เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ดนตรีระดับโลก ที่เมืองไทย

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว หรือพระมหาธีรราชเจ้าทรงประพันธ์ไว้ให้เราได้ท่องจำกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน

เดี๋ยวนี้คนไทยก็ได้เสพสื่อต่างๆ ที่นำเสนอดนตรีกันมากมาย ต่างคนต่างก็มีดนตรีในหัวใจในแบบของตัวเอง คงไม่มีวันใดเลยที่เราไม่ได้เสพดนตรี เพราะดนตรีทำให้เรามีความสุขและผ่อนคลาย

ปรากฏการณ์ดนตรีที่สมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยใหม่ของไทย มีการก่อเกิดของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหิดลที่ศาลายา เป็นหนึ่งในนั้น จากฝีมือของ อ.สุกรี เจริญสุข ผู้ซึ่งผู้เขียนอยากเรียกว่าท่านเซอร์ เพราะผู้เขียนจินตนาการว่าหากท่านอยู่ที่อังกฤษท่านจะได้รับยศท่านเซอร์จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 อย่างแน่นอนจากสิ่งที่ท่านทำไว้ให้กับวงการดนตรีสมัยใหม่ ไม่ผิดกับท่านเซอร์ เอลตัน จอห์น ที่เป็นนักร้องผู้สร้างสรรค์ของอังกฤษ

และเหนือสิ่งอื่นใดการที่ อ.สุกรี ได้ให้ทางเลือกแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่รักและต้องการฝึกฝนด้านดนตรีจนเป็นมืออาชีพ ให้ได้ฝึกฝนกับครูและศิลปินระดับแถวหน้า สามารถขึ้นไปยืนผงาดอยู่บนเวทีโลกได้

วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม เวลาบ่ายอันน่ารื่นรมย์ เราเดินทางไปที่หอดนตรีเล็กของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายา เพื่อไปดูมิวสิคัลเรื่อง Fiddler on the Roof

จอดรถแล้วเดินไปตามทางเดินปูด้วยไม้กระดาน ไปตามแนวคลองเล็กๆ ผ่านแมกไม้ที่จัดวางอย่างเป็นธรรมชาติดุจป่าน้อยๆ ร่มเย็น สบาย มีแสงแดดลอดผ่านทิวไม้ มีระลอกน้ำ มีนักศึกษานั่งพักผ่อน

นึกขณะที่เดินไปว่าช่างเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดสมาธิ เหมือนนักแสดงที่ต้องการความสงบก่อนขึ้นเวที

อันที่จริงสถานที่ตั้งของหอแสดงดนตรีที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายา ไกลจากกรุงเทพฯ แต่ไม่ไกลจนเกินไป เป็นเครื่องวัดใจคนได้อย่างดี เราต้องรักดนตรีกันพอสมควรทีเดียว และเราเลือกกิจกรรมวันหยุดเป็นการไปฟังดนตรีแทนที่จะไปเดินห้างหรือหาอาหารกิน

หน้าหอประชุมเล็ก มีคนรักดนตรีที่เหนียวแน่นกลุ่มขาประจำยืนคุยกันทักทายผู้มาชมการแสดงด้วยกันด้วยความสดชื่น มีร้านเครื่องดื่ม ที่มองผ่านกระจกออกไปเห็นต้นไม้และอาคารที่ได้พักสายตา ไม่โมเดิร์นจ๋า แต่ดูได้นาน ร้านกาแฟมีอาหารเล็กๆ น้อยๆ ให้รองท้องก่อนเข้าไปชมการแสดง

ได้พบ คุณนนทศักดิ์ ปาณสารทูล มากับ คุณกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน คุณนนท์บอกว่า ลูกผมแสดงเป็นตัวเอกที่เป็นตัวพ่อครับ

อดนึกย้อนไปถึงสมัยไปฟังนักร้องของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีหอแสดงดนตรีที่ได้มาตรฐาน และสง่างามถึงสองโรงที่แคมปัสไม่ได้ ตอนนั้นไปฟังนักร้องร้องโดดๆ บนเวทีโดดๆ ที่ห้องมารวยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจารย์สุกรีออกมาเล่าเรื่องดนตรี ตามลีลาของอาจารย์อย่างออกรสชาติ สไตล์ story telling ของอาจารย์ รวมทั้งน้ำเสียงเนิบๆ มีจังหวะจะโคน ชวนฟัง ชวนติดตามเป็นอย่างมาก

จากวันนั้นถึงวันนี้ ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปสิบปี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เติบใหญ่แข็งแรง สง่างาม น่าภาคภูมิใจ มีสถานที่ มีคณาจารย์ มีนักศึกษา มีกิจกรรมต่อเนื่องดุจโรงละครในนิวยอร์ก คือมีต่อเนื่องตลอดปี ไม่ใช่นานๆ มีที

ยิ่งมีต่อเนื่อง นักศึกษาก็ยิ่งได้ฝึกฝน ยิ่งได้แสดง ก็ยิ่งมีฝีมือ ยิ่งเก่ง และยิ่งมั่นใจ

การแสดงดนตรีมีให้เลือกฟังหลากหลาย ตั้งแต่ดนตรีคลาสสิคฝีมือนักดนตรีระดับโลก ผลงานที่เลือกมาก็มีหลากหลายเช่นกัน

ที่น่าแปลกใจและน่าชื่นชมมากคือการแสดงบทเพลงที่เป็นผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทำให้เราเห็นว่า จิตร ภูมิศักดิ์ คือกวีผู้ยิ่งใหญ่ และมีหัวใจที่ยืนหยัดอยู่ข้างคนชั้นล่างในสังคม อาจารย์สุกรีนำกวีระดับตำนานท่านนี้มาให้นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ให้ได้ภาคภูมิใจในความเป็นอัจฉริยะของคนไทย

เช่นเดียวกับเมื่อนักร้องนักแต่งเพลงระดับโลกขึ้นเวทีครั้งแล้วครั้งเล่า คนทั่วโลกก็เปิดยูทูบดูกันอย่างไม่เบื่อ ผลงานของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ จิตร ภูมิศักดิ์ ชิ้นนี้ก็เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นสมบัติทางดนตรีที่มีค่า

การแสดง Fiddler on the Roof วันนั้นต้องปรบมือให้อย่างยาวนาน

ผู้แสดงร้องเพลงเป็นเลิศทุกคน มีแคแร็กเตอร์ของเสียงต่างๆ กัน ส่วนด้านการแสดง และออกแบบท่าก็ได้มืออาชีพมากำกับให้ เป็น production ที่เรียกว่าถึง ดึงอารมณ์คนดูได้ตลอด

ผู้เขียนชอบคิดฟุ้งซ่าน ก็คิดไปว่าอีกไม่นานอาจจะมีนักศึกษาของอาจารย์สุกรี ไปออดิชั่นที่บรอดเวย์

อาจารย์สุกรีเลือกทางที่ท้าทายมากสำหรับนักศึกษา

คือให้ใช้บทภาษาอังกฤษ

อยากจะบอกว่า กล้าหาญมาก

ผู้เขียนแอบเล่าให้เพื่อนที่ไปฟังดนตรีด้วยกันว่า สมัยที่ไปเรียนการแสดงที่อเมริกา เมื่อถึงเวลาต้องทำงานส่งครู เป็นการแสดงฉากสั้นๆ ได้ขี้โกงโดยเขียนบทให้ตัวเองเล่นเป็นคนตาบอด และหูหนวก จะได้ไม่ต้องพูด เพราะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

ตัวเองนั้นก็พูดภาษาอังกฤษพอใช้ได้ แต่พอต้องเล่นละคร และไม่มีใครมาเทรนให้ ยากกว่าที่คิดมาก ต้องชื่นชมนักศึกษานักแสดงที่ทำได้ดี โดยเฉพาะตัวพ่อที่เป็นตัวยืนเรื่องตลอด ที่ได้พบกันเมื่อแสดงจบ และคุณนนทศักดิ์ผู้เป็นพ่อเป็นอึ้งว่าลูกทำได้ดี ไปซุ่มซ้อมมาอย่างดีโดยคุณพ่อก็ไม่ทราบ

ดนตรีให้ความสุขกับคนดู ขอสดุดี อาจารย์สุกรี เจริญสุข คณาจารย์ นักศึกษาที่สร้างความสุขให้พวกเรา