ในประเทศ / กู้ค่ะ หนูชื่อ ‘กู้’ มากับ ‘ต้น’ และมากับ ‘ดอก’

ในประเทศ

 

กู้ค่ะ หนูชื่อ ‘กู้’

มากับ ‘ต้น’

และมากับ ‘ดอก’

 

ลุ้นกันหนักเหมือนกัน

ว่าการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มหึมา 1.9 ล้านล้านบาท

ของ 3 แกนนำสำคัญ นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

จะเรียกรอยยิ้มอย่างมีความหวัง

เหมือนอย่างที่ชาวบ้านชาวเมืองยิ้มรับเชื้อไวรัล จากเพลงทีม ซุปเปอร์วาเลนไทน์ “เจน นุ่น โบว์” หรือไม่

ที่ว่าต้องลุ้น ก็เนื่องจากเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้าน จะเสกเพี้ยงขึ้นมาได้เฉยๆ

หากแต่ต้องกู้มา

เมื่อเป็นเงินกู้ แน่นอน ย่อมต้องมีภาระจ่ายคืนเงินต้น และดอกเบี้ยอันหนักหน่วง

หากเรานำเงินนี้ไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก แทนที่จะเป็นการกู้วิกฤต ก็จะกลายเป็นเพิ่มวิกฤตขึ้นมาอีก

ตรงกันข้าม หากนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระเบียบแบบแผน

ย่อมจะนำไปสู่การทำให้คนไทยมีรอยยิ้มแห่งความหวังขึ้นมาได้

 

ดูเหมือนรัฐบาลจะถอนหายใจอย่างโล่งอกได้ไม่น้อย

เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 7 เมษายน 2563

ปรากฏว่า ตลาดหุ้นซึ่งถือเป็นดัชนีวัดความพอใจหรือไม่พอใจ แบบฉับพลันนั้น

ขานรับ ด้วยการปรับเพิ่มขึ้นถึง 76.11 จุด หรือ 6.68%

ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 98,954.92 ล้านบาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บอกว่า ที่หุ้นไทยปรับระดับขึ้นได้ร้อนแรง

มาจาก

1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในฝั่งยุโรปและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลง

2) ปัจจัยราคาน้ำมันที่บวกขึ้นมาได้ต่อเนื่อง

และ 3) การออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 เพิ่มเติมของภาครัฐ ที่ใช้เม็ดเงินกว่า 1.9 ล้านล้าน ซึ่งถือว่ามีเม็ดเงินมาก คิดเป็นสัดส่วน 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี)

หุ้นจึงเขียวพรืดทั้งกระดาน

แน่นอนย่อมทำให้รัฐบาลและ ธปท.โล่งใจ ที่ “เริ่มต้น” ได้ดี

 

มาตรการพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ประกอบด้วยอะไรบ้าง

สิ่งแรกคือ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท มีการดำเนินการใน 2 ส่วนคือ

1) พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

1.1 วงเงิน 6 แสนล้านบาทนำไปใช้ในแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เยียวยาประชาชน 6 เดือน เยียวยาเกษตรกร ดูแลด้านสาธารณสุข

1.2 วงเงินอีก 4 แสนล้านบาทนำไปใช้ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

2) เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวม 9 แสนล้านบาท

ต้องออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ประกอบด้วย

พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ออกซอฟต์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเอส 5 แสนล้านบาท

พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้านบาท

รวมวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ 1.9 แสนล้านบาท

โดย 1 ล้านล้านบาทมาจากเงินกู้

ซึ่งนายอุตตมแจงว่า อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้ทั้งหมด แต่จะพิจารณาตามความจำเป็น

 

ส่วนอีก 9 แสนล้านบาทจะเป็นเงินจาก ธปท.ดูแลอยู่

โดยจะไม่ได้ใช้จากเงินทุนสำรองของประเทศ แต่เป็นเงินในระบบเศรษฐกิจที่ ธปท.จะนำมาใช้ได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ธปท.จะออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ คือ

  1. ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  2. ร่าง พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

มุ่งช่วยเหลือ 4 ด้าน ได้แก่

  1. การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยจะครอบคลุมเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไม่เกินแห่งละ 100 ล้านบาท
  2. การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ซึ่งคาดว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ 1.7 ล้านราย โดยจะให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.01% ต่อปี โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อต่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี และไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
  3. มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

ธปท.จะตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยเข้าซื้อตราสารหนี้ในระดับที่มีคุณภาพดีและมีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564

  1. ลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที

 

แม้กระแสด้านหนึ่งจะขานรับ และมีปฏิกิริยาเป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจข้างต้น

แต่วันเดียวกันที่ ครม.มีมติ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรัฐมนตรีคลัง ได้ทำจดหมายในเชิงสัญลักษณ์ถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง ผ่านเฟชบุ๊กของนายธีระชัย

ชี้ว่า พ.ร.ก.มีจุดอ่อน 3 ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง แผนการใช้เงินส่วนใหญ่ไม่รีบด่วน ควรตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาอย่างรอบคอบ

มิเช่นนั้นอาจทำให้ประชาชนกังวลว่าส่อพิรุธ หรือน่าสงสัยว่าประสงค์จะปิดปากสมาชิกรัฐสภามิให้ทำหน้าที่สอบถาม เป็นพฤติกรรมที่ขาดความโปร่งใสหรือไม่

ประการที่สอง ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณที่มีอยู่ และจำเป็นต้องใช้เงินกู้นั้น

วิธีปฏิบัติปกติ รัฐบาลจะเสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี เพื่อสมาชิกรัฐสภาจะสามารถพิจารณา ตั้งข้อสังเกต และเสนอประเด็นเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้

ประการที่สาม การเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปีนั้น จะทำให้กระทรวงต่างๆ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และเลื่อนการใช้จ่ายรายการใหญ่ออกไปชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สมาชิกรัฐสภาสามารถช่วยกันพิจารณาวิธีการสงวนและโยกย้ายงบประมาณให้ประหยัดอย่างเต็มที่เสียก่อนที่จะหันไปใช้การกู้เงิน

“ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาลำพังพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เนื่องจากในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น เป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่มากพอที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะสามารถไปทำข้อตกลงเพื่อแจกจ่ายผลประโยชน์ส่วนตนให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกรัฐสภาได้อย่างทั่วถึง ถ้าหากสมมุติเกิดมีจิตไม่บริสุทธ์ อันอาจเป็นการซื้อเสียงในสภาเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น เนื่องจากกลุ่มบุคคลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้คัดเลือก ประชาชนจึงไม่สามารถฝากความหวังได้อยู่แล้ว” นายธีระชัยระบุ

 

เช่นเดียวกับนายกรณ์ จาติกวณิช ผู้ก่อตั้งพรรคกล้า ได้แนะนำรัฐบาลให้ใช้เงินกู้ในงบประมาณที่เหลืออยู่ 3 แสนล้านบาทก่อนพิจารณาออก พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน

เพราะ

  1. พ.ร.ก.กู้เงิน ต้องใช้ในการแก้ปัญหาที่เร่งด่วนเกินกว่าที่จะรอเงินงบประมาณปีถัดไป

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนคือ รัฐบาลต้องปรับงบฯ ที่ไม่เร่งด่วนหรือชัดเจนว่าใช้ไม่ทันสิ้นปีงบประมาณ มาจัดสรรใหม่ในการต่อสู้กับสภาวะวิกฤต

ขั้นตอนที่สองคือ รัฐยังมีวงเงินกู้ตามเพดานตามกฎหมายในปีงบประมาณ (300,000 ล้านบาท) รัฐควรใช้วงเงินนี้ก่อนที่จะออก พ.ร.ก.

พ.ร.ก.ควรใช้ในกรณีเร่งด่วนทันทีเท่านั้น

ส่วนที่เหลือควรเป็นการใช้เงินในงบประมาณปี 2564 ซึ่งต้องมีการรื้อใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

  1. พ.ร.ก.สินเชื่อ SME ธปท.จะมีระบบประเมินความยุติธรรมในการเข้าถึงวงเงินจากแบงก์ชาติอย่างไร การใช้กลไกธนาคารในการส่งวงเงินผ่านไปถึง SME จะตรวจสอบอย่างไรว่าถึงผู้เดือดร้อนจริง ไม่ใช่เพียงลูกค้าเดิมของธนาคาร
  2. พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรเอกชนไทย โดยกฎหมายนี้น่าจะสุ่มเสี่ยงที่สุดเพราะไม่เคยมีมาตรการนี้ในประเทศไทยมาก่อน

คำถามคือ

3.1 ธปท.จะซื้อในราคาเท่าไร

3.2 ผู้ถือหุ้นและธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะร่วมรับผิดชอบอย่างไร (ไม่ควรเป็นการโอนความเสี่ยงและผลขาดทุนทั้งหมดมาที่ ธปท. โดยที่ผลกำไรในอนาคตยังอยู่ที่นายทุนเหมือนเดิม)

  1. มีคำถามว่าผู้ประกอบการ SME ที่ระดับเครดิตตํ่ากว่าเกรดที่แบงก์ชาติพร้อมรับ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่

จึงเห็นว่า ธปท.ควรต้อง

  1. เริ่มประเมินสถานการณ์ของแต่ละบริษัทที่ออกพันธบัตรแต่เนิ่นๆ เพื่อกำหนดทั้งโครงสร้างการเงินที่เหมาะสมโดยรวมของกิจการ (อย่ารอให้ใกล้ช่วงพันธบัตรจะหมดอายุ)
  2. กำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินการของผู้ประกอบการในช่วงนี้และช่วงหลังวิกฤต
  3. เจรจาร่วมกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในการกำหนดการแบ่งรับภาระความเสียหายและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และกำหนดระดับความช่วยเหลือที่จะได้รับจากธนาคารกลาง

 

ขณะเดียวกัน นายวีรพงษ์ รางมากูร อดีตรัฐมนตรีการคลัง ก็ได้เสนอถึงปัญหาของการจัดการ

กล่าวคือ เมื่อตั้งเป้าจะใช้เงินงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทพยุงเศรษฐกิจแล้ว

ต้องตอบคำถามคือ

จะใช้เงินอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

จะใช้อย่างไรเพื่อเป็นการลงทุนที่จะ “มีของ” เหลือเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อไปในอนาคต

จะใช้จ่ายอย่างไรให้ถึงมือของครัวเรือน ให้ครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ตามแต่เขาจะเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด

 

ถือว่าเป็นเสียงท้วงติงและเสนอแนะจาก 3 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่รัฐบาลคงต้องรับฟัง รวมถึงข้อเสนอจากกลุ่มอื่นๆ อย่างรอบด้าน

และรอบคอบ

เนื่องเพราะเกี่ยวพันถึงเงินที่มากถึง 1.9 ล้านล้าน

ซึ่งเป็นเงินกู้

เงินกู้ที่อาจพึมพำให้เข้าสมัย “เจน นุ่น โบว์” เสียหน่อยก็ได้

โดยแปลงเป็นข้อเตือนใจ ประดับรอยยิ้ม ว่า

กู้ค่ะ หนูชื่อ “กู้”

มากับ “ต้น”

            และมากับ “ดอก” (เบี้ย) อันมหาศาล!!