อยู่กับ “ความจริง” ไม่ได้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพลังงานยังคงพอใช้ หากบริหารจัดการได้ดีพอ

ความยุ่งยากเรื่องหนึ่งของประเทศไทยเราคือ “การจัดการเรื่องพลังงาน”

ไม่ใช่เรื่องความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องข้อมูลที่ว่า “พลังงานของประเทศเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤต”

สาเหตุใหญ่คือการใช้เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ว่าจะเริ่มต้นที่อะไร ล้วนเกิดการต่อต้านประท้วง และในที่สุดไม่สามารถบริหารจัดการให้เกิดการผลิตเพิ่มได้

เพราะโลกทุกวันนี้มนุษยชาติยากที่จะอยู่โดยไม่ต้องอาศัยพลังงานที่เกิดจากการผลิตด้วยกิจการขนาดใหญ่ ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงาน ยิ่งประเทศชาติเติบโต หรือพัฒนาไปมากเท่าไร ปริมาณการใช้พลังงานจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

แต่ทั้งที่รู้ถึงความจำเป็นต้องผลิตเพิ่ม กลับดำเนินการไม่ได้ จึงมีความน่าสงสัยยิ่งว่าแท้จริงแล้วประชาชนคนไทยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานอย่างไร

 

“นิด้าโพล” ดูเหมือนจะสงสัยในประเด็นนี้เช่นกัน การสำรวจครั้งล่าสุดจึงมุ่งไปที่เรื่อง “ปัญหาพลังงาน พลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทนในประเทศไทย”

ในคำถาม “เห็นว่าอะไรเป็นปัญหาหลักของพลังงานในประเทศ” คำตอบน่าสนใจยิ่ง

ในความรู้ความเข้าใจของประชาชน ร้อยละ 21.60 เห็นว่าเพราะคนในชาติไม่ช่วยกันประหยัดพลังงาน ร้อยละ 18.16 เห็นว่าโครงสร้างราคาพลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ) มีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิต หรือราคาตลาดโลก รวมไปถึงการขึ้นภาษีพลังงาน และการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน ร้อยละ 17.60 ระบุว่ารัฐบาลขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดการตรวจสอบความโปร่งใส

ร้อยละ 13.92 ระบุว่า เป็นระบบการผูกขาดทางการค้า การแทรกแซงทางการเมืองในธุรกิจพลังงาน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนหรือพวกพ้อง ผ่านทางการสัมปทานแหล่งพลังงาน การแปรรูป

ร้อยละ 10.40 ระบุว่า การผลิตพลังงานที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 7.76 ระบุว่า เป็นการคัดค้านของชุมชนหรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในการสร้างแหล่งพลังงานใหม่ๆ ร้อยละ 4.24 ระบุว่า เป็นการหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ หรือการใช้พลังงานทางเลือก

ร้อยละ 2.72 ระบุว่า กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน มีความซ้ำซ้อน ไม่ทันสมัย ร้อยละ 0.32 ระบุว่า ทุกข้อที่กล่าวมา และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ขณะที่ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องของพลังงาน

 

จากผลสำรวจนี้ ทำให้เห็นแรงจูงใจของการต่อต้านการผลิตพลังงานเพิ่ม

อย่างที่บอก ไม่ใช่เรื่องของการไม่รับรู้สภาพว่า “ผลิตไม่พอใช้”

แต่เป็นเพราะมีความคิดว่า ที่ไม่พอใช้นั้นเกิดจากสาเหตุอื่น

ถ้าประหยัดกันมากกว่านี้ ถ้ารัฐบริหารจัดการกันมากกว่านี้จะเพียงพอ ถ้าไม่ปล่อยให้เกิดการผูกขาด บริหารอย่างโปร่งใส ไม่ถูกการเมืองแทรกแซง ก็จะได้ใช้พลังงานในราคาถูกลง

คนที่มองว่าปัญหาของพลังงานเกิดจากการคัดค้านของชุมนุม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการสร้างแหล่งพลังงานใหม่นั้น มีเพียงร้อยละ 4.42 เท่านั้น

น่าแปลกก็ตรงที่ หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่พยายามจะให้ข้อมูลในเรื่องความขาดแคลนพลังงานในทำนองว่าเป็นเพราะไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้นั้น ทำกันอย่างจริงจังมายาวนาน

แต่กลับกลายเป็นว่าข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนกลับเป็นของทางฝ่ายต่อต้านการเพิ่มผลิต

คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าพลังงานยังคงพอใช้ หากบริหารจัดการได้ดีพอ

ปัญหาอยู่ที่ระหว่างความเป็นจริงกับความเชื่อเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

ถ้าความเป็นจริงเป็นอีกอย่าง แล้วความเชื่อเป็นอีกแบบ

จะจัดการให้เป็นไปตามความเป็นจริง แทนที่ขยับไปไหนไม่ได้เพราะความเชื่อเป็นอุปสรรคได้อย่างไร

เป็นเรื่องชวนให้ติดตามยิ่ง