เทศมองไทย : เศรษฐกิจยุคโควิด-19 หนักหนาสาหัสแค่ไหน?

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งหลายลงความเห็นตรงกันแล้วว่า เศรษฐกิจของทั้งโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเป็นปมถกเถียงกันอยู่บ้างในยามนี้ก็คือ เศรษฐกิจที่ว่าจะแย่หนักหนาสาหัสไปทั้งโลกนั้น ตอนฟื้นมันจะฟื้นกันในรูปไหน

ฟื้นเร็วและแรง ดิ่งขึ้นชันๆ แบบตัว “วี” หรือเปล่า?

หรือจะดิ่งลงแล้วตกต่ำอยู่นานๆ แล้วค่อยฟื้นตัวเหมือนรูปตัว “ยู” หรือจะเป็นตกต่ำขึ้นๆ ลงๆ เป็นขยักๆ เหมือนตัว “ดับเบิลยู” กันแน่?

น้ำเสียงส่วนใหญ่ของผู้สันทัดกรณีบอกว่า กว่าจะฟื้นก็คงจะใช้เวลานานไม่น้อย คือเป็นรูปตัวยูที่ตกท้องช้างกว้างมากๆ กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

 

เหตุผลก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจหนนี้ผิดไปจากวิกฤตการณ์ทุกครั้งที่ผ่านมา ตราบเท่าที่การติดต่อ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ยังคงเป็นเรื่องอันตราย ตราบนั้นธุรกิจทั้งหลายย่อมกลับคืนสู่สภาวะปกติไม่ได้ และตราบใดที่ความกลัวยังเกาะกุมหัวใจของทุกคน ยากที่ใครจะกล้าเข้าไปอุดหนุนภัตตาคารร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งคอนเสิร์ตจนแน่นเหมือนที่เคยผ่านมา

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จู่ๆ หยุดชะงักลงกะทันหันก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกโดยพร้อมเพรียงกัน เศรษฐกิจในบางประเทศเหล่านั้นทรุดลงหนักชนิดต้องใช้เวลาฟื้นฟูกันนานปี บริษัทธุรกิจจำนวนมากประสบภาวะสูญเสียรายได้แบบเฉียบพลัน หลายๆ บริษัทในจำนวนนั้นกู้หนี้ยืมสินอยู่เป็นจำนวนมากอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สถานการณ์จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นตามมา

ปรากฏการณ์ของโลกทำนองดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นเดียวกัน แล้วก็มีคำถามตามมาเช่นเดียวกันว่า ที่ว่าย่ำแย่นั้นโดยรูปธรรมแล้วมันหนักหนาสาหัสขนาดไหนกัน?

 

รายงานวิเคราะห์ทางการเงินและเศรษฐกิจประเทศไทยของไอเอ็นจี ธนาคารระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา ให้คำตอบนี้ไว้ตั้งแต่หัวเรื่องของบทวิเคราะห์นี้เลยครับว่า “ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์เอเชียเมื่อปี 1998”

ไอเอ็นจีบอกว่า ดัชนีจัดซื้อของผู้จัดการ (พีเอ็มไอ) ประจำเดือนมีนาคมของไทย ลดลงมาอยู่ที่ 46.7 ที่สำคัญก็คือ พีเอ็มไอของไทยในเดือนมีนาคมนี้ลดต่ำกว่าระดับ 50 มาต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว

เป็นตัวบ่งชี้เป็นอย่างดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาสแรกติดลบแน่นอนแล้ว

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (บีเอสไอ) ในเดือนมีนาคมที่ลดลงเหลือเพียง 42.6 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2011 เป็นต้นมา และเป็นการอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 มาต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางปีที่แล้วอีกด้วย

ไอเอ็นจีนำสถานการณ์ในไทยในยามนี้ไปเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า อยู่ในสถานการณ์แย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเรื่อยมา ซึ่งในเวลานั้นไทยในฐานะศูนย์กลางของวิกฤต จีดีพีลดวูบลงติดลบถึง 7.8 เปอร์เซ็นต์

การล็อกดาวน์ที่คาดกันว่าจะเลยไปจนถึงสิ้นเดือนนั้น ส่งผลต่อการท่องเที่ยวขนานใหญ่ ต่อมาก็คือกระทบต่อการบริโภคสูงมาก ซึ่งในกรณีของไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 52 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2019

 

ไอเอ็นจีประเมินว่า ในไตรมาสแรก จีดีพีของไทยจะลดลงราว 2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกันปีต่อปี แต่ถ้าการระบาดเพิ่มขึ้นแบบระเบิดตูมตามในช่วงไตรมาสที่ 2 จีดีพีจะลดลงได้มากถึง 7.7 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยการติดลบอีก 4.8 เปอร์เซ็นต์ และ 2.6 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงไตรมาสที่สามและที่สี่

ตลอดทั้งปี ไอเอ็นจีประเมินว่า จีดีพีของไทยจะติดลบ 4.3 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ -0.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับว่า ปี 2020 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 ครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจซึ่งไอเอ็นจีคาดการณ์ไว้ก็คือ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ไอเอ็นจีบอกว่า จากที่เคยแข็งโป๊กเมื่อปีที่ผ่านมา จะอ่อนค่าลงอย่างมากในปีนี้ หลังจากแสดงให้เห็นแนวโน้มแล้วว่าอ่อนค่าลง 8.6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา

ไอเอ็นจีคาดการณ์ไว้ว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์จะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ในตอนสิ้นปีนี้ครับ