คนมองหนัง : ‘มหาสมุทรและสุสาน’ เกาะยูโทเปีย, ความไม่รู้ และชายแดนใต้

คนมองหนัง

“มหาสมุทรและสุสาน” เป็นผลงานภาพยนตร์ฟิคชั่นขนาดยาวเรื่องที่สองของ “พิมพกา โตวิระ” หนึ่งในผู้กำกับฯ หญิงไม่กี่คน ของวงการหนังไทยร่วมสมัย

แฟนประจำของพิมพกา ตั้งข้อสังเกตว่าผลงานของเธอ มักจะเล่าเรื่องราวที่มีตัวละครเอกเป็น “ผู้หญิง” ซึ่งออกเดินทางไป “ค้นหา” อะไรบางอย่าง

“มหาสมุทรและสุสาน” ก็คล้ายจะหลีกเลี่ยงลักษณะร่วมดังกล่าวไปไม่พ้น

ในภาพรวม ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ หนังแนว “โร้ด มูฟวี่” ที่ถ่ายทอดการเดินทางด้วยการขับรถยนต์ลงสู่จังหวัดปัตตานี ของหนึ่งสาว สองหนุ่ม จากกรุงเทพฯ

ทั้งหมดประกอบด้วย “ไลลา” ลูกสาวคนโตของครอบครัวมุสลิมจากเมืองหลวง ซึ่งมุ่งมั่นจะไปเยี่ยมเยียน “ป้า” ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี

“ซูกู้ด” น้องชายของไลลา ที่ถูกพ่อมอบหมายภารกิจให้ไปทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางของพี่สาว

ซูกู้ดชักชวน “ต้อย” เพื่อนที่มหาวิทยาลัย ผู้มีลักษณะตื่นตระหนก-ขี้กลัว ให้ร่วมทริปไปด้วยกัน

“มหาสมุทรและสุสาน” ก็เป็นเช่นดังหนังโร้ด มูฟวี่ จำนวนมาก ที่วางโจทย์ใหญ่ของเรื่องให้เป็นการออกเดินทางตามหาบางสิ่งบางอย่างโดยกลุ่มตัวละครหลัก

ทว่า เมื่อเรื่องราวคลี่คลายขยายออกไปเรื่อยๆ เป้าหมายสำคัญที่กลุ่มตัวละครพยายามสืบเสาะค้นหากลับค่อยๆ เลือนรางจางหาย และสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับมา ก็กลายเป็นอะไรอย่างอื่น

ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะเป็น “รูปธรรม” จับต้องได้ แต่บางครั้ง ก็อาจเป็นภาวะ “นามธรรม” บางประการ

ดูเหมือนในหนังยาวลำดับที่สองของพิมพกา สิ่งที่หนึ่งสาวสองหนุ่มจากเมืองหลวงสัมผัสค้นพบ จะเป็น “อย่างหลัง”


ในช่วงครึ่งแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจำแนกแจกแจงบุคลิกลักษณะ ตลอดจนโลกทัศน์อันแตกต่างของสาวหนุ่มสามคน

ขณะที่ไลลาเป็นคนมุ่งมั่นมองตรงไปยังจุดหมายหลัก และแทบไม่มีอาการวอกแวกใดๆ (ยกเว้นแค่เพียงครั้งเดียว ที่เธอเหมือนจะมีอาการ “สติหลุด” เพราะ “ภาพหลอน” บางอย่าง)

ซูกู้ดเป็นคนกลางๆ คือ พร้อมให้ความร่วมมือและเดินตามเส้นทางของพี่สาว แต่ก็คล้ายมีความไม่แน่ใจบางประการระคนอยู่

ผิดกับต้อย ผู้เต็มไปด้วยอารมณ์หวาดกลัว จนบางคราวถึงกับประสาทแดกและบ้าคลั่ง เขาคงมีความคล้ายคลึงกับคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ที่จินตนาการถึงความไม่สงบในชายแดนใต้ไปต่างๆ นานา กระทั่งรู้สึกไม่มั่นคงอย่างรุนแรง ยามครุ่นคิดถึงจินตภาพดังกล่าว

นอกจากนั้น ทัศนะต่อพื้นที่ชายแดนใต้ของหนุ่มสาวกลุ่มนี้ก็ผิดแผกจากกันอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่หนังแสดงภาพไลลาแวะเข้าไปทำละหมาดในมัสยิดแห่งหนึ่ง ด้วยใบหน้าท่าทางเปี่ยมศรัทธา ปราศจากความกริ่งเกรง

ส่วนซูกู้ดก็ตระหนักว่าเคยมีคนถูกฆ่าตาย (อย่างไม่เป็นธรรม) ที่มัสยิดกรือเซ

ต้อย ผู้ลุกลี้ลุกลน กลับยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ราวครึ่งทางแรก สองพี่น้องที่นับถืออิสลาม จึงแลดูเป็นผู้ที่กำลังจาริกไปสู่ปัตตานีอย่างมีวุฒิภาวะและสติสัมปชัญญะ สวนทางกับต้อย เด็กหนุ่มหน้าตี๋ ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ที่พารานอยด์ ค่อนข้างเห็นแก่ตัว และมองอะไรแบบผิวเผิน

แล้วตัวละครหลักทั้งสามคนก็ได้พบกับตัวละครใหม่อีกหนึ่งราย คือ “สุรินทร์” ทหารอีสาน ที่ไปรับราชการอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้

แม้จะเป็นถึง “ทหาร” แต่การดำรงอยู่ของสุรินทร์กลับตกอยู่ในภาวะก้ำกึ่งระหว่างการเป็น “คนสำคัญ” กับ “คนไม่สำคัญ”

ถ้าปราศจากเขา การเดินทางของไลลาและน้องๆ ย่อมไปไม่ถึงเป้าหมาย (ทั้งหมดพบเจอสุรินทร์โดยบังเอิญ และนัดแนะให้เขาเป็นผู้ขี่มอเตอร์ไซค์นำทางไปยังหมู่บ้านของ “ป้า” โดยอาจไม่ได้ตระหนักด้วยซ้ำว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ)

แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าถามว่าสุรินทร์คือผู้นำพาสาวหนุ่มกลุ่มนี้ไปยังปลายทางใช่หรือไม่? ก็ต้องตอบว่า “ไม่ใช่เสียทีเดียว” เพราะเขาเป็นเพียงผู้นำทางทั้งหมดไปสู่ “จุดเปลี่ยนผ่าน” ปลายคาบสมุทร ก่อนที่ไลลา-ซูกู้ด-ต้อย จะออกเดินทางต่อ โดยทอดทิ้งและแทบไม่คำนึงถึงคุณูปการของเขา

ขณะเดียวกัน สุรินทร์ก็มิได้มีบทบาทเป็นทั้ง “ผู้ไล่ล่า” และ “ผู้ถูกล่า” เราไม่เคยเห็นเขาถือปืนออกปฏิบัติภารกิจ (เห็นแต่ภาพที่เขานำสิ่งสักการะไปบูชาเจ้าที่เจ้าทาง) ดูเผินๆ บทบาทหน้าที่หลักของเขา คล้ายจะเป็นงานพลาธิการ-ส่งกำลังบำรุงเท่านั้น

เท่าที่เห็นในภาพยนตร์ สุรินทร์จึงไม่เคยยิงใคร และก็ไม่มีใครมาปองร้ายเขา

แน่นอนว่า เมื่อไลลาและคณะมุ่งหน้าเดินทางต่อไป สุรินทร์ย่อมมีสถานะเป็นเพียง “ผู้ผ่านเข้ามา” ในระหว่างทาง

หนังจึงค่อยๆ ปล่อยให้เขาเลือนหายกลับคืนสู่ภารกิจและวิถีชีวิตประจำวันของตน ด้วยท่าทีที่ “ไม่บวก-ไม่ลบ” ด้วยมุมมองที่ไม่เห็นชายอีสานในชายแดนใต้เป็นทั้ง “วีรบุรุษของชาติ” หรือ “ผู้ร้ายของท้องถิ่น”

ที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ นอกจากตัวละครทหารรายนี้จะไม่ได้ถูกผูกโยงอยู่กับการใช้ความรุนแรงแล้ว “มหาสมุทรและสุสาน” ยังมิได้นำเสนอภาพสถานการณ์รุนแรงใดๆในพื้นที่ชายแดนใต้

ตรงกันข้าม ภาวะรุนแรงนองเลือดที่ไลลาสัมผัสรับรู้ กลับกลายเป็นข่าวสารเรื่องการปราบปรามผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ผ่านลำโพงวิทยุและจอโทรทัศน์

ราวกับภาพยนตร์ต้องการสื่อสารว่า ภาวะก่อการร้าย (โดยรัฐ?) ได้รุกคืบเข้าสู่พื้นที่เมืองหลวงเรียบร้อยแล้ว หรืออีกทางหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ นั่นแหละ ที่เป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง ไม่ใช่ชายแดนภาคใต้

ทหารอย่างสุรินทร์ ก็มีชะตากรรมเฉกเช่นเรื่องราวรายทางอีกจำนวนหนึ่ง ที่ถูกเล่าถึง แล้วค่อยๆ ละทิ้งไปอย่างนุ่มนวล

อาทิ ในช่วงหนึ่ง หนังจับภาพความสัมพันธ์ที่คล้ายจะเป็น “คู่รัก” ระหว่างซูกู้ดกับต้อย แต่ประเด็นที่ว่าก็ไม่ได้ถูกสานต่อ

เช่นเดียวกับภาพหลอนในหัวไลลา ที่ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้สองครั้ง แต่ก็มิได้มีคำอธิบายอย่างโจ่งแจ้ง ว่าภาพดังกล่าวมีนัยยะถึงสิ่งใด หรือมีความเชื่อมโยงกับอะไร

ผู้คนและเรื่องราวระหว่างทางเหล่านั้นไม่สามารถสั่นคลอนเป้าหมายหลักในการเดินทางของไลลาได้

หมู่บ้านที่ “ป้าหนับ” ป้าของไลลาและซูกู้ดอาศัยอยู่ มิใช่พื้นที่บนคาบสมุทร ทว่า เป็น “เกาะไกลโพ้น” แห่งหนึ่ง

ตลอดครึ่งทางแรก ปัญหาความไม่สงบของชายแดนใต้อาจมีลักษณะ “จับต้องได้” อยู่บ้าง เมื่อมันถูกสื่อแสดงออกมาผ่านความหวาดกลัวผสมงี่เง่าของตัวละครอย่างต้อย

แต่เมื่อไลลา ซูกู้ด และต้อย ออกโดยสารเรือไปยัง “เกาะปริศนา” ความไม่แน่ใจและความไม่รู้ ก็แผ่คลี่เข้าปกคลุมตัวละครทั้งสามคนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน

บรรยากาศคลุมเครือเช่นนั้น ย่อมทำให้คนดูเริ่มฉุกคิดได้ว่าสิ่งที่กลุ่มตัวละครหลักกำลังจะค้นพบ อาจมิใช่ “ป้า” ผู้ไม่ได้พบพานกันมาเนิ่นนาน หรือการมุ่งทำความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้ ผ่านชุดข้อมูล ตลอดจนกรอบทฤษฎีชัดๆ ง่ายๆ

หากเป็นบางสิ่งบางอย่าง ที่มีลักษณะเป็น “สัญลักษณ์เชิงนามธรรม” มากกว่านั้น


ใน “ความจริง” ที่เป็น “รูปธรรม” จับต้องได้ ใครๆ ก็รู้ว่าปัตตานีไม่มี “เกาะ”

จากคำบอกเล่าของ “ป้าหนับ” เกาะที่แกอาศัยอยู่เป็นทั้งพื้นที่ในเขตแดนของรัฐชาติไทย และไม่ใช่ นี่อาจเป็นเกาะที่มีอยู่จริง และไม่จริง นี่อาจไม่ใช่พื้นที่เฉพาะสำหรับ “ความเป็นไทยแบบกรุงเทพฯ” “อดีตว่าด้วยปาตานี” “ความเป็นมลายูมุสลิม” หรือ “กระแสอิสลามนิยม”

ทว่า “เกาะ” ดังกล่าว เป็นพื้นที่ “ในระหว่าง” ที่เปิดรับ “ความเป็นไปได้” หรือ “ความผสมผสานหลอมรวม” อันนับเป็น “ทางเลือกที่สาม” ซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากการต้องเลือกอยู่ข้างใดข้างหนึ่งในท่ามกลางความขัดแย้งแหลมคม ซึ่งใช้ชีวิตผู้คนจำนวนมากเป็นเครื่องเซ่นสังเวย

เกาะที่ป้าหนับอาศัยอยู่จึงเป็น “สังคมยูโทเปีย” หรือ “สังคมอุตมรัฐ” ที่เปิดรับ/ใฝ่ฝันถึงความแตกต่างหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ

แต่ป้าหนับก็เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน ว่าเกาะแห่งนี้กำลังถึงคราวดับสูญ ทั้งจากการถูกผูกโยงเข้ากับความขัดแย้งสองขั้ว และเพราะจำนวนคนหนุ่มสาวที่เริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ (เพราะความตายและการโยกย้ายถิ่นฐาน)

ค่อนข้างน่าเสียดาย ที่หนังเลือกเปิดเผย “สาระสำคัญ” ผ่านบทสนทนาแบบทื่อๆ ตรงๆ ของป้าหนับ ยิ่งกว่านั้น การมอบหมายให้ตัวละครอาวุโสรายนี้ต้องแบกรับภาระหนักหน่วงด้วยบทเทศนาขนาดยาว ยังส่งผลให้การแสดงสไตล์ละครเวทีของเธอ ดูย้อนแย้งกับภาพรวมของภาพยนตร์ชัดเจนขึ้น

เมื่อรับรู้ “สาร” จากป้าหนับ ไลลาและน้องๆ ก็อาศัยค้างคืนอยู่บนเกาะยูโทเปียเพียงชั่วครู่เดียว ก่อนออกเดินทางกลับโดยรวดเร็ว

นี่เป็นอีกครั้งที่ “มหาสมุทรและสุสาน” ยืนยันว่า ตนเองมิได้กำลังเล่าเรื่องราวความขัดแย้งในชายแดนใต้ ด้วยวิธีการแบบ “ชาติพันธุ์นิพนธ์”

หนังเรื่องนี้มิได้กล่าวอ้างว่าตนเองเป็นผู้ลงลึก รู้จริง ในโลกเฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่หนังเพียงแค่เล่าเรื่องราวจากมุมมองของนักเดินทางขาจร ผู้ผ่านพบ ทว่าไม่ผูกพันกับใครๆ หรือสิ่งใด อย่างมีเยื่อใย

ตัวละครหลักทุกรายจึงต่างมีความตื้นเขิน ผิวเผิน และไม่รู้อะไรลึกซึ้ง พอๆ กัน อย่างไรก็ดี พวกเขาทุกคน ล้วนมีสิทธิ์ที่จะใฝ่ฝันถึงถึง “อุดมคติสูงส่ง” บางประการ ร่วมกัน

กล่าวโดยสรุป การเดินทางของเหล่าตัวละครใน “มหาสมุทรและสุสาน” นับเป็นการเดินทางที่ทรงเสน่ห์ เต็มไปด้วยความลึกลับน่าค้นหา อีกทั้งยังมีสัญลักษณ์รายทางอันแพรวพราว

ซึ่งเอาเข้าจริง น่าจะสร้างความงุนงงสงสัยแก่คนดู มากกว่าจะเป็นความเข้าใจกระจ่างแจ้ง แต่ความไม่แน่ชัด ไม่แน่ใจ อันเอ่อท้นนี่เอง ที่อาจทำให้หนังติดค้างอยู่ในความนึกคิดของผู้ชมได้ยาวนานขึ้น

โดยส่วนตัว ผมยังรู้สึกติดค้างกับอีกหนึ่ง “ปม” ที่หนังปล่อยทิ้งเอาไว้ กล่าวคือ ในการเดินทางขากลับ ชายหนุ่มคนหนึ่งจากเกาะยูโทเปีย ได้ขอติดตามคณะของไลลาขึ้นมากรุงเทพฯ ด้วย (เหมือนกับที่ ครั้งหนึ่ง พ่อของไลลาเคยหนีออกมาจากเกาะแห่งนั้น)

น่าสนใจว่า ขณะที่สาวหนุ่มจากเมืองหลวงได้เริ่มตระหนักว่า พวกตนยังไม่รู้อะไรอีกมากมาย ผ่านการเดินทางมายังปัตตานี

แล้วชายหนุ่มชาวเกาะผู้นี้จะได้ตระหนักรู้สิ่งใดบ้าง ผ่านการเดินทางออกจาก “โลกอุดมคติ” ไปสู่ “โลกแห่งความจริง”