เกษียร เตชะพีระ | THE CONSTITUTIONAL REFERENDUM DID NOT TAKE PLACE! (3)

เกษียร เตชะพีระ

(เรียบเรียงขยายความจากคำอภิปรายของผมในการเสวนาวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ของคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 14 กุมภาพันธ์ ศกนี้)

ข้อคิดต่อยอดเพิ่มเติมทางการเมืองวัฒนธรรม:

ด้วยแรงบันดาลใจจากการได้อ่านวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์เล่มนี้ ผมใคร่แสดงข้อคิดเห็นต่อยอดเพิ่มเติมทางการเมืองวัฒนธรรมงอกเงยสืบเนื่องออกไปในประเด็นดังต่อไปนี้ :

– โครงสร้างอสมมาตรของรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยมภายใต้ คสช.

– สัญศาสตร์ของคำว่าไทยๆ

– โครงสร้างความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของสังคมไทย

– คุณูปการยิ่งใหญ่ที่สุดของระบอบทักษิณต่อสังคมทุนนิยมไทย

โดยเริ่มต้นจาก…

– โครงสร้างอสมมาตร

ของรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยม

ภายใต้ คสช.

ผมคิดว่าตัวแบบทางแนวคิดทฤษฎีของอันโตนิโอ กรัมชี เกี่ยวกับโครงสร้างรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยมซึ่งผู้วิจัยนำมาปรับประยุกต์ใช้ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้มีข้อขาดตกบกพร่อง แม้ว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบต่อข้อค้นพบในการวิจัยให้ผิดเพี้ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใดก็ตาม แต่ทว่าหากได้ปรับแก้แต่งเติมตัวแบบดังกล่าวให้ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ก็จะช่วยเสริมเติมข้อค้นพบของผู้วิจัยให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้วิจัยได้อธิบายความเข้าใจของตนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์ว่า :

“ทั้งนี้ ผู้วิจัยตั้งสมมติฐานไว้ว่ากระบวนการออกเสียงประชามติถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นนำผู้มีอำนาจในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยการใช้อำนาจบังคับในพื้นที่สังคมการเมือง ควบคู่กับการสร้างความยินยอมพร้อมใจในพื้นที่ประชาสังคม” (เน้นโดยผู้เขียน)

จะเห็นได้ว่าในความเข้าใจของผู้วิจัย พื้นที่สังคมการเมืองหรือรัฐ (political society or state) เป็นพื้นที่ของการใช้อำนาจบังคับ (coercion เช่น การใช้กำลัง, การบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น) ล้วนๆ, ส่วนพื้นที่ประชาสังคม (civil society) เป็นพื้นที่ของการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (consent หมายถึงการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างบรรดาปัญญาชนของชนชั้นและกลุ่มต่างๆ เพื่อส่งอิทธิพลทางความคิด อุดมการณ์ วัฒนธรรม วาทกรรม ฯลฯ ไปครอบงำคนอื่นให้ยอมตาม โดยไม่ต้องบังคับ) ล้วนๆ เช่นกัน ดังอาจจำลองออกมาเป็นแผนภูมิหมายเลข 1 ได้ดังนี้ (ดูกราฟิก 1)

ประเด็นที่เป็นปมปัญหาอยู่ตรงตัวแบบโครงสร้างรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยมข้างต้น ไม่ใช่ตัวแบบเดียวที่ปรากฏในงานเขียนของกรัมชีเรื่องนี้

ควรเข้าใจว่ากรัมชีบันทึกข้อคิดความเข้าใจทางแนวคิดทฤษฎีการเมือง ปรัชญาและประวัติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นในคุกซึ่งรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ของมุสโสลินีจำขังเขาไว้ในฐานะนักโทษการเมืองอยู่ 11 ปี (ค.ศ.1926-1937 อัยการกล่าวในศาลระหว่างพิจารณาคดีกรัมชีอย่างลือลั่นว่า “เราต้องทำให้สมองก้อนนี้หยุดทำหน้าที่ของมันไปยี่สิบปี”)

โดยสุขภาพของเขาย่ำแย่ลงตามลำดับ (ฟันทยอยหลุดร่วง ระบบย่อยอาหารพังจนกินได้แต่ของเหลว กระอักเลือดและเกร็งชัก ปวดหัวรุนแรงจนเขาโขกหัวตัวเองกับผนังห้องขังซ้ำซาก ฯลฯ) จนถึงแก่ความตายในที่สุด

ในสภาพทนทุกข์ทรมานและจำกัดจำเขี่ยเช่นนั้น การที่กรัมชีจะขบคิดค้นคว้าขีดเขียนเรียบเรียงปรับแต่งแก้ไขบันทึกของตนอย่างละเอียดรัดกุมต่อเนื่องเป็นระบบคงเส้นคงวาย่อมทำไม่ได้

บันทึกในคุกภาษาอิตาลีของเขา (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษตีพิมพ์ออกมา 3 เล่มหนาใหญ่โดย Columbia University Press ในชื่อ The Prison Notebooks) จึงมีตัวแบบโครงสร้างรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยมต่างๆ กันอย่างน้อยสองแบบ ไม่ใช่แบบเดียว โดยที่แต่ละแบบก็แตกต่างกันไปในสาระสำคัญ

และตัวแบบที่ผู้วิจัยนำมาประยุกต์ใช้เป็นเพียงแบบหนึ่งของกรัมชีในบันทึกในคุกเท่านั้น

Perry Anderson น้องชายของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ผู้ล่วงลับและสมาชิกกองบรรณาธิการนิตยสาร New Left Review อันโด่งดังระดับโลก ได้เคยค้นคว้าศึกษาบันทึกในคุกภาษาอิตาลีของกรัมชีในประเด็น “อำนาจนำ” (hegemony) ไว้อย่างละเอียดพิสดารและตีพิมพ์ผลงานนี้ออกมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 (“The Antinomies of Antonio Gramsci”, New Left Review, no.100, November-December 1976) ซึ่งในชั้นหลังเขาได้ปรับปรุงสำนวนโวหารและตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มภายใต้ชื่อเดียวกันเมื่อ ค.ศ.2017

ในงานชิ้นนี้ เพอร์รี่ได้วิเคราะห์วิจารณ์เปรียบเทียบตัวแบบโครงสร้างรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยมตะวันตกต่างๆ ในบันทึกในคุกของกรัมชีซึ่งมีลักษณะขัดแย้งลักลั่นกันเอง (ดังที่เขาตั้งชื่อบทความโดยใช้คำว่า antinomies ซึ่งหมายถึง

“ความขัดแย้งลักลั่นกันระหว่างความเชื่อหรือข้อสรุปสองอย่างที่แต่ละอย่างก็สมเหตุสมผลในตัวมันเอง หรือนัยหนึ่งปฏิทรรศน์นั่นเอง”)

ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของแต่ละตัวแบบ แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นโครงสร้างอสมมาตร (asymmetry) ของรัฐ/ประชาสังคมแบบทุนนิยมของตนเองบนพื้นฐานตัวแบบต่างๆ ของกรัมชีนั้น โดยสอดคล้องกับลักษณะที่เป็นจริงของสังคมทุนนิยมทั่วไป และคล้องจองกับแนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่ของ Max Weber ปรมาจารย์นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียง ดังจำลองออกมาได้ในแผนภูมิหมายเลข 2

จะเห็นได้ว่าในตัวแบบโครงสร้างอสมมาตรของสังคมทุนนิยมนี้ :

สังคมการเมืองหรือรัฐ (political society or state) มีหน้าที่หรือเป็นพื้นที่ของทั้งการใช้อำนาจบังคับและการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (coercion + consent) ทั้งสองด้านควบคู่กันไป

ส่วนประชาสังคม (civil society) กลับมีหน้าที่หรือเป็นพื้นที่ของการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (consent) ด้านเดียวถ่ายเดียวเท่านั้น

ตัวแบบโครงสร้างอสมมาตรนี้เอาเข้าจริงยิ่งสอดคล้องรองรับข้อเท็จจริงที่ผู้วิจัยค้นพบว่า รัฐบาล คสช. (สังคมการเมืองหรือรัฐ) หาได้ใช้อำนาจบังคับ (coercion) แต่ด้านเดียวไม่ หากยังดำเนินการด้านสร้างความยินยอมพร้อมใจ (consent) ด้วยการสั่งระดมกำลังและจัดส่งกลไกรัฐใต้การบังคับบัญชาให้ไปทำหน้าที่สื่อบุคคล (personal media) รณรงค์เผยแพร่ชักชวนประชาชนให้ลงประชามติ(รับ)ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าครู ก. ข. ค., รด.จิตอาสา, ครู กศน., วิทยากรจาก สนช.และ สปท., ข้าราชการทั่วไปในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพ รวมทั้งสิ้นถึง 1.93 ล้านคน

มิเพียงเท่านั้น เรายังสามารถปรับใช้ตัวแบบโครงสร้างอสมมาตรนี้ไปจับประเด็นและสะท้อนความจริงของการที่ คสช.สร้างบริบทอำนาจแห่งความกลัวล้อมกรอบการลงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ด้วย นั่นคือ :

ในช่วงสามปีภายใต้การปกครองระบอบอำนาจนิยมของ คสช. รัฐบาลเผด็จการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจกฎอัยการศึกและมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกประกาศคำสั่งหลายร้อยฉบับซึ่งส่งผลโดยรวมผลักดันขยับย้ายเส้นแบ่งระหว่างสังคมการเมืองหรือรัฐกับประชาสังคมให้ถอยร่นไป

ขยายพื้นที่ใต้อำนาจบังคับของรัฐให้กว้างขวางขึ้น และหดกดบีบพื้นที่สิทธิเสรีภาพในประชาสังคมให้แคบเล็กลง อาทิ ตรวจจับเซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดีย, เรียกผู้เห็นต่างไปคุมตัวปรับทัศนคติ, ห้ามจัดชุมนุมสาธารณะ, นำผู้ต้องหาพลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีการเมืองและคดีความมั่นคง เป็นต้น ดังแผนภูมิหมายเลข 3

ส่งผลให้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เกิดขึ้นในพื้นที่และบรรยากาศที่จำกัด กดดัน ขาดสิทธิเสรีภาพเสมอหน้าเท่าเทียมกันอย่างเต็มที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายค้านร่างรัฐธรรมนูญ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)