คลายล็อก คลายทุกข์คนไทย / ฉบับประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2563

ถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีท่าทีเช่นไร
ต่อมาตรการตามประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19
ซึ่งวันนี้แม้สถานการณ์ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับ
แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เตือนว่า
“อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายคนเรียกร้องให้ปลดนู่นปลดนี่ในเวลานี้ แต่ผมคิดว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด และฟังข้อมูลด้านสาธารณสุขและแพทย์ด้วย รวมถึงมาตรการรองรับเพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้การตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายอย่าง แต่อยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าเริ่มหรือปลดเร็วเกินไป สิ่งที่ตามมาหากแพร่ระบาดขึ้นอีก สิ่งที่ทำมาทั้งหมดด้วยระยะเวลานานล้มเหลวแล้วจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ผมต้องดูแลเป็นพิเศษ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ท่าทีดังกล่าว ทำให้ประเมิน การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ที่จะมีการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารหน้า ( 28 เมษายน) ได้ว่าจะเป็นอย่างไร
ยิ่งเมื่อ ไปพิจารณาท่าที น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.)
ที่ระบุว่า แม้จำนวนการติดเชื้อไวรัสลดลงตามลำดับ
แต่แนวทางการป้องกันการติดเชื้อระลอกใหม่ หรือ Second Wave ยังต้องเข้ม
เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยในต่างประเทศ

เชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คงจะถูกต่ออายุออกไปอย่างแน่นอน
โดยอาจจะยืดออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน คือ ตลอดเดือนพฤษภาคม
เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ไขปัญหา
ยิ่งกว่านั้น การมีอำนาจตาม พ.ร.ก. ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถกำชับอำนาจมาอยู่ในมือ
สามารถขับเคลื่อนการบริหารภายใต้ความคุ้นชิน คุ้นเคยและถนัด
นั่นก็คือ ใช้ระบบราชการรวมศูนย์ สั่งการไปยังปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยราชการอื่นโดยตรง
ไม่ต้องผ่านเจ้ากระทรวงซึ่งเป็น “นักการเมือง” และเกี่ยวโยงไปยังพรรคการเมือง ที่ทำให้การตัดสินใจไม่รวมศูนย์

แต่เรากระนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ ว่ามาตรการในเชิงบังคับ ทั้งการมีเคอร์ฟิว การห้ามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ดำเนินธุรกิจ การห้ามเดินทาง การทำกิจกรรมทางสังคมที่มีการชุมนุมของคนมากๆ มิได้มีการผ่อนปรนลง
ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน คนตกงาน ไม่มีเงินใช้จ่าย เพื่อตอบสนองปัจจัย 4 สินค้าอุปโภคบริโภคก็ขาดแคลน หรือมีราคาแพง
ทำให้ทั้งคนจนเมือง ทั้งคนจนในชนบท ไม่มีจะกิน เกิดภาวะอดอยาก ต้องเปลี่ยนสภาพจนคนหาเช้ากินค่ำ กลายเป็นคนที่ต้องถูกสงเคราะห์ กลายเป็นผู้แบมือขอ
สร้างทั้งภาวะเดือดร้อน สร้างทั้งภาวะคับแค้นในการมีชีวิต
เหล่านี้เอง ทำให้เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลคลายล็อกลงบ้างก็ดังกระหึ่ม
แม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาออกมา
แต่ไม่เพียงพอและทั่วถึง
บางส่วนต้องไปเข้าคิวรอคอยคนนำอาหารมาแจก
เสียงร้องให้ผ่อนคลายล็อกที่มุ่งเน้นเรื่องโรคระบาดอย่างเดียว จึงดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ
ท่ามกลางข่าวร้ายโดยเฉพาะการจนมุม คิดสั้นถึงขั้นฆ่าตัวตาย มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องให้การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์
และให้มีการรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินการทางเศรษฐกิจ กับการหยุดยั้งการแพร่ระบาด ให้ดี
อย่าให้ประชาชนอดตาย
อย่าให้ประชาชนเดือดร้อนยิ่งไปกว่านี้
การคลายล็อกที่สมดุล และเร็วกว่าเดิม อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งคิด และทำ
เพื่อคลายทุกข์คนไทย
—————————