ์” มารัดอก หรือเรียกว่า “ผ้ามัดอก” อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ และเป็นต้นแบบให้แก่พระภิกษุล้านนายังคงนุ่งห่มสืบต่อมาจนถึงยุคครูบาเจ้าศรีวิชัย

ผิดกับรูปเคารพพระสารีบุตรรุ่นโบราณ ที่ครองจีวรเหมือนกับพระพุทธรูปทุกประการ แค่แสดงความแตกต่างด้วยการไม่มีพระโมลี (พระพิมพ์ยุคทวารวดีที่อู่ทอง) และต่อมาเริ่มพนมมือ (ยุคหริภุญไชย)

 

ยุคพม่าปกครองล้านนา
โมคคัลลานะ-สารีบุตรยังคงอยู่

ณวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย ยุคที่ปกครองโดยพม่า พ.ศ.2269 พบจารึกชื่อ “มังพละสแพก” (เป็นชื่อคนพม่าที่ถูกส่งมาปกครองเชียงราย-เชียงแสน) ที่ฐานพระอัครสาวกสององค์ “ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง” ได้ทำวิจัยเรื่องดังกล่าว สรุปเนื้อหาได้ว่า

“พระญาหลวงเมืองเชียงราย มังพละสแพก พร้อมด้วยพระมเหสีและราชบุตร มีศรัทธาสร้างพระอัครสาวกพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร เพื่อให้คนและเทวดาได้สักการบูชา พร้อมทั้งอธิษฐานว่าขอให้บุญกุศลนี้จงเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้ได้ไปนิพพาน ได้เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้อุปัฏฐากพระศรีอาริยเมตไตรย…”

เห็นได้ว่า เส้นทางความเคารพศรัทธาที่ชาวอุษาคเนย์มีต่อพระโมคคัลลานะ-พระสารีบุตร โดยเชื่อมโยงไปถึงพระศรีอาริยเมตไตรยนั้น มีมาอย่างยาวนานแล้ว นับแต่ยุคสุวรรณภูมิ ทวารวดี (ผ่านคาถาเย ธมฺมาฯ) สืบต่อมาจนถึงพระอสีติสาวกยุคหริภุญไชย และยุคทองของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ที่ถูกส่งขึ้นมาบนแผ่นดินล้านนา

แม้กระทั่งยุคที่พม่าเข้าปกครองล้านนา ความเลื่อมใสศรัทธาต่อสองอัครสาวกก็ไม่เคยจางหายไปจากใจพุทธศาสนิกชน