หวั่นล็อกดาวน์ยาวคนตกงานทะลุ 10 ล้าน! เอกชนจี้ผ่อนผันธุรกิจเดินต่อ

การประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน ของ “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน” ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคม/สภาธุรกิจรวม 8 องค์กร มีข้อเสนอจากการหารือเตรียมชงให้นายกฯ พิจารณาหลากหลายประเด็น

มีข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ ขอให้รัฐเตรียมแผนการกลับมาประกอบธุรกิจและโลจิสติกส์ หรือ “recovery plan” ไว้ล่วงหน้า

เนื่องจากภาคเอกชนต้องการกลับมาประกอบธุรกิจโดยเร็วที่สุด หลังจากพ้นมาตรการล็อกดาวน์ (30 เมษายน 2563) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องมีแผนป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ด้วย

 

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้บางธุรกิจ/กิจการกลับมาเปิดกิจการได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โมเดิร์นเทรด, ร้านเสริมสวย เป็นต้น แต่ต้องดูวิธีการ และต้องปรึกษาแพทย์และศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย

ขณะเดียวกันมีการประเมินเบื้องต้นว่า ตัวเลขคนตกงานทั้งสิ้นจะอยู่ในราว 7 ล้านคน แต่หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน โดยไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน

ดังนั้น ภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาประชาชนและดูแลภาคธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง

ซึ่งการดูแลผู้ประกอบการนั้น ขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องภาษี กรณีที่นำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้จาก 5 ปี เป็น 7 ปี รวมถึงการบริจาคช่วยโควิด ไม่ต้องมีเพดานกำหนดว่า นิติบุคคลห้ามเกิน 2% ของกำไร และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10% ของเงินได้

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการเลิกจ้างพนักงาน ลูกจ้าง 10 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือ 7,500 บาทต่อเดือน

และส่วนที่ผู้ประกอบการจ่าย 25% ขอให้นำไปหักภาษีได้ 3 เท่า ขณะที่ลูกจ้างก็ต้องยอมลดค่าจ้างลง 25% ด้วย

“ถ้ารัฐช่วยจ่ายเงินเดือน ลูกจ้างจะไม่ถูกเลิกจ้างแน่นอน” นายสุพันธุ์กล่าว

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่าอัตราการค้าโลกปีนี้จะติดลบ 30% อาจจะรุนแรงเทียบกับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 1932 โดยผลกระทบต่อการส่งออกนั้น เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่า

 

นอกจากนี้ ธุรกิจเอกชนยังมีข้อเสนออีกหลายเรื่อง หลักๆ มี 12 ข้อ ดังนี้

1. ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ

2. ให้ภาคเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า

3. ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม

4. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs ไม่เกิน 10%, ผู้ประกอบการอื่นไม่เกิน 20%

5. รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน และซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ

6. ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี

7. อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาท 4-8 ชั่วโมงต่อวัน

8. ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างเหลือ 1%

9. ช่วยเหลือค่าจ้างภาคเอกชน รัฐจ่าย 50% ของรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท

10. ให้บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านจ้างแรงงานช่วงโควิด-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่า

11. การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวธุรกิจขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน

และ 12. การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังกังวลการเข้าถึงสินเชื่อผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังไม่กล้าปล่อยกู้ ซึ่งนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ซอฟต์โลนสำหรับเอสเอ็มอี ส่วนแรกจากธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากมีผู้ต้องการขอสินเชื่อเป็นจำนวนมาก ทำให้การทำงานล่าช้าไปบ้าง

ส่วนซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาทจาก ธปท. คาดว่า พ.ร.ก.จะออกมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งคงต้องรอดูรายละเอียด เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะช่วยทำให้ขั้นตอนเร็วขึ้นได้อย่างไร

ระหว่างนี้สมาคมแบงก์จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการเข้าถึงวงเงินซอฟต์โลน รวมถึงต้องหารือถึงกฎเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อสำหรับคนที่มีหลักประกัน หรือคนที่มีความสามารถชำระคืนในอนาคตที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อลดปัญหาและทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้พิจารณาเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลง จากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เนื่องจากการปรับระบบอาจจะไม่ทัน

นอกจากนี้ หากรัฐจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นติดตามตัว กฎหมายตัวนี้จะทำให้ทำงานยาก เนื่องจากในมาตรการเตรียมให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดรอบ 2 ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอให้ยึดแนวทางในต่างประเทศ ที่มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นติดตามตัว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลย้อนหลัง 14 วัน หรือทำเหมือนกับประเทศจีนที่ให้ประชาชนแต่ละคนต้องมีรหัสส่วนตัว (Code) บนมือถือไว้แสดง

“ช่วงนี้ต้องเริ่มเตรียมพร้อมออกจากล็อกดาวน์ จากนั้นค่อยมาพิจารณาว่าธุรกิจไหนควรจะเปิดก่อน เปิดหลัง เช่น ห้างสรรพสินค้า อาจต้องเปิดก่อน แต่จะต้องมีมาตรการรองรับออกมาให้พร้อม เช่น มาตรการ Social Distancing อาทิ การกำหนดประชาชนเข้าห้างได้ครั้งละกี่คน หรือให้แต่ละร้านค้าต้องมีมาตรการคล้ายๆ กับเมืองจีน ที่ลูกค้าต้องโชว์โค้ด (Code) หากเป็นสีเขียวสามารถเข้าใช้บริการได้”

นายไพบูลย์กล่าว

 

สําหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจบันเทิง ก็อาจจะเปิดช้ากว่า เป็นต้น ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว รัฐอาจจะต้องดูแลธุรกิจนี้ในระยะยาวมากกว่าธุรกิจอื่น เพราะช่วงระยะแรกหลังไวรัสหยุดการระบาด คนก็ยังไม่กล้าออกเดินทางท่องเที่ยว

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ หรือ สศช. ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงาน 5 กลุ่มหลัก เพื่อพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจเอกชนเสนอมา

ได้แก่ 1. กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้นายปรีดีเป็นประธานกลุ่ม

2. กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่หลัง “ล็อกดาวน์” มีนายกลินท์เป็นประธานกลุ่ม

3. กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี นายสุพันธุ์เป็นประธานกลุ่ม

4. กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานกลุ่ม

และ 5. กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม

ทั้งนี้ คณะทำงานทั้ง 5 ชุด จะไปพิจารณาข้อเสนอทั้งหมดและประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 20 เมษายนนี้ ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนจากภาคเอกชนที่อยากเห็นรัฐบาลตัดสินใจผ่อนเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ได้กลับมารีสตาร์ตอีกครั้งให้เร็วที่สุด

ก่อนที่ความเสียหายและผลกระทบจะขยายวงออกไปมากกว่านี้