จากหน้ากากอนามัย ถึงวิกฤตหมอ รอยร้าว ครม. “พปชร.-พรรคร่วม”

แม้จะมีคำถามว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลถึงข้ามขั้นมาใช้ “ยาแรง” ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งๆ ที่กฎหมายปกติ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือไม่ว่าหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะวิกฤตก็ยังจะมี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นเครื่องมือควบคุมสถานการณ์ได้ ก่อนที่จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่เมื่อโครงสร้างของ “ศอฉ.โควิด-19” ปรากฏก็ถึงบางอ้อ

เพราะไม่เพียงแค่เป็นการจัดการปัญหา “ภายใน” จากความไร้เอกภาพของรัฐบาลที่มีพรรคร่วมถึง 19 พรรคการเมือง

แต่ยังสะท้อนทัศนคติวิธีคิดในการบริหารประเทศของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นอย่างดี

แม้ตามโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น จะมีรัฐมนตรีจากฝ่ายการเมืองถูกตั้งให้มีส่วนร่วม ในฐานะเป็นกรรมการบอร์ดก็จริง

แต่สำหรับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.เซ็ตขึ้นมา มี “บทบาทนำ” ในสถานการณ์ฉุกเฉินคราวนี้

กลับรวมศูนย์อยู่ที่ “ราชการ” เป็นหลัก

เพราะมิใช่รองนายกฯ หรือรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมืองจากพรรคร่วม หรือแม้รัฐมนตรีอันเป็นโควต้าจากมุ้งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็หามีไม่ในสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 แต่กลับเป็นปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่แทน

ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างภายในของ ศบค. ที่มีการตั้ง 10 ศูนย์ย่อยขึ้นมา โดยมีปลัดกระทรวงต่างๆ หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขึ้นเป็นหัวหน้าคุม

ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง, เลขาฯ สมช. คุมสำนักงานประสานงานกลาง, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์, ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุมศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน กับศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน

ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คุมศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คุมศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินเข้า-ออกประเทศ และดูแลคนไทยในต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

เรียกได้ว่าครอบคลุมครบส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ

เบื้องต้นได้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน มาเป็นโฆษก ข้อมูลข่าวสารของรัฐในเรื่องการสาธารณสุขให้เป็นเอกภาพมากขึ้น

ลดโทนขึงขัง แบบจะหวดหมอไม่มี เรื่องไหนไม่รู้ ตอบไม่รู้

จะเห็นได้ว่า ไม่เพียง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเท่านั้นที่ลดซีนของตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน เลี่ยงบทน้ำตา หรือบทขอโทษ จากปากพาสื่อสารพลาดลง

เพราะแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ให้สัมภาษณ์น้อยลงไปเยอะเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นอกจากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งที่ยังเป็น “ตำบลกระสุนตก” ท้าทายสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องมานับตั้งแต่เริ่มวิกฤต กลับเป็นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนของหน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หรือไม่ว่าการขาดแคลนไข่ไก่ในตลาด จนทำให้มีราคาขายปลีกสูงขึ้นซ้ำเติมสถานการณ์วิกฤตอยู่ในขณะนี้

ที่ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่พุ่งใส่เข้าไปหากระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ความรับผิดชอบรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ชื่อจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากเรื่องฟ้องร้องกันของหน่วยงานของรัฐระหว่างกรมการค้าภายในกับโฆษกกรมศุลกากร ในเรื่องจำนวนหน้ากากที่มีการส่งออก เรื่อยมากระทั่งมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 80/2563 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ายนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในความรับผิดชอบของพรรค ปชป. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการปรึกษาใดๆ เพียงแต่แจ้งให้ทราบภายหลัง

จนมาถึงเรื่องอื้อฉาวว่ามีบุคคลของพรรค ปชป.ระดับที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถูกเปิดโปงว่ามีการกักตุนหน้ากากอนามัย กระทั่งเป็นเรื่องที่แม้แต่ภายในพรรค ปชป.ยังตอบโต้กันเอง จึงเป็นที่มาของการสอบสวนภายในพรรค ปชป.เพื่อสงบเรื่องฉาวที่เกิดขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เพียงไม่กี่วัน หลังสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค.ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยระดับชาติ

โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดสรรหน้าการอนามัยไปให้โรงพยาบาลในสังกัด โรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเอกชนทุกระดับให้เพียงพอ

แต่ริบอำนาจกรมการค้าภายใน ในการบริหารหน้ากากอนามัยทั้งหมดไปให้กระทรวงมหาดไทย นำไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ดุลพินิจว่าจะกระจายหน้ากากไปยังร้านค้าอย่างไร

อาการแคลงใจนี้ ร้าวลึกแน่นอนของ 2 พรรคใหญ่

ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

หากจำกันได้ เมื่อครั้งที่ไลน์ ส.ส.พรรค ปชป.เดือด เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้จาก ส.ส.เสียงข้างน้อยที่ต้องการถอนตัวจากรัฐบาลว่า ให้ระวังไว้ สักวันพรรคจะถูกผลักให้เป็น “พรรคมาร” ในเรื่องปัญหาหน้ากากอนามัย

แน่นอน ความรู้สึกของ ส.ส.พรรค ปชป.เรื่องนี้ยังคงอยู่

เพราะเรื่องอื้อฉาวกรณีหน้ากากอนามัยของทางฝั่งพรรค พปชร. ที่ครึกโคมยิ่งกว่า แต่เรื่องกลับเงียบหายไปกับสายลม ระหว่างการกักตัวเอง 14 วัน เฝ้าระวังจากไวรัสโควิด-19 หลังเพจดังออกมาแฉ

นั่นคือ กรณีคนใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดร่วมกักตุนหน้ากากไปค้ากำไร

แน่นอน รอยร้าวนี้อาจส่งผลกระเทือนถึงสถานะของรัฐบาลเป็นแน่

แม้ในระยะนี้ที่สถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอยร้าวนี้อาจยังไม่ถึงเวลาปะทุ แต่พลันที่ฤดูแห่งการปรับ ครม.หลังสถานการณ์โควิด-19 มาเมื่อใด เมื่อนั้นคงได้เห็นความร้อนแรง

เป็นความร้อนแรงที่มีเรื่องหน้ากากอนามัยเป็นหัวเชื้อสำคัญ

ประสานกับตัวประกันอันเกิดจากผลคะแนนภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา

โดยเฉพาะ 24 ต่อ 17 เสียง ส.ส.พรรค ปชป.ที่มีต่อ ร.อ.ธรรมนัสในเรื่องฉาวต่างๆ ที่ปะทุขึ้นเมื่อไหร่ก็สะเทือนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกครั้งไป