วิกฤติศตวรรษที่21 : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : เมืองโลก-สมรภูมิสำคัญในปัจจุบัน

เมืองโลก-สมรภูมิสำคัญในปัจจุบัน

เมื่อประชากรโลกส่วนใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง (2008) และกระบวนโลกาภิวัตน์ที่มีการค้าการลงทุนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเชื่อมทั้งโลกเข้าเป็นหนึ่งเดียว เมืองก็ได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญของความขัดแย้งในระบบทุนนิยม นั่นคือ “เศรษฐกิจเป็นแบบโลกาภิวัตน์ การเมืองเป็นแบบชาตินิยม”

การศึกษาเกี่ยวกับเมืองและการเป็นเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในองค์การระดับโลก ได้แก่ สหประชาชาติ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ สถาบันวิชาการและสำนักคิด ไปจนถึงสถาบันการเงินการลงทุนภาคเอกชน และกลุ่มเอ็นจีโอ ช่วยให้เข้าใจและเห็นบทบาทของเมืองในการกำหนดอนาคตของชาติและเวทีโลกได้ชัดเจนขึ้น

เพราะว่ารัฐชาติไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม กับทั้งมีความแตกแยกภายในค่อนข้างสูงทั่วโลก อัตลักษณ์ของชาติพร่ามัว เกิดขบวนการต้องการแยกตัวหลายแห่ง แม้กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้ว เมืองได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์

แต่เมืองยิ่งมีมากกว่าประชาชาติ และมีพลวัตสูง นับวันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงยิ่งรวดเร็ว มีทั้งการเชื่อมประสานกัน และการขัดแย้งอย่างไม่รู้จบและอาจรุนแรงขึ้นได้ สมรภูมิแห่งความขัดแย้งนี้มีหลายด้านด้วยกัน เช่น การต่อสู้ระหว่างเมืองเพื่อการแย่งชิงการลงทุนภายในประเทศหนึ่งและระหว่างประเทศ

การต่อสู้ระหว่างเมืองใหญ่ ที่มักได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์สูง กับเมืองขนาดกลางและเล็กที่มักมีลักษณะท้องถิ่นหรือชาตินิยมสูงกว่า ทั้งในประเทศหนึ่งและระหว่างประเทศ การต่อสู้ระหว่างเมืองใหญ่ เพื่อแย่งชิงตำแหน่งแกนนำของกระบวนโลกาภิวัตน์และเวทีโลก

ภายในเมืองโดยเฉพาะเมืองใหญ่ก็มีช่องว่างทางรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจสูง ต้องแบกรับภาระหน้าที่ในการรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมืองส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในการคุกคามของภัยธรรมชาติต่างๆ

 

สถานการณ์เมืองในโลกปัจจุบัน

เมืองในประเทศกำลังพัฒนาได้ขยายตัวและแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับแต่กระแสสูงของกระบวนโลกาภิวัตน์ครั้งล่าสุด และการเปิดประเทศ เดินหนทางทุนนิยมของจีน (1979)

แสดงว่าแม้กระบวนโลกาภิวัตน์จะริเริ่มและกำกับโดยสหรัฐและตะวันตก แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถเก็บเกี่ยวดอกผลของโลกาภิวัตน์ได้ในระดับหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรม การเสริมความเข้มแข็งแก่โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทางการเมืองการปกครอง การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูง ความสามารถในการรองรับประชากรที่ขยายตัวในอัตราสูงได้

เหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยให้เมืองที่เกิดขึ้นในโลก ส่วนใหญ่เกิดในประเทศกำลังพัฒนา เมื่อเมืองเป็นศูนย์ขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจึงย่อมมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลกที่สหรัฐและตะวันตกสร้างมาเอง

 

สถานการณ์เมืองโลกปัจุบันใน

ก. ด้านโลกาภิวัตน์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สรุปได้ 6 ประการใหญ่ ดังนี้คือ

(1) เมืองในโลกเติบโตทั้งด้านขนาดและจำนวน เมืองนี้คิดตามเขตปกครองก็ได้ หรือคิดตามเขตที่เป็นกลุ่มเมืองก็ได้ ซึ่งการคิดแบบหลังจะมีประชากรมากกว่ามาก บางทีเป็นเท่าตัว เพื่อให้เห็นความเป็นเมืองนิยมใช้การคิดแบบหลัง ในปี 2016 ประมาณว่าร้อยละ 54.5 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง คาดว่าในปี 2030 ประชากรเมืองจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ของโลก ประชากรในชนบทหยุดเติบโต การเติบโตของประชากรโลกหมายถึงการเติบโตของประชากรเมือง การคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 1.5 พันล้านคนในปี 2030 ก็เป็นการเพิ่มของประชากรเมือง เมืองจะเตรียมรับมือกับการเติบโตนี้อย่างไร

(2) การเป็นเมืองในโลกเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ที่อเมริกาเหนือประชากรเมืองมีถึงร้อยละ 82 (ตัวเลขปี 2014) ที่ละตินอเมริกาและแคริบเบียนร้อยละ 80 ยุโรปร้อยละ 73 ขณะที่เอเชียและแอฟริกามีเพียงร้อยละ 48 และ 40 ตามลำดับ แต่จำนวนประชากรเมืองในสองทวีปนี้ยังคงสูงกว่าที่ใด คาดหมายว่าการขยายตัวของเมืองโลกจะอยู่ที่เอเชียและแอฟริกาเป็นสำคัญ เมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกอยู่ที่เอเชียและแอฟริกา

ขณะที่มีเมือง 55 แห่งที่มีประชากรลดลงนับแต่ปี 2000 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในยุโรป

สาเหตุสำคัญจากการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังเกิดจากภัยธรรมชาติ และปัญหาทางเศรษฐกิจ มี 28 ประเทศและเขตแคว้นที่ประชากรร้อยละ 40 ของทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่เมืองเดียวที่มีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคน ทั้งหมดอยู่ในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา เช่น เปอร์โตริโก กระจุกอยู่ที่ซานฮวน มองโกเลีย ที่เมืองอูลานบาตอร์ สาธารณรัฐคองโกที่บราซาวิล อาร์เมเนียที่เมืองเยเรวาน แองโกลาที่เมืองลูอันดา อียิปต์ที่เมืองไคโร เป็นต้น

(3) อภินครและเขตนครหลวงจะได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มากกว่าเมืองในระดับรองลงมา อภินครเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ ในปี 2016 เมืองที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน มีจำนวนถึง 512 เมือง มีประชากร 1.7 พันล้านคนหรือร้อยละ 23 ของประชากรโลก คาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 662 เมือง สำหรับอภินคร (มีประชากรกว่า 10 ล้านคน) มีอยู่ 31 เมือง คาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 41 เมือง ประชากรเมืองในอภินครมีไม่มากเพียงราว 500 ล้านคน หรือราวร้อยละ 6.8 ของประชากรโลกในปี 2016 แต่จะเพิ่มเป็น 730 ล้านคน หรือร้อยละ 8.7 ในปี 2030

(4) เมืองขนาดเล็กและขนาดกลางมีความสำคัญมาก มีประชากรราวร้อยละ 59 ของประชากรเมืองโลก แต่ถูกมองข้าม รัฐบาลมักให้ความสำคัญเมืองใหญ่มากกว่า เมืองขนาดเล็ก (ประชากรน้อยกว่า 5 แสนคน) มีประชากรเมืองสูงถึงราวร้อยละ 50 ของประชากรเมืองโลก แต่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยคาดว่าในปี 2030 จะลดลงเหลือร้อยละ 45 ของประชากรโลก ขณะที่เมืองขนาดกลาง (ประชากรห้าแสนถึงหนึ่งล้านคน) เป็นเมืองที่โตเร็วที่สุด มีประชาการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปี และมีบางเมืองที่ประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นหลายเท่า การละเลยต่อเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางของรัฐบาล สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นได้เมื่อประชากรในเมืองเหล่านี้เกิดความไม่พอใจ คัดค้านนโยบายแบบโลกาภิวัตน์ของรัฐบาล เน้นความเป็นท้องถิ่นและชาตินิยม ดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐ และอังกฤษ เป็นต้น

(5) เมืองเป็นศูนย์กลางการผลิต นวัตกรรมและการค้า สร้างโอกาสการมีงานทำปรับปรุงคุณภาพชีวิต ทั้งแบบเป็นทางการและไม่ใช่ โดยเฉพาะการสร้างงานในภาคธุรกิจเอกชน เมืองช่วยให้หลายล้านคนพ้นจากความยากจน จากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานและด้านบริการ ทั้งหมดอาศัยเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร แต่การเป็นศูนย์กลางเมืองที่มีการแข่งขันสูง และดึงดูดผู้คนเข้ามา ก็เป็นภาระมาก ทั้งต่อผู้บริหารและชาวเมืองเอง จนแบกรับได้ยาก

(6) เมืองส่วนใหญ่มีความไม่เสถียร ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม มีทั้งปัญหาเก่าที่ต่อเนื่องมาในรอบ 20 ปี ได้แก่ การเติบโตของเมือง การเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวสลัมและการตั้งถิ่นฐานแบบไม่เป็นทางการที่เพิ่มขึ้น และการสนองบริการแก่ชาวเมือง กับมีปัญหาใหม่ของเมืองได้แก่ การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 75 ของเมืองมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา การเอื้อประโยชน์แก่ผู้คนไม่ครบถ้วน โอกาสสำหรับผู้คนที่มีความหลากหลายทางความสามารถและพื้นฐานทางวัฒนธรรมได้ลดลงในหลายภูมิภาค ไม่สามารถสนองพื้นที่แก่ชาวเมืองทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ-สังคมและวัฒนธรรม

เกิดพื้นที่ย่านคนจนที่มีทักษะต่ำ ตกอยู่ในกับดักความยากจน หางานลำบาก ความแตกต่างทางเพศภาวะสูง ปัจจัยดำรงชีพเสื่อมโทรม เกิดการกีดกันทางสังคม การทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องอยู่ชายขอบ และมีอาชญากรรมสูง และการขับไล่คนออกเนื่องจากทนภาวะค่าครองชีพที่สูงไม่ได้ การขาดเสถียรภาพ และการอพยพข้ามชาติ การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นเร็วกว่าการจ้างงานแบบทางการ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองเพิ่มขึ้น พบว่าประชากรในสลัมของประเทศกำลังพัฒนาแม้จะลดลงจากร้อยละ 39.4 ในปี 2000 เหลือร้อยละ 29.7 ในปี 2014 แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนแล้ว ในปี 2014 มีประชากรสลัมในประเทศกำลังพัฒนาสูงถึง 881 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 791 ล้านคนในปี 2000 นอกจากนี้ ประชากรสลัมในประเทศพัฒนาแล้วก็สูงขึ้น

ข. ในด้านสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ

(1) คาดว่าเมืองต่างๆ ต้องการพลังงานและน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และ 50 ตามลำดับในปี 2030 ซึ่งเป็นภาระหนักมาก

(2) การจัดการของเสีย เป็นค่าใช้จ่ายของเทศบาลที่รายได้ต่ำถึงปานกลาง ร้อยละ 30-50

(3) โลกร้อนทำให้เกิดคลื่นความร้อนในเมือง ฝนตกหนัก และภัยแล้งขึ้นได้

มีภัยธรรมชาติใหญ่ 6 ประการ ได้แก่

พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม และภูเขาไฟระเบิด ในปี 2014 ร้อยละ 82 ของเมืองทั่วโลกซึ่งมีประชากรถึง 1.9 พันล้านคน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตเนื่องจากภัยธรรมชาติ

และร้อยละ 89 ของเมืองทั่วโลก ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 2.1 พันล้านคน ตั้งอยู่ในพื้นที่อันตราย สูงต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยภัยธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งในหกประการข้างต้น

(ดูรายงานของสำนักงาน โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ชื่อ World Cities Report 2016 – Urbanization and Development : Emerging Futures ใน wcr.unhabitat.org 2016 และข้อมูลเมืองโลกขององค์การสหประชาชาติ ชื่อ The World”s Cities in 2016 ใน un.org 2016)


การจัดกระบวนแถวของมหานครโลก

มีสำนักคิดและสถาบันการเงินสหรัฐได้ร่วมมือกันศึกษามหานครของโลกจำนวน 123 เมืองที่มีประชากรเพียงราวร้อยละ 13 ของประชากรโลก แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึงราวหนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลก การศึกษานี้เห็นว่า พลังขับเคลื่อนในโลกปัจจุบันมี 3 ประการได้แก่

(ก) การเป็นเมืองซึ่งมักไปควบคู่กับการเป็นอุตสาหกรรม เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรม เมืองก็ดึงดูดผู้คนจากชนบท สิ่งนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุโรปและสหรัฐในศตวรรษที่ 19 และในต้นศตวรรษที่ 20 และกำลังเกิดซ้ำอีกในเอเชียและละตินอเมริกา แต่การเป็นเมืองในแอฟริกา ไม่ได้สร้างอุตสาหกรรมได้เข้มแข็งเท่ากับในเอเชียและละตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม การเป็นเมืองก่อความเสี่ยงจำนวนมาก หากจัดการไม่เหมาะสม

(ข) โลกาภิวัตน์ หรือการบูรณาการโลกเข้าด้วยกัน ปริมาณการไหลเวียนของสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 1990 เป็น 30 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2014 หรือจากร้อยละ 24 เป็นร้อยละ 39 ของจีดีพีโลก แต่ในนี้ก็มีผลเสีย เช่น การที่จีนเข้าสู่ระบบการค้าโลกทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานในสหรัฐจำนวนมาก และมีการตั้งประเด็นว่า กระบวนโลกาภิวัตน์จะมีส่วนในการสร้างความไม่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของความเหลื่อมล้ำภายในชาติต่างๆ

(ค) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีการประเมินว่าเทคโนโลยีใหม่ 12 อย่างจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้สูงถึงปีละราว 33 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2025 แต่การจะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างที่เคยเป็น จำต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในสูงกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก

สรุปได้ว่า เศรษฐกิจโลกปัจจุบันไม่ได้ขับเคลื่อนโดยศูนย์การเงินใหญ่ไม่กี่แห่ง อย่างเช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว หากแต่เป็นเครือข่ายของเมืองอันกว้างขวางและซับซ้อน ที่เป็นศูนย์การไหลเวียนของสินค้า บริการ ผู้คน ทุน และความคิดความสามารถพิเศษ ที่ได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความเติบโตและสนองโอกาสให้แก่โลก

การศึกษานี้จำแนกมหานคร 123 แห่งของโลกเป็น 7 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งชี้ให้เห็นบทบาทที่มากขึ้นของเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ได้แก่

(1) ยักษ์ของโลกหกเมือง ได้แก่ นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส โตเกียว โอซากา-โกเบ ปารีส และลอนดอน อยู่ในประเทศตลาดเก่า ทุกเมืองสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจคิดเป็นตัวเงินกว่า 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี อันดับหนึ่งได้แก่ โตเกียว (1.6 ล้านล้านดอลลาร์) รองมาได้แก่ นิวยอร์ก (1.5 ล้านล้านดอลลาร์)

(2) เมืองแก่นแกนแห่งเอเชีย มี 5 เมืองได้แก่ ปักกิ่ง ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ โซล-อินชอน สิงคโปร์และมอสโก เป็นศูนย์แกนของภูมิภาค

(3) ประตูใหม่ มี 28 เมือง เป็นศูนย์ธุรกิจการขนส่ง เป็นประตูสำคัญของชาติและภูมิภาคของประเทศตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกา เอเชีย ยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกา

(4) เมืองโรงงานของจีนมี 22 เมืองเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของจีน

(5) เมืองหลวงความรู้ มี 19 เมือง เป็นเมืองขนาดกลางเป็นศูนย์การสร้างความรู้ อยู่ในสหรัฐและยุโรป

(6) เมืองขนาดกลางในอเมริกา มีอยู่ 16 เมือง เป็นเมืองที่กำลังต่อสู้เพื่อฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

(7) เมืองขนาดกลางระหว่างประเทศ มี 26 เมือง อยู่ในออสเตรเลีย แคนาดา และยุโรปที่เชื่อมต่อกันด้วยการลงทุนและการเคลื่อนย้ายผู้คน ที่การเติบโตชะลอตัวหลังจากวิกฤติการเงิน (ดูเอกสารของ Global Cities Initiative โครงการร่วมระหว่างสถาบันบรูกกิ้ง และ เจพี มอร์แกน เชส ชื่อ Redefining Global Cities – The Seven Types of Global Metro Economies ใน brooking.edu 2016)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึง สมรภูมิใหญ่ในยูเรเซีย