จากพิมพ์ดีดสู่เอไอ : AI ไม่ใช่ A4 | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

A4 คือขนาดของกระดาษที่ใช้ในการเขียนหนังสือ หรือพิมพ์ดีด

AI มาจาก Artificial Intelligence หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”

คนละโลกคนละเรื่องคนละชะตากรรมโดยสิ้นเชิง

ผมโชคดีที่ชีวิตการเป็นคนข่าวได้ผ่านจาก A4 มาถึง AI และยังไม่รู้ว่าอนาคตของเส้นทางนี้จะนำไปสู่สิ่งมหัศจรรย์ที่คาดไม่ถึงอะไรอีกในสัปดาห์หน้า, เดือนหน้า, หรือปีหน้า

เพราะไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเขย่าทุกวงการขณะนี้จะนำไปสู่อะไร

ก่อนหน้านี้สัก 20 ปี ใครพูดถึง “disruption” หรือที่ผมเรียกว่า “ความป่วน” ที่เกิดจากเทคโนโลยี ไม่มีใครรู้เรื่อง ไม่มีใครสนใจ และไม่มีใครคิดว่ามันเกี่ยวอะไรกับตัวเองด้วยซ้ำ

วันนี้ถ้าเอ่ยคำนี้ในวงสนทนา 10 คนอาจจะมีคนพยักหน้าสัก 7-8 คน ที่เหลืออีก 2-3 คนก็เฉยๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

ในบรรดา 7-8 คนที่พยักหน้านั้น จะมีสัก 4-5 คนที่บอกว่ากำลังปวดหัวกับเรื่องนี้อยู่ เพราะเป็นหัวหน้าคน ตัวเองตระหนักว่าต้องปรับต้องเปลี่ยน แต่ลูกน้องยังเฉยๆ ไม่เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเองแต่อย่างใด

อีก 2-3 คนอาจจะหันมาถามว่า “คุณพูดเรื่องอะไรอยู่หรือนี่?”

ถ้าคุณคุยกับคนอายุ 30 ขึ้นไป เขารู้ว่าทุกอย่างกำลังเปลี่ยนเพราะชีวิตและอาชีพเขากำลังถูก disrupted

แต่ถ้าคู่สนทนาของคุณอายุ 15-20 พวกเขาและเธออาจจะไม่รู้สึกถึง disruption เพราะคนรุ่นนี้โตมาในวิถีชีวิตที่เปลี่ยนที่ปรับไปแล้ว

สำหรับคนรุ่นใหม่ “ความป่วน” เป็นเรื่องปกติ

สำหรับคนรุ่นกลาง “ความป่วน” เป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวาย

สำหรับคนรุ่นเก่าหรือ baby-boomers (วัย 55 ขึ้น) “ความป่วน” เป็นเรื่องน่างุนงง, เหลือเชื่อ แต่ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมันมากนัก เพราะความเสี่ยงไปตกอยู่กับคนรุ่นก่อนหน้านี้แล้ว

ท้ายที่สุด ไม่มีใครไม่ว่าอาชีพใดวัยไหนไม่ถูก “ป่วน” ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังเขย่าทุกคนทุกวัยคนอาชีพ

ผมเรียกมันว่า Perfect Storm

เพราะมันเป็นพายุหนักหน่วงรุนแรงที่พัดมาจากทุกทิศทุกทาง มีพลังทำลายสูง และที่สำคัญคือมันถาโถมไม่หยุด

หากเป็น “สึนามิ” ธรรมชาติ มันจะแรงจะหนักแค่ไหนก็ยังมีจังหวะหยุด

พายุร้ายแรงเพียงใดก็มีช่วงที่หยุด เราหลบในที่ปลอดภัยสักพักหนึ่ง เมื่อมันผ่านไปแล้ว เราก็สามารถซ่อมแซมบ้านช่องและข้าวของที่ถูกทำลายเสียหายไปได้ จะหนักแค่ไหนก็มีจุดเริ่มต้นใหม่

แต่ Perfect Storm เทคโนโลยีที่เรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้มาอย่างเร็ว อย่างหนัก ถล่มพร้อมกันจากทุกทิศ และไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงแต่อย่างใด…มีแต่จะแรงขึ้นและพร้อมจะทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า

มันยุติธรรมตรงที่ว่าเวลาพายุร้ายแห่งเทคโนโลยีซัดเข้ามานั้นมันไม่เลือกว่าคุณเล็กหรือใหญ่ เคยล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นมาเพียงใด หากคุณไม่ปรับตัว หรือปรับตัวช้า ทุกธุรกิจและอาชีพล้วนมีสิทธิจะถูกพัดสลายหายไปต่อหน้าต่อตาทั้งสิ้น

ฝรั่งใช้คำว่า exponential ที่มาแทนคำว่า linear

คำแรกแปลว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่ “ค่อยทำค่อยไป” หรือ “เดินไปทีละก้าว”

คำหลังหมายถึงการก้าวไปทีละจังหวะ จาก ก.ไก่ ไป ข.ไข่ ต่อไป ค.ควาย

แต่ exponential แปลว่ามันไม่ต้องเริ่มที่ ก. เสมอไป และแม้จะเปิดที่ ก.ไก่ มันก็อาจจะกระโดดไปที่ จ.จาน วิ่งกลับมาที่ ง.งู และโผบินไปที่ ล. ได้ในฉับพลันเช่นกัน

มีใครถามผมว่า “ความป่วน” ที่ว่านี้น่ากลัวแค่ไหน? พูดให้ตกใจเกินเหตุหรือเปล่า? อะไรมันจะทำลายล้างได้เพียงนั้น?

ทุกครั้งที่ได้รับคำถามนี้ ผมจะตอบว่า

“ความปั่นป่วน” อันเกิดจากเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องจริงยิ่งกว่าจริง

ผมพูดอย่างนี้ได้เพราะเป็น “เหยื่อ” ของ “ความป่วน” นี้โดยตรง

เพราะสื่อเป็นอาชีพที่ถูก disrupted อย่างหนักหน่วงรุนแรงมาหลายปี และยังจะถูก “ป่วน” ต่อไปอีกยาวนานโดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปจบลงตรงไหน

หรือจะมีวันจบหรือไม่?

บนโต๊ะกาแฟเมื่อ “วันนักข่าว” (5 มีนาคม) ที่ผ่านมา บทสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของสื่อวันนี้ทำให้เราย้อนกลับไปรำลึกถึงอดีตเพื่อประเมินสถานการณ์วันนี้

ผมย้อนเล่าว่าความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในสังคมไทยทุกครั้งที่ผ่านมานั้น สื่อมืออาชีพโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

ในยุคสมัยเผด็จการทหารครองเมืองก่อน 14 ตุลาคม 2516 นั้นสื่อโทรทัศน์และวิทยุอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารอย่างเข้มข้นรัดกุม

ช่วง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ผู้มีอำนาจควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ประชาชนไม่สามารถจะรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง

มีแต่นักหนังสือพิมพ์อาชีพเท่านั้นที่พยายามจะทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อ “ทำความจริงให้ประจักษ์” ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงกับวิชาชีพและความปลอดภัยส่วนตัวอย่างมาก

หนังสือพิมพ์มีส่วนมากในการช่วยสนับสนุนความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนทำให้เกิดกระแสของการประท้วงที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ช่วงเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาคมทมิฬ 2535” รัฐบาลปิดบังความจริงต่อประชาชน ออกข่าวผ่านสื่อทางการว่า “ทุกอย่างเรียบร้อย” ขอให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ไม่ต้องออกมาร่วมการประท้วง

ขณะนั้นเพิ่งจะมี “โทรศัพท์มือถือ” ใหม่ๆ ยังไม่แพร่หลาย

ผมจำได้ว่านักข่าวของผมบางคนโทรศัพท์เข้ามารายงานว่าเกิดการปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ซึ่งตรงกันข้ามกับข่าวที่สื่อทางการป้อนใส่ประชาชนตลอดวันตลอดคืน

วันรุ่งขึ้น มีหนังสือพิมพ์เท่านั้นที่พยายามรายงานข่าว “ความจริงที่เกิดขึ้น” ต่อประชาชน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังเหตุการณ์นั้นแล้ว รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน จึงออกกฎหมายให้มี “ทีวีเสรี” ที่ไม่ขึ้นต่ออำนาจรัฐเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นั่นคือการก่อเกิด “ไอทีวี” ที่พลิกโฉมการรายงานข่าวทางสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

ขอตัดฉากกลับมาที่การที่สื่อถูกเทคโนโลยี “ป่วน” อย่างหนักจนถึงวันนี้

ปรากฏการณ์ที่ผมเรียงลำดับมาให้ดูข้างล่างนี้คือคำอธิบายว่าสื่อถูก disrupt อย่างรุนแรงอย่างไร

1969 : อีเมลเกิดครั้งแรกอย่างเป็นระบบ

1975 : กล้องดิจิตอลเกิดครั้งแรก ประดิษฐ์คิดค้นโดยนายสตีเวน แซสสัน แห่งโกดัก (แต่ถูกฝ่ายบริหารสั่งให้เก็บใส่ลิ้นชักเพราะกลัวจะมากระทบยอดขายฟิล์มของตนเอง)

2001 : เกิดเว็บไซต์ข้อมูลที่ทุกคนมาร่วมนำเสนอเนื้อหาสาระที่แต่ละคนรู้จักมักคุ้นเรียกว่า Wikipedia มีผลทำให้ “สารานุกรม” ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดหมดสภาพต่อหน้าต่อตา

2004 : Facebook เปิดตัว

2006 : Twitter เกิด

2007 : สตีฟ จอบส์ เปิดตัว iPhone

2008 : Blockchain เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญ

2015 : Facebook Live เกิดใกล้ๆ กับ YouTube Live

แต่ละครั้งที่เกิดเทคโนโลยีใหม่ คนทำสื่อมีปฏิกิริยาไม่เหมือนกัน…แต่ส่วนใหญ่ไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของตัวเอง

ประมาณ 20 ปีก่อน เพื่อนผมจากไต้หวันเอา “กล้องถ่ายรูปที่ไม่ต้องใช้ฟิล์ม” มาให้ผมดู

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า “กล้องถ่ายรูปดิจิตอล”

คำว่าดิจิตอลคืออะไรผมไม่รู้

ผมรู้แต่ว่า ถ้ากล้องไม่ต้องใช้ฟิล์ม ผมจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายปีละหลายล้านบาท เพราะผมมีทีมช่างภาพอยู่ประมาณ 15 คน

ผมต้องทะเลาะกับช่างภาพเป็นประจำเพราะจะต้องสั่งให้ “ถ่ายรูปน้อยๆ หน่อยเพราะฟิล์มแพง”

ผมรีบเอา “กล้องถ่ายรูปไม่ต้องใช้ฟิล์ม” กลับไปที่ห้องข่าว เรียกประชุมทีมช่างภาพทันที

ภาพจากกล้องยังไม่ชัดนัก ยังดูเบลอๆ ช่างภาพทั้งหมดยกมือบอกผมว่า

“คุณสุทธิชัยครับ เป็นไปไม่ได้ครับที่กล้องถ่ายรูปจะไม่ใช้ฟิล์ม ที่เพื่อนคุณสุทธิชัยให้มาดูนั้นเป็นแค่ของเด็กเล่น พวกเราเป็นช่างภาพอาชีพครับ…”

ผ่านไปไม่กี่ปีหลังจากนั้น โกดักซึ่งเป็นยักษ์ใหญเบอร์หนึ่งของวงการกล้องถ่ายรูปด้วยฟิล์มก็ประกาศล้มละลาย

ตามมาด้วยฟูจิที่ต้องทิ้งธุรกิจกล้องถ่ายรูปมีฟิล์มเช่นกัน

ทุกวันนี้ใครพูดถึง The Kodak Moment ไม่ได้แปลว่าภาพถ่ายอันสวยงามรักษาความทรงจำอย่างวิเศษ

หากแต่หมายความถึง

“ความล้มเหลวอันโอฬาร…เพราะความไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง”!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่