เศรษฐกิจ / ‘โควิด-19’ มา พา 5 G แจ้งเกิด การแพทย์ไทยพลิกโฉม…อาชีพแรก อุตสาหกรรมไทย เข้าโหมดปฏิวัติอีกครั้ง?

เศรษฐกิจ

 

‘โควิด-19’ มา พา 5 G แจ้งเกิด

การแพทย์ไทยพลิกโฉม…อาชีพแรก

อุตสาหกรรมไทย

เข้าโหมดปฏิวัติอีกครั้ง?

 

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายคนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐบาล

แต่ยังมีหนึ่งอาชีพที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้ นั่นคือแพทย์และพยาบาล การทำงานแทนมนุษย์ โดยหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จึงเกิดขึ้นตามคำทำนาย

แต่ลำพังหุ่นยนต์อย่างเดียวคงทำงานไม่ได้ จึงต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายโทรคมนาคมที่เร็วสุด เสถียรสุด อย่าง ‘5 G’ ซึ่งก็ต้องอาศัยคลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่หนึ่งที่นิยมใช้ในการรองรับ

และจากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งที่ผ่านมา ผู้ที่ได้ครอบครองคลื่นความถี่นี้ได้แก่ ‘เอไอเอส’ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ‘ทรู’ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งที่ระบุไว้คือ ผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ตซิตี้) ภายใน 4 ปี

 

‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ระบุว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ติดตั้งสถานีฐานในพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาทางไกลด้วยระบบ 4 G และ 5 G ใน 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคตา และผิวหนัง ให้ประชาชนสามารถรับการวินิจฉัยโรคและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ ทำให้หลายคนที่มีอาการป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่กล้าเดินทางไปโรงพยาบาล ฉะนั้น การเริ่มต้นรักษาทางไกลใน 4 โรคดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้งช่วยป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาการรักษาทางไกลขยายวงกว้างไปยังโรคอื่นๆ เพิ่มเติม” นายฐากรระบุ

ทั้งนี้ ขอให้โอเปอเรเตอร์เร่งเปิดให้บริการ 5 G เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพราะด้วยศักยภาพของ 5 G ที่ให้ความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะนี้มีการขยายตัวดีขึ้นในบางเซ็กเตอร์ เพื่อชดเชยบางเซ็กเตอร์ที่ชะลอตัวลง

 

ฟาก ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส เผยว่า แผนการขยายโครงข่าย 5 G ยังดำเนินไปตามปกติ แต่ขณะเดียวกันก็มีการอนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนเพิ่มเติมเพื่อทำภารกิจที่ชื่อว่า เอไอเอส 5 G สู้ภัยโควิด-19 เพื่อคนไทย โดยได้ติดตั้งโครงข่าย 5 G ในโรงพยาบาล 20 แห่ง ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมมอบหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5 G ในการรักษาทางไกลจำนวน 21 ตัว ให้กับโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2563

โดยโรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลแพทย์รังสิต, โรงพยาบาลพญาไท 1, โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลพญาไท 3, โรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์, โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน, โรงพยาบาลพระราม 9, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน (สะพานควาย), โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลโชคชัย 4, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลรังสิต, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลเกษตร, กรมแพทย์ทหารเรือ และสถาบันบำราศนราดูร

และเตรียมจะขยายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 130 แห่งและโรงพยาบาลในต่างจังหวัดอีก 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 158 แห่งภายในเดือนเมษายนนี้

 

ด้าน ‘พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์’ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5 G ทรู ระบุว่า กลุ่มทรูได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทสตาร์ตอัพ HG Robotics และ Obodroid ภายใต้โครงการ CU-RoboCovid พัฒนาหุ่นยนต์ขนส่งอัจฉริยะ ควบคุมผ่านเครือข่ายทรู 5 G ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการควบคุม และมีประสิทธิภาพสูงในการเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ขนส่ง, ระบบสื่อสารทางไกล และรถเข็นควบคุมจากระยะไกล

ซึ่งทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยได้จากระยะไกล โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปใกล้กับผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็สามารถดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง สร้างความอุ่นใจให้กับคนไข้ที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอดเวลา และสามารถเรียกหาได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

“มั่นใจว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระและยกระดับความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้หุ่นยนต์และระบบสื่อสารทางไกลดังกล่าวได้นำไปใช้งานจริงแล้ว ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทรและโรงพยาบาลสนาม วชิระภูเก็ต ที่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง”

นายพิรุณกล่าว

 

ขณะที่ ‘พชรพจน์ นันทรามาศ’ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เผยว่า กระแสเทคโนโลยี 5 G มาแรงและหลายประเทศได้เริ่มใช้งานในเชิงพาณิชย์ไปแล้ว สำหรับประเทศไทย คาดว่าการใช้งาน 5 G จะคึกคักใน 1-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี และจังหวัดต้นแบบของสมาร์ตซิตี้ เนื่องจาก 5 G จะทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ทรงพลัง เร็วกว่า 4 G ถึง 20 เท่า และรองรับอุปกรณ์ได้มากกว่าถึง 10 เท่า

ที่สำคัญ วิกฤตโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ เปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีเร็วขึ้น ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อาทิ การปฏิบัติงานทางไกล การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นแนวหน้าในการสู้กับโควิด-19 และไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“5 G จะก่อให้เกิดอุปกรณ์ใหม่ๆ จำนวนมหาศาลในชีวิตประจำวันที่เชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ต และจะปฏิวัติการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสู่รูปแบบอัจฉริยะ ซึ่งในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพสู่มิติใหม่ๆ แก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความเพียงพอและการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีแพทย์เพียง 6 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ลดผลกระทบต่อคุณภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 8% จนอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท หากมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5 G จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลงได้ปีละ 7-11.5%”

นายพชรพจน์กล่าว

 

ด้าน ‘ณัฐพร ศรีทอง’ ผู้ร่วมทำวิจัย กล่าวเสริมว่า 5 G จะทำให้เกิดสมาร์ต เฮลธ์แคร์ อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถสื่อสารกันแบบเรียลไทม์ ข้อมูลต่างๆ จะถูกรวมศูนย์อย่างเป็นระบบ และทำให้ศูนย์กลางการดูแลสุขภาพถูกถ่ายโอนจากบุคลากรทางการแพทย์สู่ผู้ป่วยมากขึ้น

และพบว่าตลาดอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ จะเติบโตปีละ 28%

ขณะที่ตลาดการปรึกษาด้านสุขภาพทางไกลจะเติบโตปีละ 18.9%

และโดยรวมตลาดอินเตอร์เน็ต ออฟ เมดิคัล ธิงส์ จะเติบโตปีละ 27.6% ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนไทยในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัว

“โควิด-19” นอกจากจะเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังสร้างพฤติกรรมใหม่แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงคนไทยจากที่ไม่พร้อมจะเรียนรู้เทคโนโลยี การดิสรัปชั่น ก็ต้องพร้อมโดยอัตโนมัติ

   และคงได้เห็นการปฏิวัติของอุตสาหกรรมอีกครั้ง หากหลังจากนี้ 5 G เกิดขึ้นในไทยได้เร็วได้จริง คงขึ้นอยู่กับรัฐบาลหลังจบศึกโควิด-19 พร้อมลุย!!…ต้องตามดู