ค้านร่าง กม.คุมสื่อ และคำถาม “สื่อ-องค์กรสื่อ” เป็นตัวแทนใครกันแน่

การรัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นพร้อมกับคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

แน่นอนว่า ต้องรวมถึงการปฏิรูปสื่อด้วย และกลายมาเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ กำหนดให้ตั้งสภาวิชาชีพ มีปลัดกระทรวงมานั่งเป็นกรรมการ มีงบประมาณจากรัฐสนับสนุน และมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ

ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากองค์กรสื่อ จนต้องนำกลับไปปรับปรุง

การเสียชีวิตของ ยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก่อนถึงแก่กรรม ถูกมาตรการ “จัดระเบียบ” สื่อทำเนียบ ทำให้เธอเข้าไปทำงานในฐานะนักข่าวอิสระในทำเนียบไม่ได้

ต้องไปปักหลักที่ห้องสมุดสมาคมนักข่าวฯ จนกระทั่งล้มป่วยเสียชีวิต

ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า มาตรการจัดระเบียบสื่อทำเนียบ ที่ใช้ระบบการออกบัตรอนุญาตมาสกัดนักข่าวที่ไม่พึงปรารถนา

จะไม่ต่างอะไรกับมาตรการอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ

ภาพจาก http://www.mediainsideout.net/local/2017/03/277

การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ ยังทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สื่อในประเด็นต่างๆ ตามมา

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพจ “มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์” จัดเสวนา “พ.ร.บ. (ไม่) คุ้มครองสื่อ / ความอิสระภายใต้งบรัฐ?” กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่องค์กรวิชาชีพสื่อคัดค้านมาตลอด

เว็บไซต์ข่าวประชาไท (http://prachatai.org/journal/2017/02/70127) ได้รายงานข่าวอย่างละเอียด มีสาระบางตอนขอนำมาถ่ายทอด

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา สมาคมสื่อไม่ได้สู้กับรัฐเสียเท่าไหร่ นอกจากไม่สู้รัฐ แล้วไม่สู้กับทุนด้วย

ทำให้เกิดคำถามว่า องค์กรวิชาชีพสื่อเป็นตัวแทนของคนทำสื่อ หรือเจ้าของสื่อ (ทุน) ยกตัวอย่างโครงการฝึกอาชีพเลี้ยงไส้เดือนขององค์กรวิชาชีพสื่อแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือนักข่าวที่มีรายได้น้อย ถามว่า ถ้ารู้ว่าเขาทำงานไม่พอกิน ทำไมไม่มีการต่อสู้กับเจ้าของสื่อเพื่อเรียกร้องสวัสดิการเลยหรือ

“รัฐก็ไม่สู้ ทุนก็ไม่สู้ ต่อให้มีสมาคมวิชาชีพแบบที่สมาคมสื่อเสนอ ปัญหานี้จะยังถูกแก้หรือไม่” อาทิตย์กล่าว

และว่า อย่างไรก็ตาม เราต้องมีจุดยืนสนับสนุนองค์กรวิชาชีพ 30 องค์กร เพราะสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกคุกคามแน่ๆ หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน แต่ย้ำเช่นกันว่าคำถามใหญ่ๆ ที่ประชาชนมีกับองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อก็ยังอยู่

สุชาดา จักร์พิสุทธิ์

เว็บประชาไทรายงานด้วยว่า สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ TCIJ กล่าวในการเสวนาว่า เรื่องที่เป็นห่วง 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เราจะมีกฎหมายที่คลอดจากรัฐบาลรัฐประหาร และคาดหวังอะไรดีๆ ได้ยากมาก สอง สื่อไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นศรัทธาได้เลย ว่าเชื่อมั่นแล้วจะเป็นตัวแทนเสรีภาพได้จริง ทำให้ภาพต่อต้านร่างกฎหมายนี้ มีเพียงสื่อหลักไม่กี่องค์กร

ส่วนตัวมองว่า อย่างไรคงต้องมีกลไกใหม่ออกมากำกับ หรือถ่วงดุลสื่อหลักให้มากกว่าที่ผ่านมา เพราะสื่อหลักเป็น actor ของความขัดแย้งอย่างเป็นที่ประจักษ์ โดยยกตัวอย่างกรณีของนักข่าวที่ออกไปชุมนุมบนท้องถนน และเชียร์ให้ใช้เฮทสปีช แต่เธอก็ยังเห็นว่าไม่ใช่การกำกับโดย พ.ร.บ. ฉบับนี้

“เรื่องการกำกับตัวเองของสื่อเป็นไปได้ แต่ยังไม่น่าวางใจหรือทำให้สิ้นสงสัยว่าจะทำได้” สุชาดากล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีนักข่าวแต่งชุดนักเรียนไปพบนายกฯ หรือผู้นำรัฐประหารในช่วงวันปีใหม่ว่า แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังไม่เห็นว่านี่คือปัญหาจริยธรรม แล้วจะวางใจได้อย่างไร

ยังไม่นับเรื่องที่ TCIJ เปิดโปงเรื่ององค์กรธุรกิจจ่ายเงินสื่อ แต่องค์กรวิชาชีพใช้เวลาสอบถึงสองปี มีการตั้งคณะกรรมการคนคุ้นเคยมาสอบ เป็นเช่นนี้มาทุกยุคทุกสมัย เพราะฉะนั้น จึงไม่สิ้นสงสัยว่าองค์กรสื่อจะกำกับดูแลตัวเองได้

สอง สื่อจะลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง เมื่อมีการออกกฎหมายระหว่างคู่ขัดแย้ง หรือสื่อที่เป็นพรรคพวกตัวเอง คำกล่าวว่า เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าวางใจไม่ได้ ถามว่า เสรีภาพของประชาชนคนไหน ทำไมบางเรื่อง เช่น กรณีไผ่ ดาวดิน ถึงไม่เป็นข่าว

สุชาดากล่าวว่า น่าสังเกตว่า รัฐบาลทหารและสื่อต่างก็แหย สื่อออกมาไขว้มือค้านร่างกฎหมาย รัฐบาลก็ถอยบอกว่าจะทบทวน สื่อก็บอกว่าจะพัฒนาทักษะคนทำงานให้รู้เท่าทันทุน แต่จะเห็นว่า องค์กรวิชาชีพสื่อไปรับเงินขององค์กรธุรกิจ มาจัดอบรมภาษาเวียดนาม ให้ไปเที่ยวเวียดนามฟรี ถามว่าจะทำให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นหรือ

รวมถึงมีการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) ซึ่งน่าสงสัยตั้งแต่เจตนารมณ์ในการรับเงิน เอาตัวแทนธุรกิจมานั่งเรียนร่วมกับสื่อ ถามว่าตกลงองค์กรวิชาชีพที่มีอยู่เป็นตัวแทนของนักข่าวตัวเล็กจริงหรือไม่

สุชาดาบอกว่า องค์กรสื่อต้องเป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้จริง หากมีกรณีต้องสอบสวน ควรจัดเวทีพูดคุย ให้เกิดการบาลานซ์ ไม่ใช่แค่ข้อวินิจฉัยแบบปิดประตูคุย

ควรเปิดให้มีเลือดใหม่เข้ามา ผ่านกระบวนการสรรหาอย่างโปร่งใส ไม่ใช่แต่คนหน้าเดิม ไม่เช่นนั้น ต่อให้มีองค์กรวิชาชีพใหม่ มีสภาการวิชาชีพสื่อ แต่เอาองค์กรเดิมมารวมกัน มายาคติชุดเดิมยังมี ปัญหาเดิมย่อมมีอยู่

หากคิดเรื่องกำกับตัวเองจริงๆ จะต้องจัดเวทีระดมสมองกันครั้งใหญ่ คำถามแรกคือจะเริ่มหรือยัง ผอ. TCIJ ถาม

สุณัย ผาสุข

อีกความเห็น สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงร่างเครื่องมือที่จะมากำกับสื่อ แม้ออกมาจากองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็สะท้อนความพยายามในการเล่นงานสื่อที่อยู่ตรงข้ามทางการเมือง

สุณัยระบุว่า ตัวปัญหาเข้มข้นที่สุด คือ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 ถ้าสมาคมสื่อฯ เอาจริงเอาจังกับการรักษาสิทธิเสรีภาพ ต้องแย้งเรื่องนี้ทุกวัน ไม่ใช่แย้งแล้วเงียบหายไปตามสายลม แต่ผลจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าว ยังคงอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้

ตราบจนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ เครื่องมือคุมสื่อที่จะอยู่ยั้งยืนยง คือ พ.ร.บ. นี้ และคำสั่ง คสช. ถามว่า ถ้าองค์กรสื่อค้านตัวเล็กแล้วทำไมจึงไม่ค้านตัวใหญ่

“ความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพสื่อเอง ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นี่เป็นการสู้ยืนยันเพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่แค่รักษาหม้อข้าวตัวเอง”

สุณัยกล่าวอีกว่า อีกส่วนที่ติดใจมากคือ ร่างทั้งหลายทั้งปวง มาจากกลุ่มรัฏฐาธิปัตย์ในปัจจุบัน แต่เวลาผู้นำองค์กรสื่อวิจารณ์ กลับบอกว่า เกรงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะใช้อำนาจ คุณถูกข่มขืนอยู่ในปัจจุบันแล้ว ทำไมไม่ร้อง มันผิดที่ผิดทางหรือเปล่า

และนั่นคือคำถามถึงองค์กรสื่อที่ต้องทบทวนตัวเองไปพร้อมกับการเรียกหาเสรีภาพที่ตัวเองมีส่วนในการทำลายลงไป